ดีเอสไอออกหมายเรียกพานทองแท้ ชี้แจงคดีฟอกเงินกู้กรุงไทย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2017.10.03
กรุงเทพฯ
171003-TH-panthongtae-1000.jpg นายพานทองแท้ ชินวัตร (ขวาสุด) เดินทางถึงศาลอุทธรณ์ เพื่อฟังคำตัดสินคดีเลี่ยงภาษีของนางพจมาน ชินวัตร มารดา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ที่ศาลอาญากรุงเทพ
เอเอฟพี

ในวันอังคาร (3 ตุลาคม 60) นี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ออกหมายเรียกให้นายพานทองแท้ ชินวัตร พร้อมพวกรวมสี่ราย มารับทราบข้อกล่าวหาในคดีฟอกเงินจากการปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยให้เครือกฤษดามหานครโดยไม่มิชอบ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2560 นี้ และให้ชี้แจงที่มาของเงิน

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงการออกหมายเรียกนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายคนเดียวของอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 4 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงินว่า เป็นไปตามขั้นตอน หลังจากที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้และพวก ในคดีฟอกเงินกรุงไทย

“พนักงานสอบสวนมีหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา แต่ต้องออกเป็นหมายเรียกให้ทางผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน ในส่วนของคำร้องจากกลุ่มต่างๆ พนักงานสอบสวนพร้อมตรวจสอบคำร้องและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ในปี 2548 ได้เกิดคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร ที่ถูกจัดให้เป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และไม่สามารถอนุมัติเงินกู้ให้ได้ รวมเป็นเงินกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท โดยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ อดีตประธานบอร์ดบริหารธนาคารกรุงไทย นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา คนละ 18 ปี พร้อมให้ร่วมกันชดใช้เงินคืนให้กับธนาคารกรุงไทย ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เป็นกรรมการอนุมัติสินเชื่อ และกลุ่มเอกชนที่ขอสินเชื่อ ให้จำคุกคนละ 12 ปี

ในคดีนี้ มีจำเลยรวม 27 ราย มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่หนึ่ง แต่ได้หลบหนีไป คดีต่อส่วนของนายทักษิณ ถูกจำหน่ายชั่วคราว ส่วนนายพานทองแท้ บุตรชาย ได้รับเช็คมาจากลูกชายของนายกฤษดา จึงถูกกล่าวหาว่าฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินในวันนี้

นายวันชัย บุนนาค ทนายความอิสระกล่าวว่า การดำเนินคดีฟอกเงินของธนาคารกรุงไทยที่ผ่านมา มีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีทั้งทางตรง และทางอ้อมหลายคน ไม่ได้ถูกตรวจสอบ จีงได้ยื่นหนังสือให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการในเรื่องนี้

“กรรมการ(ธนาคารกรุงไทย) 3 ใน 5 คน ที่อนุมัติสินเชื่อ ถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกจำคุก แต่อีก 2 คน คือ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และ นายอุตตม สาวนายน ที่ลงนามร่วมกันอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว กลับลอยนวล โดยดีเอสไอ อ้างว่าทั้งสองคนไม่มีมูลความผิดในคดีนี้ ... ในส่วนของนายพานทองแท้ ชินวัตร อยู่ในรายชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ควรได้รับการสอบเช่นเดียวกัน แต่จะผิดหรือไม่ จะสั่งฟ้องหรือไม่ เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน แต่หลักการคือ ต้องสอบให้สิ้นกระแสความ” นายวันชัยเปิด เผยต่อเบนาร์นิวส์ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในก่อนหน้านี้ ได้มีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เข้ายื่นหนังสือถึงดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงบุคคล นิติบุคคล มูลนิธิ อีกประมาณ 150 ราย และปรากฎชื่อ นายพานทองแท้ และพวก รวมอยู่ในรายชื่อดังกล่าว

ด้านนายชุมสาย ศรียาภัย ทนายความผู้ได้รับมอบหมายจากนายพานทองแท้ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงดีเอสไอ ขอให้ระงับการแจ้งข้อกล่าวหา ในวันเดียวกันนี้ โดยได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังจากมอบหนังสือขอให้ดีเอสไอว่า คดีนี้เกิดจากคำสั่งของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ชี้มูลให้ดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ เพียงข้อหารับของโจร ไม่พบความผิดฐานฟอกเงิน อีกทั้ง คตส. ใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และมีมติไปแล้วว่าไม่มีความผิดฐานฟอกเงิน ถือว่าข้อหานี้ขาดอายุความไปแล้ว ดีเอสไอไม่ควรหยิบยกประเด็นนี้กลับมาพิจารณา ทั้งที่ทาง คตส. เอง ก็ไม่เคยร้องทุกข์กล่าวโทษ

“สำหรับประเด็นที่ ดีเอสไอ ออกหมายเรียกนายพานทองแท้ พร้อมพวกรวมสี่คนได้แก่ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร มารดานายพานทองแท้ และ นายวันชัย หงษ์เหิน สามีของนางกาญจนาภา และ นางเกศีนี จิปิภพ มารดาของนางกาญจนาภา ให้มารับทราบข้อกล่าวหาคดีฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน ในวันที่ 24 ตุลาคม นี้ ขณะนี้ ยังไม่ได้รับหมายเรียกแต่อย่างใด แต่ยืนยันหากได้รับหนังสือ นายพานทองแท้ จะเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตัวเอง” นายชุมสายกล่าว

อย่างไรก็ตาม อธิบดีฯ ดีเอสไอ ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการออกหมายเรียก และหากนายพานทองแท้ ไม่มาพบเจ้าพนักงานตามกำหนดอาจมีการพิจารณาออกหมายจับต่อไป ทั้งนี้ทุกคดีดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน พร้อมเชื่อว่าพนักงานสอบสวนจะสามารถดำเนินการส่งสำนวนต่ออัยการเพื่อส่งฟ้องได้ทันก่อนที่คดีจะสิ้นอายุความในปลายปี 2561 อย่างแน่นอน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนปรับ “จ่านิว” คดีขัด พรบ. ความสะอาด

ในวันนี้ (3 ตุลาคม 60) ศาลอุทธรณ์ในศาลแขวงพระนครใต้ พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือที่รู้จักกันในนาม “จ่านิว” มีความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เหตุที่นายสิรวิชญ์ โปรยกระดาษสร้างความสกปรกบนพื้นที่สาธารณะ จากการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2559

นายสิรวิชญ์ ยืนฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ด้วยสีหน้าเรียบเฉย และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาว่า เจตนาในการทำกิจกรรมทางการเมืองของเขาถูกตีความผิดในศาลชั้นต้น จึงอุทธรณ์คดี แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ยืนคำสั่งศาลชั้นต้น ก็จะต่อสู้ต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง