นักสิทธิฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศ กกต. ชี้จำกัดเสรีภาพ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.07.06
กรุงเทพฯ
TH-referendum-1000 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร (ซ้ายมือ) กรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงเรื่องการประชามติร่างรัฐธรรมนูญต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ในวันที่ 30 มิถุนายน 2559
(นนทรัฐ/เบนาร์นิวส์)

ในวันพุธ (6 กรกฎาคม 2559) นี้ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกลุ่มนักศึกษาในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้เดินทางไปที่ศาลปกครอง กรุงเทพฯ เพื่อฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 โดยชี้ว่า ประกาศดังกล่าว ขัดต่อหลักประชาธิปไตย หลักกฎหมายภายใน และพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งยัง เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การฟ้องศาลปกครองครั้งนี้ เพื่อขออำนาจศาลให้มีคำสั่งยกเลิกประกาศ กกต. ที่เป็นการจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

“ในประกาศนั้น มีทั้งส่วนที่เลียนแบบมาจากมาตรา 61 วรรค 2 (ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559) และมีบางส่วนที่ กกต. กำหนดขึ้นเพิ่มเติม ซึ่งไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย เช่น ห้ามจำหน่ายเสื้อรณรงค์ หรือห้ามจัดการคุย-สัมมนาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ยกเว้นมีหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันการศึกษามาร่วมด้วย” นายจอน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

“เรายอมรับคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรา 61 วรรค 2 แต่ขณะเดียวกันเรายืนยันว่า มาตรา 61 วรรค 2 และประกาศของ กกต.มีลักษณะที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ” นายจอน กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้พิจารณาคำร้องของทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วเห็นว่ามาตราดังกล่าว ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ว่าขัดรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 หรือไม่ ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หลังจากที่สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำร้องจากนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLAW)

ต่อมาในวันที่ 29 มิถุนายน 2559 องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพิจารณา และลงมติในคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งมาให้พิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 4 หรือไม่ ซึ่งมติระบุว่า มาตรา 61 วรรคสองไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

นายจอนกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทางกลุ่มผู้เคลื่อนไหวขอให้ศาลสั่งปิดรายการโทรทัศน์ "7 สิงหาประชารวมใจ" ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะเราเห็นว่าการนำเสนอในรายการเหล่านั้น ยังไม่เป็นกลาง คือ แนวโน้มเป็นการนำเสนอในลักษณะที่พูดถึงด้านบวกของร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่พูดถึงด้านลบ

“การให้เสรีภาพแสดงความคิดเห็น และนำเสนอข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากประชาชนทั่วไปไม่ได้รับข้อมูลในหลายมุมมองก็เป็นการยากที่จะตัดสินใจออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศ” นายจอน กล่าวทิ้งท้าย

กลุ่มผู้ฟ้องเห็นว่าประกาศดังกล่าวขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 มาตรา 4, พ.ร.บ.ประชามติฯ ปี 2559 มาตรา 7 และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR) มาตรา 19

กกต. ชี้แจง

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงการฟ้องศาลปกครองของกลุ่มนักสิทธิ นักวิชาการ และนักศึกษาให้ยกเลิกประกาศ กกต.ว่า กกต. พร้อมที่จะยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองไม่ว่าผลการตัดสินจะเป็นเช่นไร และเรียกร้องให้กลุ่มผู้ฟ้องยอมรับคำตัดสินด้วยเช่นกัน

“กกต. เราน้อมรับคำพิพากษาทุกกรณี ถ้าบอกว่าผิดพร้อมถอนประกาศฉบับดังกล่าว แต่ถ้าศาลปกครองมีคำพิพากษาออกมาทางใดทางหนึ่ง iLaw จะยอมรับคำพิพากษาหรือไม่ หรือยังจะตีรวนเหมือนตอนที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” นายสมชัยกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันนี้

“แล้วเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสองไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็บอกว่าวินิจฉัยไม่เป็นธรรม หรือว่าศาลทุกศาลต้องตีความตามใจ iLaw จนไม่ต้องน้อมรับคำตัดสินอื่นในสังคม” นายสมชัย ย้อนถาม

นายสมชัยยังระบุว่า กลุ่มผู้ฟ้องมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประกาศ กกต. และเนื้อหาของรายการ 7 สิงหาประชารวมใจ โดยชี้ว่าประกาศ กกต.ข้อ 5 (5) ที่กำหนดว่าการชักชวนให้ใส่เสื้อ ติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง และการขาย หรือแจก ถือเป็นข้อห้ามนั้น ในรายละเอียดได้ระบุไว้ว่า การกระทำนั้นๆ จะมีความผิดต่อเมื่อมีเจตนาปลุกระดมทางการเมือง

และรายการ 7 สิงหาประชารวมใจ มีความเปิดกว้างและเป็นกลางโดยการออกอากาศ 13 ครั้ง จะมีเนื้อหาในส่วนของ กกต. 2 ครั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) - กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รวมกัน 5 ครั้ง และที่เหลือ 6 ครั้ง จะเป็นการเปิดโอกาสให้นำเสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยให้แต่ละสถานีโทรทัศน์เชิญวิทยากรจากผู้มีความคิดเห็นสองฝ่ายมาร่วมรายการ ซึ่ง กกต. จะไม่เข้าไปแทรกแซง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง