องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องที่ประชุมอาเซียนช่วยชาวโรฮิงญา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.06.19
กรุงเทพฯ
190619-TH-asean-summit18-800.jpg พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอบรับประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานของการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องในปีถัดไป ภาพเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ในสิงคโปร์
เอพี

ก่อนหน้าที่การประชุมอาเซียนซัมมิทจะเริ่มต้นขึ้นในกรุงเทพ ในวันศุกร์นี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน ได้เรียกร้องให้ประเทศเมียนมาสร้างความปลอดภัย ในพื้นที่รัฐยะไข่ และรับประกันว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา ที่จะถูกส่งจากค่ายผู้อพยพบังกลาเทศกลับไปยังรัฐยะไข่ ในประเทศเมียนมา หลังจากที่หลบหนีการถูกกวาดล้างด้วยอาวุธ โดยทหารเมียนมา เมื่อเดือนสิงหาคม 2560

ชาวโรฮิงญา ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่มาหลายร้อยปี เป็นบุคคลไร้สัญชาติ เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากเมียนมา ทั้งยังกลายเป็นผู้อพยพอีกด้วย เมื่อต้องหนีไปยังประเทศบังกลาเทศ จากมีการปะทะด้วยอาวุธกับชาวยะไข่ที่เป็นชาติพันธุ์หนึ่งของเมียนมา และยังถูกทหารเมียนมากวาดล้าง โดยส่วนใหญ่ได้อพยพไปอยู่ที่ค่ายพักพิงที่ค็อกซ์ บาซาร์  แต่ชาวโรฮิงญาบางส่วน ได้หลบหนีมายังประเทศอื่นๆ เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อีกด้วย

ในวันนี้ องค์กรสมาชิกสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights - APHR) องค์กรฟอรั่ม-เอเชีย (The Asian Forum for Human Rights and Development - FORUM-ASIA) และ กลุ่ม Progressive Voice ได้ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน ยุติการปิดตาข้างหนึ่งต่อปัญหาการทำลายล้างชาวโรฮิงญา โดยระบุว่า จากข้อมูลการประเมินสิ่งที่จำเป็นในรัฐยะไข่โดยหน่วยงานของอาเซียน ไม่ได้พูดถึงเรื่องการใช้กำลังทหารก่อความรุนแรง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาที่มีอย่างต่อเนื่อง

“อาเซียนต้องเลิกปิดตาข้างเดียวต่อความป่าเถื่อนของทหารเมียนมาต่อชาวโรฮิงญา และทิ้งภาระไปที่กระบวนการอพยพกลับ เราทุกคนทราบดีว่า ชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศไม่ต้องการกลับบ้านโดยสมัครใจ จนกว่าสถานการณ์ในยะไข่จะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นมาก” อีวา สุนทรี สมาชิกรัฐสภาอินโดนีเซีย และ กรรมการ องค์กรสมาชิกสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวในแถลงการณ์

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นี้ รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับชาวโรฮิงญา ที่ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในยามมีภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management – AHA Centre) และทีมปฏิบัติการและประเมินผลฉุกเฉิน (Emergency Response and Assessment Team - ASEAN-ERAT) ของศูนย์ประสานงานอาเซียนฯ ได้รั่วไหลถึงมือสื่อมวลชน  ซึ่งร่างรายงานการประเมิน ฯ ไม่ได้ระบุถึงรากเหง้าของปัญหาว่า ทำไมชาวโรฮิงญานับแสนคนถูกไล่ออกจากบ้าน ความโหดร้ายของกองกำลังความมั่นคงของเมียนมาและหุ่นเชิด รวมทั้งการปฏิบัติโดยไม่เที่ยงธรรมในระดับรัฐที่มีต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ที่มีมานานหลายทศวรรษ นอกจากนั้น ในรายงาน ใช้คำพูดถึงโรฮิงญาว่า “กลุ่มคนมุสลิม”

รมว. ต่างประเทศไทย: การพูดคุยขึ้นอยู่กับเมียนมาและบังกลาเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า นายดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปฏิเสธกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีประเทศไทยเป็นประธานในปีนี้ จะหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงการกระทำของเมียนมา แต่ในขณะเดียวกัน อาเซียนจะไม่กล่าวโทษใคร

“นี่ไม่ได้เป็นการฟอกขาวให้กับใคร อาเซียนไม่ได้มีไว้เพื่อชี้ว่าใครผิดใครถูก เรามีความห่วงใยต่อชาวโรฮิงญาหลายแสนคนในค่ายผู้อพยพ ซึ่งต้องเริ่มก้าวแรกในการเดินทางกลับถิ่นฐาน” นายดอน กล่าวแก่รอยเตอร์ พร้อมทั้งระบุว่า การเดินทางกลับของชาวโรฮิงญาจะมีขึ้นในกรณีที่มีความสมัครใจเท่านั้น และทั้งเมียนมาและบังกลาเทศต้องมีความเห็นร่วมกัน

ด้านองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์ในวันนี้ว่า องค์การสหประชาชาติ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ และองค์กรนานาชาติหลายองค์กร เชื่อว่าสภาพการณ์ในในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมานั้น ยังไม่เหมาะสมต่อการเดินทางกลับอย่างปลอดภัย แม้ว่าจะโดยสมัครใจก็ตาม

มีการคาดการณ์ว่า ยังมีชาวโรฮิงญาประมาณ 500,000 คน ที่ไม่ได้หนีออกจากรัฐยะไข่ แต่ต้องทนอยู่กับสภาพที่น่ากลัว ถูกกักไว้ในค่าย ไม่สามารถเดินทางได้โดยอิสระ และยังตกเป็นเป้าหมายของการกวาดล้างและความรุนแรง ไม่ได้รับการบริการตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งอาหาร ยารักษาโรค และการศึกษา

องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ เคยเปิดเผยข้อมูลว่า มีชาวโรฮิงญาอพยพไปยังประเทศบังกลาเทศ ราว 600,000 ถึง 700,000 คน เพราะรัฐบาลเมียนมาเริ่มกวาดล้างชาวโรฮิงญาอย่างขนานใหญ่ ในเดือนสิงหาคม 2560

นอกจากนั้น มีชาวโรฮิงญาหนีออกมาจากรัฐยะไข่ ในเมียนมา หรือจากค็อกซ์ บาซาร์ บังกลาเทศ ในห้วงปี 2558 และมีการยุติไประยะหนึ่ง จากนั้นมีชาวโรฮิงญาเริ่มหนีออกจากถิ่นฐานเดิม มายังประเทศไทยโดยทางเรืออีกครั้ง ในตอนต้นปี 2561 นี้ ล่าสุด ได้มีชาวโรฮิงญาหลบหนีออกมาจากค็อกซ์ บาซาร์ แต่เรือได้มาเกยหินที่เกาะระวี ได้รับความเสียหาย ขณะนี้ ยังอยู่ในการควบคุมตัวโดยทางการไทย

สำหรับประเทศไทย เรื่องราวของชาวโรฮิงญา เป็นข่าวดังไปทั่วโลก ในเดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อได้มีการค้นพบศพกว่า 30 ศพ ที่บริเวณเขาแก้ว ในอำเภอปาดังเบซาร์ สงขลา ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำพามา โดยมีจุดหมายปลายทางที่มาเลเซีย

จากนั้นได้มีการเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ที่มีทั้งนายหน้าต่างชาติ เช่น ชาวโรฮิงญา พม่า รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และนักการเมืองท้องถิ่นไทยร่วมด้วย ซึ่งศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกจำเลยสำคัญๆ เช่น พลโทมนัส คงแป้น และจำเลยอีก 61 คน ในปี 2560

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง