ศาลปกครองสูงสุด สั่งรัฐจ่ายค่าโง่ โฮปเวลล์ 1.2 หมื่นล้านบาท

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.04.22
กรุงเทพฯ
190422-TH-hopewell-1000.jpg ประชาชนรอรถไฟที่คู่ขนานกับถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งมีเสาโครงการรถไฟยกระดับโฮปเวลล์ ตั้งตะหง่านอยู่เบื้องหลัง วันที่ 22 เมษายน 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันนี้ ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินยกคำพิพากษาศาลปกครองกลาง และมีคำสั่งให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ชำระเงินชดเชยจำนวนเกือบ 1.2 หมื่นล้านบาท ให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน เนื่องมาจากเพราะการยกเลิกสัญญาโครงการ เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน

โครงการโฮปเวลล์ หรือ ถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2533 โดยบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้นายกอร์ดอน วู ประธานบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกง เป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงินลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ไม่มีการระบุกำหนดเสร็จสิ้นโครงการที่ชัดเจน และรัฐบาลไทยไม่สามารถบอกยกเลิกสัญญาก่อนได้

แต่โครงการดังกล่าว มีปัญหาเรื่องการส่งมอบที่ดิน เศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาอื่น จนถึงปี 2540 รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติยกเลิกโครงการ และมีการฟ้องร้องซึ่งกันและกัน ผ่านคณะอนุญาโตตุลาการ และศาลปกครองกลาง จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำตัดสินเด็ดขาด ในวันนี้

“พฤติการณ์ของผู้ร้องทั้งสอง (การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม) มีเจตนาจะเลิกสัญญากับผู้คัดค้าน (โฮปเวลล์) อันถือได้ว่าเป็นคำเสนอขอเลิกสัญญา และการที่ผู้คัดค้านยืนยันปฏิบัติตาม จนถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของผู้ร้องทั้งสอง สัญญาสัมปทานย่อมเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาจำต้องให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และวินิจฉัยให้ผู้ร้อง คืนเงินค่าตอบแทนที่ผู้คัดค้านชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสองจำนวน 2,850 ล้านบาท คืนหนังสือค้ำประกัน คืนค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 38,749,800 บาท เงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น” ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยระบุ

“ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำชี้ขาดให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด” คำพิพากษาระบุ

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า การรถไฟฯ คงต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด แต่รัฐบาลควรต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าชดเชยดังกล่าวด้วย ไม่ควรให้การรถไฟฯ รับผิดชอบฝ่ายเดียว ส่วนจะมีการจ่ายแบบไหน จ่ายอย่างไร และจะมีการประณีประนอมอย่างไรต้องไปพิจารณากันต่อไป

“การรถไฟฯ ไม่มีเงิน เก็บค่าโดยสารราคาถูก และมีภาระขาดทุน ถ้าต้องรับผิดชอบอีกหมื่นกว่าล้านบาท ก็คงลำบาก” นายสาวิทย์ ระบุ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องคงจะได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนั้น มีระยะเวลากำหนดไว้อยู่แล้ว เว้นแต่จะมีการเจรจาเกิดขึ้นเหมือนหลายกรณีที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการชดใช้เงิน อาจจะน้อยกว่าที่ศาลพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่หากคู่กรณีไม่เจรจาเลยคงไม่สามารถไปบังคับคุ่กรณีได้

“ผมยังไม่เห็นคำพิพากษา ชนะหรือแพ้นั้นคือผล แต่จะถึงขั้นต้องจ่ายเงินกันหรือไม่ ต้องไปถามทางโฮปเวลล์ว่าต้องการอะไร” นายวิษณุ กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ขอรอฟังคำพิพากษาก่อน เนื่องจากตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว และเขายังเจรจากันอยู่

มหากาพย์โครงการโฮปเวลล์

ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาลได้เปิดประมูลโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล หรือ โฮปเวลล์ ซึ่ง บ.โฮปเวลล์ เป็นผู้ชนะ และเซ็นสัญญาสัมปทาน เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 33 และสัญญามีอายุนาน 30 ปี

แต่โครงการดำเนินไปอย่างล่าช้า ซึ่ง บ.โฮปเวลล์ อ้างว่า เป็นเพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง และเป็นช่วงที่ บริษัทฯ มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้โครงการชะลอตัวและยุติไป ขณะที่รัฐบาลไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่กล้าบอกเลิกสัญญา เนื่องจากกลัวว่าจะถูกบริษัทฯ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จนกระทั่งมติคณะรัฐมนตรีในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ให้ยกเลิกสัญญาสัมปทาน และได้บอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการในสมัยนายชวน หลีกภัย รวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 7 ปี แต่มีความคืบหน้าเพียง 13.7 เปอร์เซ็นต์

โฮปเวลล์ จึงเดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นจำนวนเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท ส่วนการรถไฟฯ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสใช้ประโยชน์จากโครงการฯ เป็นเวลา 2 แสนล้านบาท

ต่อมา คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟคืนเงินชดเชยให้บริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จึงขอให้ศาลปกครองกลาง เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายกรณีบอกเลิกสัญญา

บ. โฮปเวลล์ จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครอง ต่อศาลปกครองสูงสุด จนมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จ่ายเงินคืนค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นกับบริษัทฯ ดังกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง