กระทรวงการต่างประเทศพัฒนาระบบคัดกรองผู้หนีภัย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.06.20
กรุงเทพฯ
180620-TH-refugees-1000.jpg ผู้ลี้ภัยการสู้รบ กำลังเล่นตะกร้อในสถานที่พักพิงชั่วคราวอุ้มเปี้ยม ในจังหวัดตาก วันที่ 26 มีนาคม 2552
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศ กำลังเร่งพัฒนาระบบคัดกรองผู้หนีภัย เพื่อรับรองสถานะให้เป็นผู้ลี้ภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับประชาชนคนหนึ่ง และอาจเป็นการเปิดโอกาสให้ทำงานได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังได้สร้างระบบช่วยเหลือเด็กที่หลบหนีมากับพ่อแม่ให้ไม่ถูกควบคุมตัวในห้องกักรวมกับพ่อแม่

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวในงานวันผู้ลี้ภัยโลก 2561 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันอังคารนี้ว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยไม่ใช่ปัญหาไกลตัวที่เกิดขึ้นในประเทศซีเรีย หรือตะวันออกกลางเพียงอย่างเดียว แต่ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยรองรับผู้หนีภัยจากกลุ่มประเทศอินโดจีน และจากเมียนมา ซึ่งผู้ลี้ภัยจากเมียนมาจำนวนนับแสนคน ยังตกค้างอยู่ในสถานพักพิงผู้ลี้ภัยจากการสู้รบทั้ง 9 แห่ง

โดย นางกาญจนา ระบุด้วยว่า ยังมีกลุ่มผู้ลี้ภัยในเมือง หรือ Urban Refugees ทั้งหมดประมาณ 6,000 คน ซึ่ง UNHCR รับรองสถานะให้เป็นผู้ลี้ภัยแล้วจำนวน 4,000 คน ส่วนที่เหลือเป็นคนที่อยู่ระหว่างแสวงหาที่พักพิง ซึ่ง ยูเอ็นเอชซีอาร์ กำลังดำเนินการคัดกรองว่าเห็นผู้ลี้ภัยจริงหรือไม่ ทั้งนี้ บุคคลที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยมีสองจำพวก คือ กลุ่มที่หลบหนีการประหัตประหาร และกลุ่มที่เข้าเมืองด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

“ประเทศไทยกำลังจัดทำระบบคัดกรองอยู่ ยังไม่ได้มีระบบคัดกรองของตัวเอง คนเหล่านี้ โดยกฏหมายไทยยังถือว่า เป็นคนที่หลบหนีเข้าเมืองอยู่ จะมีอยู่ในที่ต่างๆ ตามชุมชน หรือมีคนที่ถูกกักอยู่ในห้องกักของตรวจคนเข้าเมือง” นางกาญจนากล่าว

“ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยทำงาน แต่ละประเทศก็จะมีนโยบายที่แตกต่างกันไป ถ้าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายก็จะทำงานไม่ได้ แต่ในอนาคตถ้าเรามีระบบคัดกรองของเราเอง และสามารถรับรองสถานะผู้ลี้ภัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีโอกาสเป็นไปได้” นางกาญจนากล่าวเพิ่มเติม

ปัจจุบัน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ประชากรไทยมีงานทำ 37.34 ล้านคน  มีอัตราว่างงาน 4.4 แสนคน คิดเป็น 1.2 เปอร์เซ็นต์ของคนในวัยทำงาน มีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนกับทางการอย่างถูกต้อง 2.06 ล้านคน

นางกาญจนา กล่าวว่า ประเทศไทย ไม่ได้ให้การยอมรับสถานะของผู้ลี้ภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่ได้ลงนามใน อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494  โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้อพยพในเมือง ยังถือเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่โดยทางปฏิบัติ สำนักงาน UNHCR ในกรุงเทพ จะเป็นผู้รับรองสถานะผู้ลี้ภัย แล้วดำเนินการคัดกรองเพื่อส่งตัวไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ซึ่งในระหว่างนี้เจ้าหน้าที่จะผ่อนผันไม่จับกุม

“ในเคสผู้อพยพในเมือง เป็นสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ด้วยระบบคัดกรอง ซึ่งต่อไปเราสามารถทำเองได้ ไม่ต้องไปรอยูเอ็นเอชซีอาร์ ซึ่งจะทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายมากขึ้น และให้การยอมรับอย่างถูกต้อง ซึ่งหากถ้าเราไม่คัดเองและเราคิดว่าให้ยูเอ็นเอชซีอาร์คัดกรองต่อไป ก็ต้องพิจารณาว่าจะทำยังไงให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้รับรองเสีย จะได้เป็นระบบ” นางกาญจนา กล่าว

ผู้ลี้ภัยจากประเทศในยุโรปตะวันออกหนึ่งราย กล่าวว่า ตนเองเดินทางมายังประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2556 จนกระทั่งพาสปอร์ตหมดอายุ โดยไม่ได้บอกสาเหตุการเดินทาง แต่ให้เหตุผลที่เดินทางมาเมืองไทยว่า เป็นเพราะสังคมไทยยอมรับบุคคลข้ามเพศเช่นตนเอง และตนเองได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเรียบร้อยแล้ว เมื่อปี 2559 กำลังรอการตัดสินของประเทศที่สามว่าจะรับตนไปตั้งรกรากที่นั่นหรือไม่

“หลังจากได้สถานะผู้ลี้ภัย ฉันคิดว่าจะสามารถทำงานเพื่อจ่ายค่าเช่าห้องและซื้อหาอาหารได้ แต่ไม่สามารถทำได้ แม้จะมีบัตรแต่ไม่มีวีซ่า ฉันต้องสวดมนต์ภาวณาว่าอย่าให้ถูกจับ ฉันอยากให้ผู้ลี้ภัยทำงานได้ ฉันคิดว่าฉันช่วยประเทศไทยได้ด้วยความรู้และทักษะที่ฉันมี” ผู้ลี้ภัยที่ใช้ชื่อเล่นว่าแองเจิล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ระบบการดูแลเด็กที่เดินทางมาพร้อมพ่อแม่

นางกาญจนา กล่าวอีกว่า ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการดูแลเด็กที่เดินทางมาพร้อมกับบิดามารดา โดยไม่ต้องถูกกักขังรวมกับพ่อแม่

“ปัญหาที่สำคัญที่รัฐบาลไทยกำลังทำอยู่ คือ เรื่องเด็ก โดยกฎหมายแล้วและหลักมนุษยชนทั้งปวง ไม่ควรจะถูกกักอยู่ในห้องกักของตรวจคนเข้าเมือง แต่จะมีกรณีที่เด็กมากับพ่อแม่และอาจจะขอให้ลูกอยู่กับพวกเขา กรณีของไทย ถ้าเป็นเด็กไม่มีผู้ปกครองจะถูกนำไปอยู่ในศูนย์ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ แต่มันมีกรณีที่พ่อแม่ขอให้ลูกอยู่ด้วยกันในห้องกัก” นางกาญจนา กล่าวเพิ่มเติม

“เมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว ได้ไปเยี่ยมห้องกักแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด พบเด็กสี่ขวบอยู่ในห้องกักกับพ่อแม่ สิ่งที่พยายามทำกันอยู่ในขณะนี้ คือ พยายามเอาพ่อแม่ลูกออกมาอยู่ข้างนอก และจะให้มีองค์กรที่จะมารองรับประกันตัวให้ออกมาอยู่ข้างนอกได้” นางกาญจนากล่าว

เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 2561 ยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มโลก (Global Trends) แสดงถึงจำนวนผู้พลัดถิ่นเมื่อสิ้นปี พ.ศ.2560 ว่าสูงถึง 68.5 ล้านคน ประกอบด้วย 16.2 ล้านคน ที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในปี พ.ศ.2560 จากการพลัดถิ่นเป็นครั้งแรก หรือซ้ำหลายครั้งก็ตาม แสดงว่าปริมาณของผู้คนที่ต้องย้ายถิ่นมีจำนวนมหาศาล เทียบเท่ากับผู้ต้องพลัดถิ่น 44,500 คน ต่อวัน หรือ ทุก 2 วินาทีจะมีคน 1 คน กลายเป็นผู้พลัดถิ่น

ผู้ลี้ภัย ที่ต้องหนีจากประเทศตนเองเพราะความขัดแย้ง และการประหัตประหาร ถือเป็นจำนวน 25.4 ล้าน จาก 68.5 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าปี พ.ศ. 2559 ถึง 2.9 ล้านคน ถือเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดที่ UNHCR เคยพบในรอบ 1 ปี ส่วนผู้ขอลี้ภัย คือ ผู้ที่รอผลการสมัครเพื่อได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัย ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2560 เพิ่มสูงขึ้น 300,000 คน เป็นจำนวนทั้งหมด 3.1 ล้านคน สำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมีจำนวน 40 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจาก 40.3 ล้านคน ในปีพ.ศ. 2560

โดยสรุป โลกรองรับผู้พลัดถิ่นในปีพ.ศ. 2560 เทียบเท่าประชากรของประเทศไทย โดยเฉลี่ยสำหรับทุกประเทศในโลก 1 ใน 110 คน คือ ผู้พลัดถิ่น

“วิกฤตผู้ลี้ภัยในตอนนี้ อาจจะนำมาซึ่งความแตกแยก เรื่องหนึ่งคือความไม่พร้อม และสองคือเรื่องของสถานะทางเศรษฐกิจ ที่ไม่พร้อม นำมาสู่ความแตกแยกระหว่างคนในประเทศกับคนที่เข้ามา ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็คิดถึงแต่ตัวเอง มองว่าพวกเขาจะเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจที่วิกฤตอยู่แล้วนี้อย่างไร” ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง