กรมคุ้มครองสิทธิฯ กรมพระธรรมนูญ ทำเอ็มโอยูร่วมอบรมสิทธิเสรีภาพ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
2020.03.10
กรุงเทพฯ และ ปัตตานี
200310-TH-right-military-1000.jpg ญาติๆ และเพื่อนบ้านนำศพนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไปฝังที่กุโบร์บ้านเจาะกีแย ม.3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วันที่ 25 สิงหาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยกรมพระธรรมนูญ เพื่อมุ่งสร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน โดยจะมีการจัดอบรมนายทหารพระธรรมนูญ และกำลังพลที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความเข้าใจด้านสิทธิและเสรีภาพ

นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ลงนามร่วมกับ พลเอกประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ ที่ห้องประชุมไชยานุกิจ ชั้น 3 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อว่า การลงนามครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต

จดหมายข่าว กระทรวงยุติธรรม ระบุกรอบความร่วมมือไว้ดังนี้ว่า

“1. แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร สื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับนายทหารเหล่าทหารพระธรรมนูญ และกำลังพลทหารที่เกี่ยวข้อง 2. เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสารสนเทศในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชน 3. ร่วมจัดฝึกอบรม และเป็นวิทยากรตามหลักสูตรและคู่มือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ (นายทหารเหล่าทหารพระธรรมนูญและกำลังพลที่เกี่ยวข้อง) 4. ร่วมมือทางด้านวิชาการ พัฒนาหลักสูตรและคู่มือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ 5. ร่วมมือกันติดตามและประเมินผล การรายงานผล และข้อเสนอแนะ เพื่อส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชน”

ทั้งนี้ การลงนามครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้หารือกับกรมพระธรรมนูญ โดยกองกฤษฎีการทหารและการต่างประเทศ เกี่ยวกับการยกร่างหลักสูตรส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน สำหรับนายทหารเหล่าทหารพระธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 และการพิจารณาหลักสูตรและคู่มืออบรม เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นายทหารเหล่าทหารพระธรรมนูญ และกำลังพลที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ผ่านการอบรมสามารถเป็นวิทยากรขยายผลให้กับกำลังพลที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ และการให้บริการประชาชนโดยเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้เกิดความร่วมมือการทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงกำหนดให้มีการจัดพิธีลงนามความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายทหารมีการดำเนินคดีกับพลเรือนหลายคดี โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ คสช. ยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน, มีคนถูกจับกุมอย่างน้อย 625 คน, มีคนถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 อย่างน้อย 98 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 119 คน, มีคนถูกตั้งข้อหา "ชุมนุมเกินห้าคน" อย่างน้อย 421 คน และพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน โดยเป็นสถิติจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2562

โดยถึงแม้ว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในขณะนั้น จะได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ให้โอนคดีที่อยู่ในศาลทหารไปยังศาลพลเรือน และ คสช. ได้สิ้นสถานะไปตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 แต่กองทัพยังคงให้เจ้าหน้าที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพลเรือน

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร อ.ชลิตา บัณฑุวงศ์ และพวกรวม 12 คน ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันยุยงปลุกปั่น ด้วยวาจา ในเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเป็นการยุยงปลุกปั่นที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการร่วมเสวนารณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จังหวัดปัตตานี

ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ที่ถูก พล.ต.บุรินทร์ แจ้งความดำเนินคดีเมื่อเดือนตุลาคม 2562 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า ปัจจุบัน คดียังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน และผู้ถูกกล่าวหาทุกคนไม่เคยได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนตนเองนั้นไม่เชื่อว่าการทำข้อตกลงดังกล่าว จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หรือลดการฟ้องร้องโดยทหารต่อประชาชน

“โครงการดังกล่าว ยังไม่เห็นรายละเอียด แต่น่าจะเป็นกระบวนการเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของพวกเขามากกว่า มากกว่าจะมาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะที่ผ่านมาทหารทั้งนั้นเลยที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลเผด็จการ ไม่คิดว่าโครงการจะเป็นผลดีที่จริงจังอะไรกับประชาชน จริง ๆ ศาลทหาร ควรจะยุบไปด้วยซ้ำ เพราะทหารทำผิดก็ควรถูกขึ้นศาลพลเรือน เหมือนกับประชาชน ก็มีแต่ทหารนี่แหละที่มีศาลของตัวเอง” อ.ชลิตา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า การทำเอ็มโอยูครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ดี

“การทำ MOU ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยทำให้เจ้าหน้าที่รัฐได้รู้ในหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต้องรู้จากเหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัด ช่วงแรกๆ เราไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย เพราะไม่มีในหลักสูตรการเรียนของกองทัพ แต่พอเรามีบทเรียนจากสถานการณ์ในพื้นที่ขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้เรามีประสบการณ์เพิ่มขึ้น และจากการทำงานร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชน ทำให้เราได้รู้ถึงแนวทางการปฏิบัติ” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า การที่ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ฟ้องร้องนักสิทธิต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น หากทุกคนทำงานอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจซึ่งกันและกัน

“คือ เรามองว่าพวกคุณไม่มีความจริงใจ ทั้ง ๆ ที่เราก็พยายามร่วมกันเข้าไปตรวจสอบในแต่ละเรื่องที่มีปัญหา แต่สิ่งที่เราพบคือ มีการนำประเด็นการละเมิดสิทธิมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นวิธีการต่อสู้ตามคำแนะนำของทนาย และมีนักสิทธิบางคนนำประเด็นเหล่านี้มาเผยแพร่ ว่ามีการซ้อมทรมาน อยากให้นักสิทธิมนุษยชนเข้าใจการบังคับใช้กฎหมาย อย่าลืมว่ากลุ่มคนร้ายเขามีอาวุธ เขาใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้น การเข้าไปควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือคนร้ายของเจ้าหน้าที่ เราไม่สามารถที่จะเข้าควบคุมตัวเหมือนกับคนร้ายทั่วไปได้” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า โครงการอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่รัฐให้รู้ถึงหลักสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องอบรมหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจจริง ๆ

“หากเป็นไปได้ควรจะเชิญคนที่ทำงานในเรื่องนี้โดยตรง มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เจ้าหน้าที่ของรัฐ และคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า อะไรคือการละเมิดสิทธิ อะไรทำได้ ทำไม่ได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าใจในเรื่องนี้ก่อน”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง