ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งมาตรา 61 พ.ร.บ. ประชามติฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.06.01
กรุงเทพฯ
TH-ballot-1000 คณะกรรมการการเลือกตั้งแสดงตัวอย่างใบลงคะแนน สำหรับประชามติรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น ที่กรุงเทพฯ 11 เมษายน 2559
เอเอฟพี

ในวันพุธ (1 มิ.ย. 2559) นี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ว่าขัดรัฐธรรมนูญ 2557 (ฉบับชั่วคราว) หรือไม่ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หลังจากที่สำนักผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำร้องจากนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLAW)

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประชามติฯ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงจะมีการเสนอเรื่อง พร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยภายในสัปดาห์นี้

โดยความเห็นของผู้ตรวจฯ มองว่า มาตรา 61 วรรคสองที่บัญญัติว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น ในทางปฏิบัติก็จะมีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ประชาชนอาจจะสับสน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขัดต่อเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ และอาจมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าว จนอาจนำไปสู่การดำเนินการกับประชาชน

"ถึงแม้สุดท้ายแล้ว ศาลจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย แต่ระหว่างที่ถูกดำเนินการ ก็ต้องถือว่าประชาชนได้รับผลกระทบไปแล้ว ซึ่งโทษตามกฎหมายดังกล่าวเป็นโทษทางอาญา การดำเนินการทางคดีอาญา ผู้ตรวจก็เห็นว่าจะต้องมีความชัดเจน หากไม่ชัดเจนก็จะขัดต่อหลักการพิจารณาคดีทางอาญา และที่สุดการออกเสียงประชามติครั้งนี้ อาจจะเกิดความวุ่นวายมากกว่าความสงบเรียบร้อย" นายรักษเกชากล่าว

นายรักษเกชา กล่าวว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่า มาตรา 61 วรรคสอง ว่าขัดรัฐธรรมนูญ 2557 (ฉบับชั่วคราว) ความดังกล่าวจะตกไป และตนเชื่อว่าจะไม่มีกลุ่มใดๆ สร้างความวุ่นวายทางการเมือง

การเลิก พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง คืนสิทธิการแสดงความเห็นให้ประชาชน

ในวันเดียวกัน นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า เหตุผลที่ต้องร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 61 วรรคสองในพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ว่าขัดรัฐธรรมนูญ 2557 (ฉบับชั่วคราว) หรือไม่ เพราะกฎหมายมาตราดังกล่าว มีเนื้อหาที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและรับรู้ข้อมูลของประชาชนเรื่องการทำประชามติฯ

“มาตรา 61 วรรค 2 มีคำ มีข้อห้ามที่กำกวม ที่ตีความได้กว้างไม่ชัดเจน แล้วทำให้ประชาชนสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิด ถ้าแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และโทษนั้นเป็นโทษอาญาที่รุนแรง คือโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี... คาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเร่งด่วน ถ้าศาลฯ วินิจฉัยว่าไม่ขัด มาตรานั้นก็จะยังอยู่ ประชาชนก็จะไม่กล้าแสดงความเห็น ไม่กล้ารณรงค์ มันจะทำให้ฝ่ายรัฐเป็นผู้หาเสียงฝ่ายเดียว” นายจอนกล่าว

“ประชาชนควรจะต้องมีสิทธิได้รับฟังความเห็นทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะว่าการลงประชามติครั้งนี้สำคัญมาก เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนแบบที่แทบจะแก้ไม่ได้ในอนาคต ประชาชนจึงต้องตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอา ถ้าเอาเนี่ยการที่คาดหวังว่า จุดบกพร่อง หรือสิ่งที่ไม่ดีในรัฐธรรมนูญจะไปแก้ทีหลังนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก” นายจอน กล่าวเพิ่มเติม

“เพราะฉะนั้นประชาชนควรจะคิดเรื่องนี้ให้รอบคอบ ควรจะได้รับข้อมูลเพียงพอ ได้รับฟังความเห็นของคนอื่น ผลของการลงประชามตินี้ จะค่อนข้างกำหนดอนาคตการเมืองของประเทศไทย”

การร้องเรียนการหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายประชามติร่าง รธน.

นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า มีการร้องเรียนเรื่องการทำผิดมาตรา 16 ผ่านแอปพลิเคชันตาสัปปะรด 2 ราย โดยร้องเรียนว่า นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สวมเสื้อที่มีข้อความ “รับและไม่รับ” ซึ่งผู้แจ้งเบาะแสเชื่อว่า เป็นการแสดงออกในลักษณะชี้นำ สำหรับกรณีนี้ กกต. กลางจะได้ส่งเรื่องไปยัง กกต.กรุงเทพฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้ทำการตรวจสอบว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดหรือไม่ในอนาคต

พีเพิลโพล เผยผู้ตอบแบบสอบถาม 84 เปอร์เซนต์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

โครงการพีเพิลโพล (PeoplePoll Thailand) ซึ่งดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน PeoplePoll บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนระหว่างวันที่ 15 พ.ค. 2559 ถึง วันที่ 31 พ.ค. 2559 เกี่ยวกับการตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จากผู้ตอบแบบสำรวจ 2,095 คน พบว่า มีคนตอบว่าจะไปลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง 84.4% (1769 คน) ขณะที่คนตอบว่าจะไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญมีเพียง 7.6% (159 คน) โดยมีคนตอบว่า ยังไม่แน่ใจ / ยังไม่ตัดสินใจ 6.0% (125 คน) และ ไม่ไปใช้สิทธิ / ไม่แสดงความเห็น 2.0% (42 คน)

ทั้งนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวต่อสื่อมวลชนถึงกรณีการทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของสถาบันการศึกษาว่า การทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน หรือการทำโพลเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และหากดำเนินตามกฎหมาย ก็ไม่ถือว่าเป็นการชี้นำ เพราะอยู่บนหลักวิชาการ

อย่างไรก็ตาม สื่อยังสามารถนำเสนอผลสำรวจดังกล่าวได้เช่นกัน แต่ห้ามเผยแพร่ในช่วง 7 วัน ก่อนวันออกเสียงประชามติจริง 7 สิงหาคม 2559

นายกรัฐมนตรีจะอยู่ในอำนาจต่อ หากประเทศไม่มีความสงบ

ในวันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมประเทศสมาชิกกลุ่ม จี-77 ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีทหารเพื่อคอยขับเคลื่อน และช่วยเหลือประชาชน ตนเองไม่ต้องการอำนาจ แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่มีความสงบ ก็จำเป็นต้องอยู่ในอำนาจต่อไป

"รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อยากให้ทุกประเทศอยู่กับเราด้วย เป็นยุทธศาสตร์ของจี-77 20 ปี แต่ปีหน้าผมไม่อยู่แล้ว จะอยู่ถึงหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ไม่ต้องกลัว ผมไม่ไปไหนอยู่แล้ว ถ้าตราบใดยังไม่สงบ... จึงบอกอย่างนี้ว่า ถ้าไม่สงบ ไม่เรียบร้อยผมก็ไม่ไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวไว้ในหลายโอกาสว่า จะพยายามให้มีการเลือกตั้งในประมาณกลางปี 2560 ตามที่กำหนดไว้ตามโรดแมปคืนสู่ประชาธิปไตย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง