ประเทศในเอเชียแปซิฟิกให้คำมั่นมุ่งลดจำนวนคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และ ภิมุข รักขนาม
2019.05.31
กรุงเทพฯ
190531-TH-stateless-620.jpg เด็ก ๆ ชาวโรฮิงญาร้องตะโกนคำขวัญที่ค่ายผู้อพยพอุนชิปราง ใกล้กับเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ในบังคลาเทศ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561
เอพี

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 10:00 a.m. ET 2019-06-03

ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้คำมั่นในการหารือที่กรุงเทพ เมื่อวันศุกร์ ที่จะแก้ไขปัญหาบุคคลไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาค โดยผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมาย

ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่าในเอเชีย มีคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติอยู่มากกว่า 10 ล้านคน อย่างเช่น กลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญา ในเมียนมาร์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน

แถลงการณ์ของ ยูเอ็นเอชซีอาร์ อันเป็นหน่วยงานช่วยเหลือผู้อพยพของสหประชาชาติ ระบุว่าตัวแทนรัฐบาลจาก 16 ประเทศในเอเชีย “ได้ให้คำมั่นที่จะออกมาตรการเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ”

ยูเอ็นเอชซีอาร์ยังได้ระบุอีกว่า “หลายประเทศได้ให้คำมั่นที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหา รวมทั้งออกมาตรการเพื่อให้มีการลงทะเบียนระบุสัญชาติอย่างทั่วถึง โดยมีเป้าหมาย คือกลุ่มประชากรที่อยู่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก  และอีกหลายประเทศก็จะเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบที่เกี่ยวพันถึงภาวะไร้สัญชาติในเด็ก ๆ”

โดยปกติแล้ว กลุ่มคนที่ไม่ได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองของประเทศใดโดยข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ก็จะกลายเป็นพวกไร้สัญชาติไปโดยปริยาย

ประเทศในแถบนี้เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่

แครอล แบทชเลอร์ ที่ปรึกษาพิเศษของยูเอ็นเอชซีอาร์ด้านภาวะไร้รัฐ/ไร้สัญชาติกล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่ฉันรู้สึกได้ในวันนี้ก็คือ หลายประเทศออกมาบอกว่า จะไม่ให้เด็ก ๆ ในเขตแดนของพวกเขาต้องเป็นบุคคลไร้สัญชาติอีกต่อไป”

หลังการประชุมในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ก็จะมีการหารือใหญ่ในเจนีวาช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ ที่จะมีประเทศจากทั่วโลกมาร่วม โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ระยะเวลา 10 ปี ของยูเอ็นเอชซีอาร์ ภายใต้ชื่อว่า #IBelong Campaign to End Statelessness (#ฉันมีถิ่นฐาน เพื่อหยุดภาวะไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ)

เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติชี้ว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการนี้เมื่อกว่า 4 ปีก่อน รัฐบาลต่าง ๆ ก็เดินหน้าแก้ไขปัญหาเพื่อลดภาวะไร้สัญชาติอย่างรวดเร็ว

ในภูมิภาคนี้ เรารู้มาว่า มีคนอย่างน้อย 50,000 คนได้รับสัญชาติแล้ว ก่อนหน้าที่มีโครงการที่ออกมา 4 ปีแล้วนี้ พวกเขาเป็นคนไร้สัญชาติ นี่เป็นตัวอย่างของความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น” แคโรลีน กลัค โฆษกของยูเอ็นเอชซีอาร์กล่าวกับเบนาร์นิวส์

เจลวาส มูเซา เจ้าหน้าอาวุโสด้านการคุ้มครองสิทธิ (กลุ่มคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ) ของยูเอ็นเอชซีอาร์บอกว่า อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาก็คือ การเข้าใจปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่มักสับสนระหว่างภาวะไร้สัญชาติกับผู้อพยพ

“ผู้อพยพไม่ใช่พวกไร้สัญชาติ พวกเขามีสัญชาติ ซึ่งก็คือ สัญชาติของประเทศที่เขาจากมา และในอนาคตพวกเขาก็จะกลับคืนประเทศบ้านเกิด แต่ภาวะไร้สัญชาตินั้นต่างออกไป เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ผมว่าประเทศต่าง ๆ ก็จะกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหานี้” เจลวาสกล่าวกับเบนาร์นิวส์ "ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่อาศัยในบังคลาเทศถือเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากเป็นทั้งผู้ลี้ภัยและไร้รัฐ/สัญชาติ"

ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 ที่หนีตายออกมาจากการถูกปราบปราม ในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ ช่วงปี 2560 กลายเป็นผู้อพยพในบังกลาเทศ ขณะที่ก็ยังมีโรฮิงญาอีกราว 800,000 ที่เป็นคนไร้สัญชาติอาศัยอยู่ในเมียนมาร์

ในประเทศไทย มีคนอีกหลายแสนไม่ได้มีสิทธิความเป็นพลเมืองจากรัฐใดรัฐหนึ่ง ในจำนวนนี้รวมกลุ่มชนเผ่าซึ่งข้ามพรมแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมาร์ และลาว มาอาศัยอยู่ในไทยด้วย

ขณะที่ในมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ก็กำลังเผชิญกับปัญหาโรฮิงญาที่อยู่ในภาวะไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ และก็ยังมีกลุ่มเด็กจากไทยที่หนีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปอยู่ในมาเลเซีย ส่วนฟิลิปปินส์ก็มีคนไร้สัญชาติที่มาจากเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย

แครอล แบทชเลอร์ กล่าวว่าวิธีการหนึ่งที่สามารถลดจำนวนคนไร้สัญชาติ ก็คือประเทศต่าง ๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคนเหล่านี้ในฐานข้อมูลของตนเองให้กับประเทศอื่น

“ฉันคิดว่าหนทางขั้นต่อไปในการปรับปรุงฐานข้อมูลเหล่านี้ คือ จัดทำระบบกระบวนการที่จะใช้ตัดสินว่า บุคคลใด ถือเป็นบุคคลไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ” แบทชเลอร์ชี้ “หากว่าพวกเขาไม่ใช่คนในประเทศนั้น พวกเขาไม่มีสัญชาติใด ๆ ถ้าเช่นนั้น พวกเขาก็คงเป็นบุคคลไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ”

“ดังนั้นการที่มีกระบวนการเพื่อระบุตัวตน และบันทึกตัวเลข สถิติ หรือข้อมูลอื่น ๆ เอาไว้ เมื่อปัญหาถูกจำแนกให้เห็น ทางแก้ไขก็น่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยได้เป็นอย่างมาก หากยูเอ็นเอชซีอาร์และหน่วยงานอื่น ๆ จะปรับปรุงระบบสถิติข้อมูลให้ดีขึ้น”

“เป็นช่วงหนึ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต”

ในการประชุมที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ หญิงสาววัย 18 ปี ซึ่งเพิ่งได้รับสถานะพลเมืองของไทย กล่าวต่อหน้าผู้แทน 16 ชาติที่มาว่า ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

น้ำผึ้ง ปัญญา เล่าว่าเธอสามารถเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อแข่งขันในงานแสดงด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมได้ หลังจากได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองไทย และมีเป้าหมายจะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป

ยูเอ็นเอชซีอาร์ระบุว่า เธอกล่าวต่อหน้าที่ประชุมว่า “มันเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต”

บางกอกโพสต์รายงานว่า น้ำผึ้งเกิดในประเทศไทยและอาศัยอยู่ที่เชียงราย เธอไม่ได้รับสัญชาติ เพราะว่าพ่อแม่ของเธอเป็นชนกลุ่มน้อยไทยใหญ่ สืบเนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติอันเข้มงวดของไทย ไม่ได้ให้สัญชาติแก่เด็กที่เกิดในเขตแดนประเทศไทยโดยอัตโนมัติ

เมื่อกลางปีที่แล้ว กลุ่มเด็กและโค้ชฟุตบอลของพวกเขา ซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติได้กลายเป็นจุดสนใจจากคนเกือบทั่วโลก เมื่อพวกเขาและเพื่อนร่วมทีมรวม 13 คน เข้าไปติดในถ้ำลึกในจังหวัดเชียงรายเป็นเวลานานกว่าสองสัปดาห์ ทำให้กลุ่มผู้ปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัย ทั้งจากไทยและนานาชาติต้องทุ่มกำลังเข้าไปช่วยเด็กจากทีมหมูป่าและโค้ชของพวกเขา จนรอดชีวิตออกมาจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนที่ถูกน้ำท่วมปิดทางเข้าออก

และไม่นานนัก ชาวโลกก็ได้รับรู้ว่าโค้ชและเด็กสามคนในกลุ่มนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคนเกือบครึ่งล้าน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไร้สัญชาติ

หลังจากพวกเขาออกมาจากถ้ำได้ไม่ถึงเดือน รัฐบาลไทยก็ตัดสินใจให้สิทธิการเป็นพลเมืองแก่โค้ชและเด็กสามคน สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ทั้งหมดเกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติ อันเนื่องมาจากข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติสัญชาติ

นางเตือนใจ ดีเทศน์ หนึ่งในกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเข้าร่วมการประชุม กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังจัดทำทะเบียนของคนเหล่านี้ แต่กำลังคนที่จะทำงานมีจำกัด

“เราขึ้นทะเบียนคนไร้สัญชาติตั้ง 500,000 กว่าคนแล้ว แต่ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่มีแค่นี้ มันก็ไม่ได้ วันหนึ่งสอบปากคำ บันทึก และคำร้อง ซึ่งต้องมีนำ้หนัก น่าเชื่อถือ ทำได้กี่ราย เช่น บางอำเภอในเชียงราย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน อ.แม่สาย เป็นหลายพัน หรือ เป็นหมื่นเคส แต่เจ้าหน้าที่มีอยู่นิดเดียว”

ปรากฏการณ์ที่กำลังขยายตัว

ในประเทศใกล้เคียงอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ต่างกำลังเผชิญกับปัญหาของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติด้วยเช่นกัน

เมื่อหลายทศวรรษก่อน ประชากรอินโดนีเซียกลุ่มหนึ่งล่องเรือจากจังหวัดสุลาเวสีเหนือ ไปยังส่วนที่ไม่ค่อยมีใครไปถึงนักของเกาะมินดาเนา อันเป็นดินแดนของฟิลิปปินส์ ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นคนไร้ทะเบียนและตกอยู่ในภาวะไร้สัญชาติ ผลคือไม่สามารถจะกลับบ้านเกิดได้

ในปี 2561 กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียประกาศว่าได้ออกพาสปอร์ตนับพันฉบับให้กับคนอินโดนีเซีย หรือลูกครึ่งอินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ เพื่อให้พวกเขากลับมายังบ้านเกิดได้

อะโดนิส พี ซูลิต เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์กล่าวว่า ประเทศของเขาไม่มีกฎหมายเฉพาะที่กล่าวถึงภาวะไร้สัญชาติ ก็จึงต้องเอาประเด็นไปหารือกับอินโดนีเซีย  และเขายังได้แนะนำประเทศอื่นที่มีปัญหาเช่นนี้ว่าอาจใช้วิธีเดียวกัน

“มันจะช่วยได้มาก หากว่าคุณมีเจ้าหน้าที่สักคน หรือกลุ่มงาน หรือแม้แต่สำนักงานที่ดูแลเรื่องไร้สัญชาติโดยตรง” เขากล่าวในที่ประชุมที่กรุงเทพ ฯ “เราสามารถลดจำนวนคนไร้สัญชาติลงไปได้จากการทำงานร่วมกับอินโดนีเซีย”

ฟิลิปปินส์สามารถที่จะจัดระเบียบคนไร้สัญชาติกลุ่มใหญ่ ขณะที่อินโดนีเซียก็ใช้วิธีเดียวกันกับคนอีกกลุ่ม ทำให้หนึ่งในสามของคนเหล่านี้ได้รับสิทธิความเป็นพลเมือง

ในปี 2559 เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยเดินทางไปยังมาเลเซีย เพื่อหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเด็กไร้สัญชาติที่พ่อแม่หนีจากเหตุการณ์รุนแรง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย เข้าไปอาศัยในมาเลเซีย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดเผยว่า มีคนกลุ่มนี้จำนวนกี่คนที่จะได้รับการช่วยเหลือจากการเจรจาสันติสุขระหว่างไทยกับมาเลเซีย

ทางฝ่ายมาเลเซียเองก็มีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน รัฐบาลได้ออกประกาศว่าเด็กที่มาเกิดในมาเลเซียก็ย่อมต้องได้สัญชาติมาเลย์ ในกรณีที่สิทธิการเป็นพลเมืองของประเทศที่จากมาไม่ได้ส่งผ่านไปยังลูก ๆ ของพวกเขาโดยอัตโนมัติ

ภาวะไร้สัญชาติตั้งแต่เยาว์วัยนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ อย่างเช่น เกิดจากพ่อแม่ที่ไร้สัญชาติ ไม่ได้ลงทะเบียนตั้งแต่เกิด การโยกย้ายถิ่น ตลอดจนระเบียบที่เลือกปฏิบัติต่อเพศหญิงที่ทำให้ผู้หญิงบางกลุ่มไม่สามารถถ่ายโอนสัญชาติให้แก่ลูก ๆ ของพวกเธอได้

*เพิ่มเติมข้อมูล จากการสัมภาษณ์ นายเจลวาส มูเซา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง