โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.05.14
กรุงเทพฯ
190514-TH-senate-620.jpg พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดคุยกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 14 พฤษภาคม 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน โดยเป็นข้าราชการทหารและตำรวจ กว่า 100 นาย ซึ่งหลายนายเป็นเพื่อนร่วมรุ่นและมีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

นอกจากนั้น ในวันเดียวกันนี้ ราชกิจจานุเบกษา ยังได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 นี้ เพื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภา เพื่อเปิดการประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ในลำดับถัดไป ซึ่งวุฒิสมาชิกทั้ง 250 คน จะทำหน้าที่ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการนี้ด้วย

ในวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน มีบุคคลที่เป็นเครือญาติของคนในคณะรัฐมนตรี เช่น พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงนายสม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในจำนวนทั้งหมด มีวุฒิสมาชิกหญิง จำนวน 26 คน

นอกจากนี้ ยังมีอดีตรัฐมนตรีที่ลาออกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อมาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาอีกจำนวน 15 คน และมีอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. อีกกว่า 30 คน ร่วมเป็นสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้

การแต่งตั้งเครือญาติ ตำรวจ-ทหาร เป็นที่ครหาถึงความโปร่งใส แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธที่จะตอบคำถามผู้สื่อข่าว ถึงกรณีที่มีนายทหารและนายตำรวจเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิด โดย พล.อ.ประวิตร ย้อนถามสื่อมวลชนว่า “ที่ไหน?”

และเมื่อสื่อมวลชนตอบกลับว่า พล.อ.นพดล อินทปัญญา เพื่อนสนิท พล.อ.ประวิตร ตอบกลับเพียงว่า “แค่คนเดียว” ต่อเมื่อผู้สื่อข่าวยืนยันว่ามีหลายคน พล.อ.ประวิตร สอบเพียงสั้นๆ ว่า “เป็นพวกคนเก่า” ก่อนขึ้นรถออกไปจากทำเนียบรัฐบาล

เปิดประชุมสภา 22 พ.ค. นี้

ในวันเดียวกัน เว็ปไซด์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาในวันที่ 22 พ.ค. นี้ พร้อมให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญ

"โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ได้มีการเลือกต้ังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 แล้ว และตามความในมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาภายในสิบห้าวัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกต้ังทั่วไป โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป” พระราชกฤษฎีกา ระบุ

โดยการประชุมรัฐสภาในครั้งนี้ เป็นการประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อเลือกประธานรัฐสภา และรองประธานรัฐสภา ก่อนนำทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง เพื่อจะได้เรียกประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การแต่งตั้ง ส.ว. เป็นการแสดงให้เห็นถึงการคงอำนาจในการเมืองของทหารอย่างชัดเจน

“ผมว่ามันแสดงให้เห็นถึงการคงอำนาจของทหารไว้ในระบบการเมืองหลังเลือกตั้ง ตอกย้ำว่า ไม่ได้กลับสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยังมีโครงสร้างที่ทำให้อำนาจทหารยังมีอยู่ ทหารยังมีบทบาททางการเมืองอยู่” นายฐิติพล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“การเอาทหารเข้าไปเป็น ส.ว. เป็นการพยายามมีบทบาทกดดันสภา มันอาจจะสะท้อนว่า ทหารมีอำนาจในการครอบงำสิ่งเหล่านี้ ตอกย้ำให้สังคมได้เห็นว่า ทหารพยายามที่จะอยู่ในการเมืองต่อ กลุ่มทหารที่เคยอยู่กับ คสช. เข้ามาเป็น ส.ว. ก็ไม่ได้หมายความว่า คสช. หมดอำนาจไปจริงๆ ยิ่งตอกย้ำการสืบทอดอำนาจ เพราะถ้า ส.ว. โหวตนายกฯ ก็จะมีอิทธิพลในสภา” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนั้น นายฐิติพลกล่าวว่า การตั้ง ส.ว. ของคนในเครื่องแบบ จะส่งผลกระทบเรื่องงบประมาณด้วย ซึ่งงบประมาณจะลงไปส่วนของกลาโหม และไม่ได้จัดไว้สำหรับสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ เช่น ด้านประกันสุขภาพ รักษาพยาบาล และการศึกษา

เมื่อวานนี้ พรรคพลังประชารัฐ ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคเล็ก 11 พรรค มีเสียงอย่างน้อย 126 เสียง เพียงพอที่จะร่วมกับ ส.ว. อีก 250 เสียง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของเสียงสองสภาที่มีทั้งหมด 750 เสียง เพื่อการโหวตให้พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง