พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.06.05
กรุงเทพฯ
190605-TH-parliament-1000.jpg สมาชิกสภาที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ยกมืออนุมัติการแต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คนต่อไปในระหว่างการลงคะแนนเสียงให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ อาคารทีโอที (อาคารรัฐสภาชั่วคราว) กรุงเทพฯ วันที่ 5 มิถุนายน 2562
เอพี

ในวันพุธนี้ ที่ประชุมรัฐสภา ได้ลงคะแนนเสียงให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย หลังจากที่ประเทศผ่านการรัฐประหารและอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารเป็นเวลากว่าห้าปี

ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าประชุม 497 คน (ยกเว้นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่โดนห้ามปฏิบัติหน้าที่เพราะมีคดีคั่งค้าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออก และ สส.อีกหนึ่งรายที่ลาป่วย) และ วุฒิสมาชิก 250 คน โหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ด้วยคะแนนเสียง 500 เสียง ในขณะที่นายธนาธร ที่เจ็ดพรรคต้านทหารเสนอชื่อ ได้คะแนนเสียง 244 คะแนน โดยประธานรัฐสภาและรองประธาน และ สส.พรรคภูมิใจไทย งดออกเสียงรวมสามราย

“ตามกฎหมายถือว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว จึงถือได้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับเลือกตั้งตามมติรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี” นายชวน หลีกภัย ประธานสภา กล่าวหลังการโหวตเสร็จสิ้นลง ซึ่งประธานสภาจะนำชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เสนอทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยต่อไป

พล.อ. ประยุทธ์ ผู้นำรัฐประหารรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศ ได้รับการไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 30 อีกหนึ่งสมัย

ในวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามปกติ และได้เดินทางกลับบ้านพัก หลังเสร็จสิ้นภารกิจเมื่อเวลาสี่โมงครึ่ง สื่อมวลชนรายงาน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โบกมือให้สื่อมวลชนที่มารอทำข่าว ก่อนออกจากทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ตอนเย็นวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562 (เอพี)
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โบกมือให้สื่อมวลชนที่มารอทำข่าว ก่อนออกจากทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ตอนเย็นวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562 (เอพี)

หลังทราบผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงข่าวกล่าวโทษ คสช.

"พวกเราทำภารกิจไม่สำเร็จ พวกเราหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ คสช. ไม่ได้ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ วันนี้ ไม่ได้พ่ายแพ้ แต่ชัยชนะของเราถูกปล้นไป... การเลือกตั้งครั้งนี้ บอกตลอดมาว่าเป็นเพียงสมรภูมิหนึ่งในการเดินทางอีกยาวไกล" นายธนาธร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ด้านนายฐิติพล ภักดีวานิช คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ทัศนะว่า รัฐบาลจะมีเสถียรภาพเพียงพอ

“ผมว่า เสถียรภาพไม่น่าจะมีปัญหา เพราะพรรคร่วมต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเอง การอยู่ด้วยกันการประณีประนอม น่าจะอยู่ได้อย่างน้อย 2 ปี ณ ตอนนี้ ถึงไม่มี ม. 44 ผมคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์จะมีมากขึ้น แต่การใช้อำนาจก็ไม่น่าเปลี่ยนแปลงจากเดิม เพราะว่าก็ยังมีกองทัพเป็นแบ็คอยู่” นายฐิติพล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ประเด็น ต่างชาติๆ หลายๆ ประเทศ ก็ประณีประนอมในแง่ธุรกิจ มีผลประโยชน์ร่วมกับไทย ก็ยังมีในหลายประเทศ แต่ยังมีเสียงที่ไม่ได้ไฟเขียวให้รัฐบาลเป็นเผด็จการได้เต็มที่ แต่แรงกดดันน่าจะไม่มาก เพราะเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งเป็นการฟอกขาวให้กับรัฐบาลแล้ว” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

อภิปรายคู่ชิงนายกฯ ก่อนโหวต

การอภิปรายใช้เวลานานร่วม 11 ชั่วโมง ก่อนสมาชิกสภาจะเริ่มลงคะแนนโหวตในช่วงสุดท้าย และเสร็จสิ้นก่อนเวลาเที่ยงคืนในวันเดียวกัน

โดยในตอนก่อนเที่ยงวัน รัฐสภาได้ให้สมาชิกเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อหัวหน้าพรรค คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก่อนที่จะมีการอภิปรายว่า มีลักษณะต้องห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติ 8 ประการ ที่มีประการสำคัญ เช่น มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นต้น

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะความสงบเรียบร้อยแห่งชาติด้วย ที่ได้ตำแหน่งมาจากการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และตั้งตนเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ใช้ประกาศ และคำสั่ง หัวหน้า คสช. แทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องด้วยกฎหมาย

“เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 คือ ความผิดฐานกบฏ ฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ โทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต แสดงให้เห็นเองว่า พลเอก ประยุทธ์ ไม่ได้ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย... ดังนั้น ขอความกรุณางดออกเสียงเลือก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี” นายปิยบุตร กล่าวต่อสภา

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ วุฒิสมาชิก ได้กล่าวแย้งเพื่อปกป้อง พลเอก ประยุทธ์ ว่าในช่วงที่ก่อนรัฐประหาร บ้านเมืองมีความแตกแยก กระทบความผาสุกของพี่น้องประชาชน และปัญหาบ้านเมืองที่ผ่านมาไม่ได้มาจากรัฐประหาร แต่มาจากฝ่ายการเมืองเอง

“ท่านพลเอก ประยุทธ์ กระทำขัดจริยธรรม? ท่านไม่ได้กระทำอะไรเลย สิ่งที่ท่านทำในช่วงที่ผ่านมา เป็นการแก้ไขวิกฤตของประเทศ มันเกิดขึ้นจากปัจจัยของประเทศ ที่ทำให้เกิดเรื่องเหล่านั้น” นายเสรี กล่าว

“สิ่งที่ท่านกล่าวหาผมว่าผมนิยมเผด็จการ ผมนิยมเผด็จการประชาธิปไตย แต่ไม่ได้นิยมพวกประชาธิปไตยจอมปลอมครับท่านประธาน” นายเสรีกล่าวเพิ่มเติม

ผู้นำพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวกับสื่อมวลชน ก่อนการลงคะแนนเสียงในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในกรุงเทพฯ วันที่ 5 มิถุนายน 2562 (เอเอฟพี)
ผู้นำพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวกับสื่อมวลชน ก่อนการลงคะแนนเสียงในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในกรุงเทพฯ วันที่ 5 มิถุนายน 2562 (เอเอฟพี)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง