ตำรวจจับกุมนายพริษฐ์ ข้อหาชุมนุมไล่รัฐบาล

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.08.14
กรุงเทพฯ
200814-TH-activist-arrest-1000.jpg นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชูสัญญลักษณ์สามนิ้ว ขณะเจ้าหน้าที่นำตัวไป ที่สถานีตำรวจสำราญราษฎร์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 14 สิงหาคม 2563
เอเอฟพี

ในวันศุกร์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในความผิดจากการร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ด้านเจ้าตัวยืนยันว่า จะทำอารยะขัดขืนโดยการไม่ขอประกันตัว ทำให้ต้องถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจในคืนนี้ ขณะเดียวกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และท่าน้ำนนท์ จังหวัดนนทบุรี มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลด้วย

การควบคุมตัวนายพริษฐ์ เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 16.00 น. บริเวณพื้นที่เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ขณะที่ นายพริษฐ์กำลังจะเดินทางไปขึ้นเวทีปราศรัย ที่ท่าน้ำนนท์ โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่แสดงตัวว่า เป็นพนักงานสอบสวน (ไม่ทราบชื่อ) ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้จับกุม

“น้องมีหมายจับศาลอาญาที่ 1172/2563 ต้องหาความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อมิให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่อง ในหมู่ประชาชน ถึงขนาดคิดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ขอเชิญตัวไปยังท้องที่สอบสวน” เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบรายดังกล่าว ระบุ

ระหว่างถูกจับกุมนายพริษฐ์ ระบุว่า “ผมไม่ยอมรับกระบวนการนี้ และไม่ยอมรับอำนาจนี้” อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ได้อุ้มนายพริษฐ์ขึ้นรถยนต์ เพื่อไปลงบันทึกการจับกุมที่ สภ.ปากเกร็ด เจ้าของพื้นที่ ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่ สน.สำราญราษฎร์ เจ้าของพื้นที่การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak ได้มีการเผยแพร่ข้อความเสียงของนายพริษฐ์ ที่ระบุว่า ตนเองบันทึกเสียงไว้ก่อน เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะถูกจับกุม จะทำการอารยะขัดขืน โดยการไม่ยอมรับกระบวนการจับกุม และจะไม่ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว

“การเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นความวุ่นวายอย่างไร เราร่ำเรียนกันมาตลอดว่า ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันนี้บ้านเมืองเราไม่เป็นประชาธิปไตย ถึงจะมีการเลือกตั้ง ก็เป็นการปาหี่ เราจึงต้องออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ผมไม่ยอมรับคดีความใด ๆ เพราะผมถือว่า ผมไม่มีความผิด… ขอแสดงจุดยืนว่า ผมจะอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับกระบวนการใด ๆ แต่ต้น เราจะไม่ยอม เซ็นใด ๆ จะไม่ยื่นประกันตัว เพราะกระบวนการตั้งแต่ต้น ไม่มีความชอบธรรม” ข้อความเสียงระบุ

ต่อมาที่ สน.สำราญราษฎร์ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าว กรณีที่สื่อสังคมออนไลน์นำเสนอข่าว การออกหมายจับและจับกุม พริษฐ์ ในความผิดตามมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา โดยระบุว่า “ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แต่ได้รับรายงานจาก สภ.เมืองเลยว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563 นายสุขสันต์ เวียงจันทร์ ชาวจังหวัดเลยได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเลย ให้ดำเนินคดีกับพริษฐ์” โดยนายพริษฐ์ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งพนักงานสอบสวน ได้รับแจ้งความไว้แล้ว และจะดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้มีการออกหมายจับ หรือจับกุม

การจับกุมนายพริษฐ์ ทำให้เกิด #saveparit ขึ้นบนอินเทอร์เน็ต และกลายเป็นข้อความที่ถูกเขียนถึงมากที่สุดของทวิตเตอร์ประเทศไทย ทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนหลายสิบคน ที่ หน้า สน. สำราญราษฎร์ เพื่อเฝ้าดูสถานการณ์ และให้กำลังใจนายพริษฐ์

ทั้งนี้ การจับกุมนายพริษฐ์ เป็นการกระทำผิดครั้งเดียวกัน และข้อหาเดียวกันกับคดีของ นายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก ซึ่งถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ในความผิด มาตรา 116, มาตรา 215 และ มาตรา 385 ของประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ โดย เบนาร์นิวส์ พยายามติดต่อไปยัง พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ผกก.สน.สำราญราษฎร์ เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีนี้ แต่ พ.ต.อ.อิทธิพล ตัดสาย

ในวันเดียวกัน ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ รวมถึง ท่าน้ำนนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ก็ได้มีการจัดการชุมนุมขึ้นเช่นกัน

“เพนกวิน เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเรา เพื่อนของเราหลาย ๆ คนถูกคุกคาม เพียงแค่เขากล้าที่จะพูดสิ่งที่เขาคิด เพียงแค่พวกเขาปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะยอมได้ยังไง .. การวิจารณ์เรื่องใด ๆ ก็ตามในประเทศนี้มันเป็นสิทธิของเรา ใคร ๆ ก็ทำได้ และผู้ที่ถือครองอำนาจสูงสุดในประเทศจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากประชาชน” น.ส. สิรินทร์ มุ่งเจริญ หรือเฟลอ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในการปราศรัย

ด้าน ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในนามเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อรัฐบาล ประกอบด้วย 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหาร (ปี 2560) 2. หยุดคุกคามประชาชน 3. ไม่เอารัฐประหาร 4. ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ 5. ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 6. ส.ว.ต้องไม่มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 7. เรียกร้องให้ยุบสภา 8. นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง 9. องค์กรอิสระต้องมาจากประชาชน และ 10. รัฐบาลต้องมีคำตอบเรื่องการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ การชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาล หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา เริ่มขึ้นครั้งแรก โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งการชุมนุมครั้งแรกมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 2 พันคน ต่อมาเกิดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในหลายจังหวัด และหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีการจัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 16 สิงหาคม 2563

โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดการชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมกว่า 5 พันคน โดยมีข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยระบุว่า เหตุผลของการเรียกร้อง เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งการเรียกร้องดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์มากมาย ทั้งด้านผู้สนับสนุน และผู้ที่แย้ง

โดยในวันต่อมา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า รู้สึกไม่สบายใจกับข้อเรียกร้องของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ไม่สบายใจ... การชุมนุมก็เป็นสิทธิ์ แต่การชุมนุมที่เกินเลยมากๆ… ทำแบบนั้นมันเหมาะสมหรือไม่ มันเกินมากๆ แล้วจะทำยังไง กฎหมายอยู่ตรงไหน จะบอกว่า เอากฎหมายไปกดทับ ไม่ใช่... ถ้าละเมิดกฎหมาย มันก็ต้องถูกลงโทษกันทุกคน ไม่งั้นกฎหมายมันก็เสียหายสิ เจ้าหน้าที่ก็เสียหาย เขาไม่ทำงานเขาก็ถูกฟ้องร้องละเว้นอีก แล้วมันจะอยู่กันยังไง ผมก็ขอร้องแค่นี้แหละ เพราะงั้นสถาบันต่างๆ ก็ต้องช่วยกันดูแล รับผิดชอบไปบ้าง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ต่อข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และ เครือข่ายศิลปวัฒนธรรม ซึ่งรวมบุคคลกว่าหนึ่งพันรายชื่อ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับฟัง และนำไปพิจารณา รวมถึงยืนยันว่า ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลควรเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย

“รัฐบาลและทุกพรรคการเมือง จะต้องยอมรับความคิดเห็นอันแตกต่างหลากหลาย รัฐบาลจะต้องไม่ดำเนินคดี หรือใช้วิธีการนอกกฎหมายคุกคามผู้ที่เสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญประท้วงรัฐบาล ดังเช่นกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ทหารข่มขู่คุกคามผู้ออกมาประท้วงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลจะต้องเปิดพื้นที่ให้แก่การพูดคุยประเด็นต่าง ๆ  ให้ความเท่าเทียมต่อทุกฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน กองทัพจะต้องไม่ลิดรอนอำนาจประชาชน ด้วยการทำรัฐประหารหรือใช้ความรุนแรง” ข้อเรียกร้องโดยภาคประชาสังคม ระบุ

ขณะที่ในวันศุกร์นี้ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้นำเอกสารหลักฐานเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยเฉพาะแกนนำ ผู้เข้าร่วมชุมนุม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ผู้ประกอบการเวทีที่ใช้จัดงาน และผู้ที่ให้การสนับสนุนเงินทุนในการจัดกิจกรรม ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

อย่างไรก็ตามถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการออกหมายเรียก หมายจับ หรือดำเนินการจับกุม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง