ชาวสวนยางไร้เอกสารสิทธิร้องรัฐจ่ายเงินช่วยเหลือ

มารียัม อัฮหมัด
2018.12.07
ปัตตานี
181207-TH-rubber-farmers-1000.jpg ชาวสวนยางพาราตรวจสิทธิการรับเงินช่วยเหลือ 1,800 บาทต่อไร่ จากรัฐบาล ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย อ.ยะหา จ.ยะลา วันที่ 7 ธันวาคม 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์นี้ ชาวสวนยางพาราซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ได้รวมตัวกันที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือ 1,800 บาทต่อไร่ ตามมาตรการการช่วยเหลือของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง มีชาวสวนยางประมาณ 3 หมื่นรายที่ไร้เอกสารสิทธิ

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง ในวงเงิน 18,604.95 ล้านบาท จ่ายเป็นเงิน 1,800 บาทต่อไร่ แต่ไม่เกินรายละ 15 ไร่ แบ่งจ่ายให้เจ้าของสวน 1,100 บาท และคนกรีด 700 บาท โดยเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับชาวสวนยางในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 เป็นวันแรก และตั้งเป้าจะให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2561 โดยเงื่อนไขของผู้ขอรับความช่วยเหลือ ต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. แล้วมีบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหากเป็นเจ้าของที่ดินจำเป็นต้องมีเอกสารสิทธิแสดงความเป็นเจ้าของที่ดินด้วย ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิยืนยันความเป็นเจ้าของที่ดิน หลายราย ต้องออกมาเรียกร้องขอรับการช่วยเหลือ

นางสาวีนะ มะนาหิง ชาวสวนยางจากจังหวัดยะลา กล่าวว่า ชาวสวนยางซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคายางตกต่ำ และเป็นผู้เสียภาษีเช่นเดียวกับชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ ดังนั้นจึงสมควรได้รับการช่วยเหลือ

“ขอเรียกร้องขอรัฐบาลเปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากช่วงนี้ฝนตก ราคายางก็ถูก ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เราก็เป็นชาวสวนยาง จ่ายภาษีเหมือนทุกคน แต่ไม่สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิช่วยเหลือจากรัฐบาลอะไรได้เลย ไม่เคยได้รับการช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาล ตอนนี้ เพื่อนชาวสวนยางกำลังรวบรวมข้อมูลชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิทั้งหมด เพื่อจะยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี” นางสาวีนะ กล่าว

“ตอนนี้ ลูกหนึ่งคนแล้วที่ต้องออกจากโรงเรียน ออกมาหางานทำ ยังไม่มีงานให้ทำ แต่ก็ต้องออกมาก่อน เพราะไม่มีเงินส่งเสียให้เรียน ลูกอีกคนที่ยังเรียน ก็ไม่รู้เมื่อไหร่จะต้องออก ตอนนี้ ยืมเงินใครก็ยากเพราะทุกคนต่างไม่มี” นางสาวีนะ กล่าวเพิ่มเติม

ในห้วงเวลาครึ่งปีที่ผ่านมานี้ ราคายางพาราได้ตกลงเหลือเพียงกิโลกรัมละสามสิบกว่าบาท ก่อนที่จะกระเตื้องมาเป็นกว่า 36 บาทต่อกิโลกรัมในวันนี้ ในขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประเมินราคาคุ้มทุนอยู่ที่ อย่างน้อย 50 บาทขึ้นไป

ด้าน นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า การช่วยเหลือชาวสวนยางในปัจจุบัน จะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือได้เฉพาะชาวสวนยางที่มีเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของที่ดินก่อนเท่านั้น

“ตอนนี้ ดึงรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการไปปิดประกาศให้ตรวจสอบได้ตามหมู่บ้านที่ที่ดินตั้งอยู่ แล้วจะมีแผนนัดเพื่อให้สมัครเข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่จะขึ้นทะเบียนประมาณกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งได้แจ้งไว้กับการยางแห่งประเทศไทยในเขตภาคใต้ตอนล่าง มีประมาณ 30,000 กว่าราย รวมที่ยังไม่กรีด” นายสุรชัย กล่าว

ต่อปัญหาดังกล่าว นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการกำลังเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ เพื่อแล้วเสร็จก่อนกำหนดคือวันที่ 17 ธันวาคม 2561 แต่มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน ต้องมีการปรึกษาหารือเพิ่มเติม ก่อนการออกมาตรการช่วยเหลือ

“ในส่วนการช่วยเหลือชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ขณะนี้ยังไม่มีโครงการอะไร แต่จะขอหารือกับหลายฝ่าย ยังไม่มีโครงการช่วยเหลือกลุ่มนี้ เดี๋ยว..ขอปรึกษาหาทางก่อน เพราะต้องมีความระมัดระวัง” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา เปิดเผยถึงมาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอื่นๆ ด้วย โดยระบุว่า โครงการสร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ใช้ลาดยางมะตอยผสมยางพารา หรือถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ทั่วประเทศ 75,032 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 92,327 ล้านบาท ได้เริ่มดำเนินการแล้วในบางพื้นที่ ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามประสานงานกับบริษัทผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่ของโลก 6 บริษัท เพื่อให้บริษัทตกลงรับซื้อยางพาราจากชาวสวนยางในประเทศไทยไปใช้ผลิตยางรถยนต์ด้วย

ในปัจจุบัน ประเทศไทย มีเจ้าของสวนยางเปิดกรีดที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย ทั้งหมด 999,065 ราย คนกรีดยางจำนวน 304,266 ราย เป็นพื้นที่เปิดกรีดรวมประมาณ 10,039,672.29 ไร่ มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้ ใช้งบประมาณ 18,604.95 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณที่จ่ายให้ชาวสวนยาง และคนกรีด 18,071.41 ล้านบาท งบประมาณชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 393.05 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และค่าธรรมเนียมโอนเงิน ธ.ก.ส. ให้เจ้าของ และคนกรีดยาง 13.98 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ 126.50 ล้านบาท โดยงบบริหารจัดการนี้จะใช้จากกองทุนพัฒนายางพารา ตามนัยมาตรา 49(3) แห่ง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย 2548

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง