ศาลจังหวัดปากพนังจำคุกสามผู้ต้องหาค้ามนุษย์โรฮิงญา

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.09.01
กรุงเทพฯ
TH-trafficking-victim-800 เจ้าหน้าที่ขนย้ายศพทั้ง 6 ที่ขุดขึ้นมาจากสุสานบ้านตาโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา สงขลา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558
เอเอฟพี

โฆษกศาลยุติธรรม ได้แถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ (31 ส.ค. 2559) นี้ว่า ศาลจังหวัดปากพนัง ได้พิพากษาจำคุกนักค้ามนุษย์สามราย ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา 97 ราย และที่ถูกดำเนินคดีเมื่อตอนต้นปีที่แล้ว

นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ได้แถลงข่าวเรื่องดังกล่าวในกรุงเทพ โดยให้รายละเอียดว่า จำเลยสามราย คือ นายสุนันท์ แสงทอง จำเลยที่หนึ่ง นายสุริยา ยอดรัก จำเลยที่สอง และ นายวราชัย ชฎาทอง จำเลยที่สาม ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วม ในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

ทั้งนี้ ศาลจังหวัดปากพนัง ได้พิพากษาความผิดของนายสุนันท์ ฐานสมคบกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ จำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท ส่วนฐานร่วมกันค้ามนุษย์ จำคุก 20 ปี ปรับ 400,000 บาท ฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้าเมือง จำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท ฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวให้พ้นการจับกุม จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท และตัดสินจำคุกนับกระทงเรียงกัน รวมถึง 35 ปี และปรับเป็นเงิน 660,000 บาท

ส่วนนายสุริยา ยอดรัก จำเลยที่สอง มีความผิดฐานร่วมกันช่วยเหลือ คนต่างด้าวให้พ้นการจับกุม ถูกศาลสั่งจำคุกละ 1 ปี ปรับ 20,000 บาท และนับโทษของจำเลยที่สองในคดีนี้ ต่อจากโทษของศาลจังหวัดตะกั่วป่า

และนายวราชัย ชฎาทอง จำเลยที่สาม มีความผิดฐานร่วมกันช่วยเหลือ คนต่างด้าวให้พ้นการจับกุม ถูกศาลสั่งจำคุกละ 1 ปี ปรับ 20,000 บาท และศาลได้บวกโทษจำคุกของจำเลยที่สาม ที่ศาลจังหวัดหลังสวน อีก 2 คดี รวม 10 เดือน 5 วัน เป็นจำคุกจำเลยที่สาม มีกำหนด 16 เดือน 5 วัน ปรับ 10,000 บาท ทั้งนี้ ในส่วนข้อหาอื่นของจำเลยทั้งสาม นอกจากนี้ให้ยกเหตุแห่งคดีนี้ เกิดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2558 ที่จำเลยใช้รถยนต์ขนชาวโรฮิงญา 97 คน ไปตามเส้นทางเลียบชายฝั่งอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดจับ และถูกดำเนินคดีในที่สุด

หลังจากเหตุการณ์นี้ ในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกัน ได้มีการค้นพบค่ายชาวโรฮิงญาที่เทือกเขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และพบร่องรอยศพชาวโรฮิงญาถูกฝังไว้กว่าสามสิบศพ ซึ่งภายหลังทราบว่า เป็นการกระทำของขบวนการค้ามนุษย์ที่มีนายหน้าทั้งชาวไทย พม่า บังกลาเทศ และมาเลเซีย

ในปัจจุบัน ศาลอาญากรุงเทพเหนือ กำลังพิจารณาคดีค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นนี้ โดยได้ดำเนินการทางคดีต่อจำเลยรวม 103 ราย โดยมีนายทหารยศพลโท ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นักการเมืองท้องถิ่น ชาวบังกลาเทศ และพม่า เป็นจำเลยสำคัญ

การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและอีกส่วนหนึ่งที่เป็นชาวบังกลาเทศนั้น เกิดจากปัญหาการที่ชาวโรฮิงญาที่อาศัยในรัฐยะไข่ของพม่า ไม่มีสถานะเป็นพลเมือง และเกิดการปะทะกับชาวยะไข่จนเกิดบาดเจ็บล้มตาย จึงได้พยายามหนีออกนอกประเทศ และเกิดขบวนการค้ามนุษย์เพื่อนำคนเหล่านี้ไปยังประเทศมาเลเซีย โดยนายหน้าได้รับค่าหัวจากการนำพาคนเหล่านี้ราวๆ ห้าหมื่นต่อคน

เส้นทางการนำพาเส้นทางหนึ่ง คือการเดินทางด้วยทางทะเล ขึ้นฝั่งด้านตะวันตกของไทย แล้วใช้เส้นทางรถยนต์ไปชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อรอผ่านแดนที่นั่น ซึ่งปกติจะมีญาติชาวโรฮิงญาที่อาศัยในมาเลเซียอยู่ก่อนแล้ว จ่ายค่าเดินทางในขั้นสุดท้าย หากไม่มีเงินจ่าย ผู้ถูกนำพาก็จะถูกกักตัวไว้จนป่วยไข้ หรือถูกทำร้ายจนตาย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง