ศาลอาญาเริ่มการพิจารณาคดีค้ามนุษย์อย่างเป็นทางการ

ภิมุข รักขนาม
2016.03.15
กรุงเทพฯ
TH-human-trafficking-620 พลโทมนัส คงแป้น จำเลยคดีค้ามนุษย์พร้อมจำเลยอื่นๆ ถูกนำตัวไปที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ในการพิจารณาคดี แฟ้มภาพ 15 มี.ค. 2559
ภิมุข/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญา ได้เริ่มการพิจารณาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาอย่างเป็นทางการในวันอังคาร (15 มีนาคม 2559) นี้ ไปจนถึงวันศุกร์นี้ สำหรับช่วงสัปดาห์แรก โดยมีจำนวนจำเลยในคดีรวม 90 คน ยังรอการสั่งฟ้องอีกสองราย ในขณะที่ยังมีผู้ต้องหาหลบหนีการจับกุมอยู่อีก 61 ราย

หลังจากศาลได้เสร็จสิ้นการตรวจสอบพยานหลักฐานและการสืบพยานบางส่วนล่วงหน้าในคดีหมายเลขดำ ดม.29/2558 มาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายนปีที่แล้ว ในวันนี้ ศาลอาญากรุงเทพเหนือ ได้เริ่มการพิจารณาคดีนี้อย่างเป็นทางการ โดยได้สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ คือนายรอชิดุลลา

นายรอชิดุลลา พยานโจทก์คนสำคัญ ได้กล่าวผ่านล่ามว่า ตนเองเป็นคนหมู่บ้านไฮซูริตา เมืองมองโด รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา และให้ปากคำว่า นายฮาชิมยุละ มีตำแหน่งคล้ายผู้ใหญ่บ้านในประเทศไทย หลอกลวงให้ชาวโรฮิงญาเดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างว่าจะพาไปทำงานในภาคการก่อสร้าง ในประเทศมาเลเซีย และจะได้รับเงินเดือนๆ ละ 1,500 ริงกิต

นายฮาชิมยุละ ได้ชักชวนบุคคลในหมู่บ้านของตนอีกสามคน เพื่อให้เดินทางไปยังมาเลเซียโดยบอกว่าจะเดินทางด้วยเรือที่มีห้องแอร์ เครื่องอำนวยความสะดวก พร้อมอาหารวันละสามมื้อ จะเดินทางไปยังมาเลเซียโดยตรง โดยได้เคลียร์เส้นทางกับทหารเรือและเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศตามเส้นทางเรียบร้อยแล้ว นายฮาชิมยุละ ได้ชักจูงตนและคนในหมู่บ้านหลายครั้ง จนทั้งสี่คนได้ตัดสินใจเดินทางเพราะเห็นว่านายฮาชิมยุละมีฐานะร่ำรวย ไม่น่าจะหลอกพวกตน ทั้งยังบอกว่า มีคนในเมืองมองโดสามสี่คน ที่มีญาติไปทำงานที่มาเลเซียได้ส่งเงินกลับมาให้ทางบ้านจนฐานะร่ำรวยขึ้น

ในวันเดินทาง เวลาประมาณหนึ่งทุ่ม ลูกน้อง นายฮาชิมยุละ ซึ่งเป็นคนขับเรือ ได้นำตนและเพื่อนอีกสามคน เดินเท้าจากหมู่บ้านประมาณ 15 นาที ไปยังท่าเรือขนาดเล็กแห่งหนึ่ง ที่นั่นได้พบกับผู้ถูกชักจูงเดินทางคนอื่นๆ อีก 16 คน มีลูกน้องของนายฮาชิมยุละ อีกสี่ถึงห้าคน ได้ลงเรือขนาด 5 คูณ 2 เมตร เดินทางออกจากฝั่งไปยังจุดนัดพบเรือใหญ่

หลังจากการเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมง ได้ถึงจุดนัดพบ มีเรือใหญ่ประมาณ 20 กว่าลำจอดรออยู่ และมีเรือเล็กที่เหมือนกับเรือที่ตนเดินทางอีกกว่า 20 ลำ ได้เดินทางมายังเรือใหญ่เช่นกัน ในระหว่างการเดินทางช่วงนี้ ชายสี่ถึงห้าคนที่มาด้วยในเรือใช้โทรศัพท์พูดภาษาพม่าถามว่า เดินทางถึงไหนแล้ว และบอกตำแหน่งเรือใหญ่ เรือใหญ่ ที่มีขนาดยาวประมาณ 30 เมตร กว้าง 4 เมตร ที่จอดรออยู่ในทะเลอันดามัน

เมื่อถึงเรือใหญ่ ซึ่งมีสามชั้น คือ ชั้นดาดฟ้า ชั้นกลางและชั้นล่าง ทั้งยี่สิบคนถูกมัดมือด้วยเชือก และถูกนำลงไปยังท้องเรือชั้นกลาง ถูกบังคับให้นั่งยองๆ อย่างแออัด และแต่ละคนจะถูกสวมข้อมือด้วยพลาสติกสี เหลือง ขาว แดง น้ำเงิน ทราบภายหลังว่า เป็นการคัดแยกเพื่อนายหน้าคนต่างๆ เมื่อถึงเมืองไทย

นายรอชิดุลลา บอกว่า เรือทั้งหมดมีธงประเทศไทย ลำที่ตนเดินทาง มีกัปตันและคนคุมเรือ 10 คน มีอาวุธปืนสั้นและปืนยาว ได้ยินเสียงพูดเป็นพม่าภาษาพม่าว่า ได้คนครบ 270 คนแล้ว พร้อมที่จะเดินทางได้

นายรอชิดุลลา กล่าวว่า ทุกคนถูกซ้อมด้วยการเตะให้เกิดความหวาดกลัวจนไม่กล้าต่อสู้หรือหลบหนี

คนคุมเรือบอกว่า จะให้กินอาหารวันละมื้อ ซึ่งเป็นข้าวหนึ่งถ้วยและพริกหนึ่งดอก ให้ดื่มน้ำสองครั้งต่อวัน เข้าห้องน้ำหนึ่งครั้งต่อวัน การเดินทางด้วยเรือใหญ่เริ่มขึ้นในคืนที่สองหลังจากถูกควบคุมตัว โดยมีการนำคนที่ถูกชักจูงมาเพิ่มเติมไม่ทราบจำนวน การเดินทางช่วงแรกที่ทำอย่างต่อเนื่องใช้เวลาห้าวัน จากนั้น ได้ถูกนำมาขึ้นฝั่งที่ระนอง ซึ่งนายรอชิดุลลา ได้ชี้รูปผู้ต้องหาที่เป็นคนควบคุมแค้มป์ในระนอง

พบหลุมฝังศพจำนวนมาก

เหตุแห่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง มกราคม พ.ศ. 2554 ถึง พฤษภาคม 2558 ที่มีการนำพาชาวโรฮิงญา และบังกลาเทศ เพื่อส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย จนได้กลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่อมีการค้นพบหลุมฝังศพของผู้ถูกลักลอบนำพาเข้าเมือง ถูกฝังไว้ที่เทือกเขาแก้ว ในอำเภอปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา  เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558

จากนั้น ได้มีการจับกุมและ ยื่นฟ้องนายบรรจง ปองพล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ กับพวกรวม 88 ราย เป็นจำเลย มีความผิด 16 ข้อหา ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2546 ได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวี มาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา กรุงเทพ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558

โดยจำเลยเป็นคนสำคัญ เช่น นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ อดีตนายก อบจ. สตูล จำเลยที่ 29  พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก จำเลยที่ 54 รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนจำนวนหนึ่ง และ จำเลยรายอื่นๆ ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกระทำกันเป็นขบวนการ

ในคดีนี้ เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวน พล.ต.ต.ปวีณ พงษ์สิรินทร์ได้ขอลี้ภัยไปอยู่ในประเทศออสเตรเลีย โดยได้กล่าวอ้างว่า ถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องต้องคดีข่มขู่เอาชีวิต จึงต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อความปลอดภัย สร้างความกังวลใจให้กับองค์กรต่างๆ

ความกังวลต่อการสืบพยานโจทก์ปากสำคัญ

ในเรื่องนี้ เอมี่ สมิธ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กร Fortify Rights ได้กล่าวแสดงความกังวลต่อการที่พยานโจทก์ปากสำคัญ เช่น พล.ต.ต.ปวีณ พงษ์สิรินทร์ ต้องหนีออกนอกประเทศ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย นอกจากนั้นพยานรายอื่นๆ ยังได้แสดงความหวาดกลัว และยังไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ

“เราได้พูดคุยกับพยานคนอื่นๆ ที่มีความกลัว ซึ่งเราคิดว่ามีเหตุผล พยานในคดีให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อนายทหารของกองทัพบก กองทัพเรือ ตำรวจ และ กอ.รมน. รวมทั้งคนอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังไม่ได้ให้การคุ้มกันพยานให้ดีเพียงพอ” เอมี่ สมิธ กล่าว

ในขณะนี้ ยังมีชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศรวม 400 ราย ที่ยังอยู่ในศูนย์กักกัน หรือในศูนย์ให้ความช่วยเหลือ ในจังหวัดต่างๆ เช่น พังงา อำเภอรัตภูมิ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นต้น ซึ่งเอมี่ สมิธ ได้กล่าวว่า สถานที่กักกันบางแห่งมีสภาพแออัดและขาดการไหลเวียนของอากาศ ในบางกรณีสมาชิกของคนในครอบครัวเดียวกันต้องแยกกันอยู่ และที่สำคัญที่สุด คือการไม่มีอนาคตที่แน่นอน ประเทศไทยสามารถที่จะช่วยลบล้างฝันร้ายของชาวโรฮิงญาด้วยการให้การคุ้มครองดูแลที่เหมาะสมได้

เมื่อปลายปีที่แล้ว ศาลอาญากรุงเทพเหนือได้ประชุมสรุปสำนวน เนื่องจากมีพยานโจทก์ และผู้ต้องหาจำนวนมากที่ต้องทำการสืบกว่า 400 ปาก ศาลได้กำหนดการเริ่มพิจารณาคดีการค้ามนุษย์โรฮิงญา อย่างเป็นทางการไว้คร่าวๆ โดยจะเริ่มในเดือนมีนาคม 2559 ไปจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง