ไผ่ ดาวดิน ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.05.03
กรุงเทพฯ
190503-TH-pardon-620.JPG นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน พูดกับนักข่าวที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 5 พฤษภาคม 2559
รอยเตอร์

ในวันศุกร์นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขัง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องขังจากคดีหมิ่นเบื้องสูง เป็นหนึ่งในผู้เข้าข่ายได้รับอภัยโทษด้วย

นางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของ นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องขังในความผิดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนหน้าเฟสบุ๊คของตนเอง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเรือนจำว่า บุตรชายเข้าข่ายได้รับการพระราชทานอภัยโทษด้วย

“ได้รับการปล่อยตัว ไผ่อยู่ในเงื่อนไขอภัยโทษ แต่จะปล่อยตัวเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เขาจะทำเรื่องเอกสารเพื่อเสนอ ผู้ว่าฯ อัยการ ผู้พิพากษา เพื่อทำการปล่อยตัว ระหว่างขั้นตอนดำเนินการ ตามกฎหมายกรมราชทัณฑ์ คือไม่เกิน 120 วัน ทีนี้ ไผ่เหลือติดอีก 47 วัน ยังไม่รู้ว่าเจ้าพนักงานเขาจะดำเนินการเรื่องเอกสารกี่วัน กำหนดเดิมคือ 19 มิถุนายน แต่ไผ่เป็นนักโทษชั้นดีมาก ตามกติกาจะลดวันต้องโทษ 34 วัน ก็อาจได้ปล่อยตัวในวันที่ 16 พฤษภาคม ตามกำหนดเดิมแต่ยังไม่รู้ชัดเจนว่าจะปล่อยเมื่อใด” นางพริ้ม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์

“ที่ผ่านมาไผ่ก็มีช่วงที่สุขภาพดี และก็มีช่วงที่เครียด เพราะขอพักโทษไม่ได้ เขามีสิทธิที่จะทำได้ ถ้ามองความยุติธรรม มันไม่ยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้น เราก็หดหู่อยู่บ้าง แต่สุดท้ายยังไงก็ช่าง คุณก็ขังเราไม่ได้เกิน 19 มิถุนายน ตอนนี้ ไม่คาดหวัง เพราะผิดหวังบ่อย คิดว่ายังไงซะ 20 มิถุนายน ก็ต้องปล่อย” นางพริ้ม กล่าวเพิ่มเติม

นายจตุภัทร์ เป็นอดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนักเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม “กลุ่มดาวดิน” และสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่อีสาน ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 หลังจากเผยแพร่รายงานข่าวของสำนักพิเศษของบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนเฟสบุ๊คส่วนตัว หลังจากถูกคุมตัว นายจตุภัทร์ได้ขอต่อสู้คดีในชั้นศาลเป็นเวลากว่า 7 เดือน และไม่ได้ประกันตัว กระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2560 นายจตุภัทร์ ได้รับสารภาพ และศาลตัดสินจำคุก 5 ปีก่อนลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทำให้นายจตุภัทร์ถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นจนถึงปัจจุบัน

ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ระบุว่า “ไผ่เหลือเวลาติดไม่นาน ไม่ใช่โทษร้ายแรงตามบัญชี ดังนั้น สามารถปล่อยได้ทันที แต่โดยระเบียบปฎิบัติ เรือนจำต้องทำเอกสาร ตรวจสอบรายชื่อนักโทษ น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 7-14 วันน่าจะปล่อย”

พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ระบุความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป”

“อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2517 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้” พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ระบุ

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในเรื่องนี้ว่า พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามโบราณราชประเพณีเนื่องในโอกาสมหามงคล ซึ่งจะมีทั้งการปล่อยตัว และให้ลดโทษแก่ผู้ต้องขัง

"การปล่อยผู้ต้องขังจะเกิดขึ้นภายใน 120 วัน นับจากวันถัดไปที่พระราชกฤษฎีกาประกาศ โดยแต่ละเรือนจำจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ต้องขังของตัวเองว่า ผู้ต้องขังรายใดมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ปล่อยตัว หรือลดโทษ จากนั้นจะส่งให้คณะกรรมการ 3 ท่าน ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษา และอัยการของแต่ละจังหวัด เป็นผู้ตรวจสอบผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลออกหมายปล่อย แล้วส่งเอกสารให้กรมราชทัณฑ์ และให้แต่ละเรือนจำดำเนินการต่อไป" พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

อย่างไร พ.ต.อ.ณรัชต์ ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขว่า จะมีนักโทษได้รับการปล่อยตัว หรือลดโทษกี่ราย เพราะกรมราชทัณฑ์จำเป็นต้องตรวจสอบเงื่อนไข และเอกสารก่อน

ขณะเดียวกัน ในการพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ มีผู้ต้องขังจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกสั่งจำคุกในความผิดบุกทำเนียบรัฐบาล ปี 2551 เข้าข่ายได้รับการอภัยโทษด้วย คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี โดยทั้งหมด ถูกลงโทษจำคุก 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง