13 ปี เหตุการณ์ตากใบ ประชาชนยังอยากเห็นสันติสุขที่แท้จริง

มาตาฮารี อิสมาแอ และ มารียัม อัฮหมัด
2017.10.23
นราธิวาส และ ปัตตานี
171023-TH-takbai-1000.jpg เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ประท้วงหน้าสถานีตำรวจตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547
มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์

ก่อนที่จะถึงวันครบรอบ 13 ปี ของเหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ในวันนี้ (23 ตุลาคม 2560) ที่ศูนย์ตาดีกาอิฮซัน บ้านจาเราะ ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างสันติขึ้น เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน และระลึกถึงผู้เสียชีวิต 85 ราย จากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต และส่วนใหญ่จากการขาดอากาศหายใจ ระหว่างถูกขนส่งบนรถบรรทุกเพื่อนำตัวไปค่ายทหาร

ส่วนใหญ่เนางแยนะ สะแลแม ในฐานะผู้ประสานงานเหตุการณ์ตากใบ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนระหว่างร่วมกิจกรรม ว่า สถานการณ์ค่อยๆ กลับสู่สภาวะปกติแล้ว หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ผ่านไป 13 ปี

“สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาที่หมู่บ้านอีก น่าจะเป็นภาพของความสงบและสันติภาพ” นางแยนะ ผู้สูญเสียสามีในเหตุการณ์ และลูกชายถูกตั้งข้อหานำการประท้วง แต่ภายหลังถูกยกฟ้อง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“วันนี้เราเห็นภาพชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน 13 ปี ที่เราทำกิจกรรมตรงนี้ เรามีความสุขมากที่ได้เห็นชาวบ้าน เด็กตาดีกา เยาวชนเข้ามาร่วมมือ บ้านจาเราะ จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีครัวเรือนอยู่ 80 หลัง แต่ทุกครั้งของการจัดกิจกรรมในหมู่บ้าน ก็จะมี อบต. ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่ามหรือผู้นำศาสนาเข้ามาร่วมมือ เราอยากเห็นความร่วมมือทุกฝ่ายกับการสร้างสันติสุขหรือสันติภาพในพื้นที่ทุกพื้นที่” นางแยนะ

นางแยนะ กล่าวอีกว่า หลังจากได้รับเงินเยียวยา ญาติผู้ได้รับผลกระทบต่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บางคนไปซื้อสวนยาง บางคนลงทุนทำมาค้าขาย บางคนที่ได้รับบาดเจ็บและพิการก็ใช้เงินเยียวยาที่ได้มาไปรักษา รวมทั้งลงทุนในอาชีพที่ถนัด ทำให้มีรายได้พอมีรายได้

“เราเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ ในหมู่บ้านที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์” นางแยนะกล่าว

นางมือแย โซ๊ะ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมรำลึก 13 ปี เหตุการณ์ตากใบเปิดเผยว่า ตนสูญเสียลูกชายชื่อ นายมูฮัมมัด โซ๊ะ อายุ 19 ปี หลังเกิดเหตุรู้สึกเสียใจมาก แต่ตลอด 13 ปี ที่ผ่านมาก็ได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่

“วันนี้เราได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐแล้ว รัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือกับครอบครัว และอยากให้รัฐช่วยส่งเสริมเรื่องการศึกษาและคนมีงานทำในพื้นที่” นางมือแยกล่าว

ขณะที่นางตีเมาะ กาบากอ หนึ่งในผู้สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์ตากใบกล่าวว่า ใช้คำสอนของศาสนาอิสลามช่วยเยียวยาความรู้สึกของการสูญเสีย ขณะที่ด้านความเป็นอยู่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ โดยได้ใช้เงินช่วยเหลือบางส่วนทำบุญ และเดินทางไปแสวงบุญประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียด้วย

ด้านนายยูโซ๊ะ สะแมแอ ซึ่งสูญเสียน้องชายจากเหตุการณ์ 13 ปีที่แล้ว กล่าวว่า เงิน 7 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาทที่รัฐจ่ายเยียวยาให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย หากนับเรื่องความคุ้มค่าคงไม่คุ้ม เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่ชาวบ้านต้องการ เชื่อว่าเป็นการร่วมกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้จริงและเป็นรูปธรรม

ด้านนายประยูร พุทธชาติ นายอำเภอตากใบ กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจกันระหว่างชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่รัฐ เชื่อว่า ความสงบจะเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างแท้จริง

“กิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านวันนี้ เห็นถึงความสามัคคีความร่วมมือของทุกคน รอยยิ้มที่พวกเขาแสดงออกมา ทำให้เห็นได้ว่า ชาวบ้านพร้อมที่จะร่วมสร้างสันติภาพไปด้วยกัน เพราะพวกเขาต่างต้องการเห็นความสงบสุขเกิดขึ้นในพื่นที่” นายประยูรกล่าว

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมของประชาชนในหลายพื้นที่เพื่อรำลึก เหตุการณ์ 13 ปีที่ตากใบ เป็นไปอย่างเรียบร้อย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่เข้าออกอย่างเข้มงวด

“กลุ่มขบวนการในพื้นที่อาจจะ​ฉวยโอกาสก่อเหตุได้ทุกครั้ง เมื่อมีโอกาสและจังหวะ ไม่ว่าเทศกาลหรือวันเชิงสัญลักษณ์ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ประมาท มีการดูแลความปลอดภัยประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมใช้กฎหมายเป็นตัวนำในการแก้ปัญหา” พ.อ.ปราโมทย์กล่าว

13 ปีเหตุการณ์ที่ตากใบ

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันที่หน้าโรงพักตากใบ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ จำนวน 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดียักยอกทรัพย์สินทางราชการ และแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป

เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุม และควบคุมตัวประชาชนจำนวนมากไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี การสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย แต่การควบคุมตัวผู้ชุมนุมโดยมีวิธีการถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง แล้วนำเรียงซ้อนทับกันในรถบรรทุกยีเอ็มซีไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 79 ศพ รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 85 ศพ และมีผู้สูญหาย บาดเจ็บ และทุพพลภาพอีกจำนวนมาก

ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 ศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำสั่งคดี ช.16/48 (คดีไต่สวนการตาย) ได้ใจความสำคัญ คือ ผู้ตาย (ระบุชื่อ 78 รายชื่อ) ทั้งเจ็บสิบแปดคนตาย ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 สาเหตุที่ตาย คือ ผู้ตาย 78 ราย ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ในขบวนการสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรม มีรายละเอียด พนักงานอัยการได้ถอนฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน (ต่อมาเสียชีวิต 1 คน) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 ขณะที่การสอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีส่วนร่วมในการทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการขนย้ายนั้น สุดท้ายอัยการสั่งไม่ฟ้อง

ในปี 2556 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวรวมทั้งหมด 641,451,200 บาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง