ผู้ว่าฯ ยะลารับสอบข้อขัดแย้ง กรมศิลป์คืนพื้นที่โบราณสถานให้ทำเหมืองหิน

มารียัม อัฮหมัด
2020.03.05
ปัตตานี
200305-TH-yala-site-1000.jpg ภาคประชาสังคม นำโดยนายรักชาติ สุวรรณ เดินทางไปยังเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ตำบลลิดล ตำบลยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เพื่อสำรวจภาพเขียนสี วันที่ 5 มีนาคม 2563
ภาพ นายรักชาติ สุวรรณ

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายชัยสิทธิ์ พาณิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนจะขอตรวจสอบรายละเอียดกรณีที่กลุ่มประชาสังคมในพื้นที่กล่าวว่า กรมศิลปากร ได้ประกาศเพิกถอนพื้นที่เขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา (หรือเขายาลอ) บางส่วน เพื่อเปิดทางให้สามารถทำอุตสาหกรรมเหมืองหิน ซึ่งภาคประชาสังคมเห็นแย้งว่าควรให้อนุรักษ์ไว้ และขอให้ทบทวนการดำเนินการดังกล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2544 กรมศิลปากร ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พื้นที่เขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ตำบลลิดล ตำบลยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นโบราณสถาน 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา แต่ต่อมา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 ได้มีประกาศในราชกิจจา แก้ไขให้ลดพื้นที่ลงเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยอ้างถึงความขาดแคลนของแหล่งหินอุตสาหกรรม ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้เหตุผลในการแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานว่า เพื่อผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรง ที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้

เฟซบุ๊กเพจ Artteller ได้กล่าวถึงการศึกษาของ นายอัตถสิทธิ์ สุขขำ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งพบว่า ภาพเขียนสีในถ้ำมีอายุคาดคะเนได้อย่างต่ำคือ พันปี น่าจะเป็นภาพเขียนสีช่วงปลายศรีวิชัย (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 ร่วมสมัยกับอาณาจักรสุโขทัย) อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาได้บอกว่าภาพเขียนสีที่เขายะลา อาจมีอายุมากกว่าพันปี เพราะนอกจากการพบภาพเขียนสี ในถ้ำยังพบเครื่องมือหิน และภาชนะดินเผา อายุ 2,000-4,000 ปี ในบริเวณเดียวกันด้วย ที่น่าสนใจกว่านั้น ในบริเวณถ้ำที่เขายะลา ยังพบรอยขีดสีที่มีรูปแบบเหมือนระบบการนับเลขในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจมีอายุกว่า 28,000 ปี

"กรณี กรมศิลปากรประกาศเพิกถอนพื้นที่เขตโบราณสถานนั้น ขอตรวจสอบรายละเอียดข้อพิพาท และประกาศอีกครั้ง" นายชัยสิทธิ์ พาณิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันพฤหัสบดีนี้

เบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อนายประทีบ เพ็งตะโก อธิบดี กรมศิลปากร คนปัจจุบัน แต่ทางเจ้าหน้าที่กล่าวว่า นายประทีบ เดินทางไปต่างประเทศ

ภาพเขียนในถ้ำแห่งหนึ่งเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา จากการศึกษาของนายอัตถสิทธิ์ สุขขำ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาพเขียนในถ้ำแห่งหนึ่งเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา จากการศึกษาของนายอัตถสิทธิ์ สุขขำ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร

ด้านนายรักชาติ สุวรรณ ชาวจังหวัดยะลา ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ตนเองเพิ่งทราบเรื่อง ว่าที่บริเวณนั้นเป็นโบราณสถาน หลังจากที่เห็นประกาศจากกรมศิลป์ เรื่องการแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานแล้ว และมีความคิดเห็นขัดแย้งกับกรมศิลปากร

“เท่ากับว่าเขตพื้นที่โบราณสถาน จะต้องถูกทำลายโดยการเจาะ หรือระเบิดหินไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง... ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวน อยากให้คนยะลาสนใจเรื่องของโบราณสถาน เท่าที่คุยกับหลายฝ่าย เชื่อว่าเขายาลอหรือเขายะลา มีความเชื่อมโยงกับหน้าถ้ำ และส่วนตัวคิดว่าอาจเป็นไปได้ เพราะแต่ละเขามีร่องรอยของประวัติศาสตร์ เพียงแต่อาจไม่ได้ถูกสำรวจ” นายรักชาติ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

“ข้างบนเขานั้นสวยมาก สามารถมองเห็นเมืองยะลาได้ ถ้าทำเป็นที่ท่องเที่ยวจะถือว่าดีมาก เพราะมันสวยมาก เราไปถึงจุดที่มีภาพ รอยขีดๆ สีแดง เหมือนเป็นการนับเลขแล้วขีดลงไป และจากพื้นที่สูง เหมือนเป็นสถานที่เกี่ยวกับทำพิธีบวงสรวง คนอยู่ข้างล่างก็ทำนาใช้ชีวิตประจำวัน เป็นไปได้ว่าเมื่อจะทำพิธีบวงสรวงก็ขึ้นไปทำตรงนี้” นายรักชาติ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายโกมุท มอหาหมัด นายก อบต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวว่า ภาพโบราณสถานบนเขามีหลายจุด แต่ภาพสีแดงตรงผาหินที่เห็นชัดที่สุด ตั้งอยู่หลัง สำนักงาน อบต.ยะลา บ้านกูเบร์ ม.2 ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เดินเท้าราวๆ ประมาณ 1 กม. ซึ่งทาง อบต. พยายามดูแล แต่เพราะอยู่ที่สูงจึงทำอะไรได้ไม่มาก โดยเมื่อหลายปีก่อน ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปกรที่ลงมาสำรวจ ระบุว่ามีอายุประมาณ 1,300 ปี

“ตอนแรกชาวบ้านไปพบและมีการพูดต่อ ๆ ว่า มีสัญลักษณ์บนเขา หลายคนคิดว่าเป็นเด็ก ๆ ไปเขียนเล่นไว้ และไปพบอีกแห่ง เป็นถ้ำเปิด ที่ผ่านมาหลายครั้งก็จะมีพระขึ้นไปธุดงค์ มีทั้งพระพุทธ พระจีน ทางชาวบ้านก็มาคุยหารือกันจะทำยังไงที่จะสามารถอนุรักษ์ได้ เพราะลำพังชาวบ้านไม่มีกำลังจะดูแล จึงร่วมกันทำ ฎีกาถวายสำนักพระราชวัง จากนั้นสำนักพระราชวังส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบหลายครั้ง และเมื่อพากรมศิลปากรมาตรวจสอบเพิ่มเติมก็พบว่า มีหลายจุด และทางกรมศิลปากร ก็บอกว่า ไม่ใช่ภาพเล่น ๆ แต่เป็นโบราณสถานมีอายุราว ๆ 1,300 ปี” นายโกมุท กล่าวเพิ่มเติม

นายโกมุท กล่าวว่า หากทางกรมศิลปากรจะอนุญาตให้มีการระเบิดหิน จะต้องผ่านประชาคมหมู่บ้าน แต่ก็มีข้อแม้ บางครั้งผู้มีอำนาจ ผู้มีเงินทำประชาคมแบบเงียบๆ ได้โดยไม่สนใจความเสียหาย ซึ่งแหล่งหินตรงนี้ ตั้งอยู่ในย่านชุมชน ที่ทางราชการจะต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ถูกทำลาย

“ผมไม่รู้จะไปถามใคร ก็ฝากถามทางนี้ สะท้อนถึงผู้ที่รับผิดชอบ และขอเรียกร้องให้ทางจังหวัด เข้ามาชี้แจงสร้างความเข้าใจโดยด่วน” นายโกมุท กล่าว

สำหรับโรงโม่หิน ที่มีอยู่ในพื้นที่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 6 โรง ตั้งอยู่ในตำบลยะลากับตำบลลิดล

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง