เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าว รัฐบาลไทยพร้อมพูดคุยกับฝ่ายกลุ่มโจรแบ่งแยกดินแดน

โดย เบนาร์นิวส์
2015.03.06
TH-toyib-620-March2015 แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น นายฮัซซัน บิน ตอยิบ แถลงแก่ผู้สื่อข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2513
เอเอฟพี

เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กล่าวในวันพฤหัสบดีว่า ทางรัฐบาลไทยมีความพร้อมจะเข้าร่วมการพูดคุยรอบใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่จะมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ช่วยประสานงานแล้ว เพียงแต่รอขั้นตอนการเตรียมงานทางธุรการเท่านั้น

“ทางการไทยพร้อมแล้วที่พูดคุยกับผู้เห็นต่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่ยังไม่สามารถกำหนดวันเวลาได้ เพราะกำลังพูดคุยตกลงกันในเรื่องธุรการ และการประสานงานในชั้นต้นกับทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นไปอย่างไม่เปิดเผย” พลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ต่อเบนานิวส์

พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเจรจาของทั้งกระบวนการจะมี 3 ระยะ คือ การติดต่อกันทั้งระดับรัฐต่อรัฐ ระดับแกนนำขบวนการ และระดับปฏิบัติการ โดยเราต้องคุยจากระดับบนไปล่าง ไม่เช่นนั้น ระดับปฏิบัติการก็ย่อมเกรงว่าจะโดนจับกุมหากออกมาพบเจ้าหน้าที่ โดยไม่ได้มีการพูดคุยของระดับบนมาก่อน”

“การพูดคุยครั้งหน้า จะจัดให้มีขึ้นในประเทศมาเลเซียเหมือนสองครั้งที่ผ่านมา โดยมีมาเลเชียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยกัน”
พล.ต.นักรบกล่าวว่า การเคลื่อนไหวทั้งหมดในภาคใต้เป็นขบวนการที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งในสามจังหวัด ไม่ได้แยกกันปฏิบัติการเป็นหน่วยอิสระอย่างที่มีนักวิเคราะห์บางท่านกล่าวไว้

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองกำลังรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ ส่วนหน้า กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เหตุการณ์คาร์บอมบ์ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 20 ได้ทำลายความไว้ใจระหว่างกันที่จำเป็นต่อความพยายาม เพื่อการเจรจาลงไป

“การสร้างความเชื่อมั่นเป็นมาตรการที่เราพยายามทำอยู่แล้ว แต่บางครั้งมันเหมือนก่อเจดีย์ทรายครับ เราทำขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง เวลาเขาสร้างเหตุรุนแรงด้วยการระเบิดนี่ ความเชื่อมั่นมันก็ลดลงไปเป็นธรรมดา” พันเอกปราโมทย์ กล่าว

เหตุการณ์คาร์บอมบ์ใกล้ร้านคาราโอเกะ ในจังหวัดนราธิวาส ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 17 ราย และมีสิ่งปลูกสร้างในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหาย

แกนนำอุดมการณ์ของขบวนการ

ในปี 2013 รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ไม่ได้คุยกับแกนนำที่มีอำนาจตัดสินใจจริงๆ ผู้สันทัดกรณีท่านหนึ่งกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า หนึ่งแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นที่ร่วมเจรจาครั้งนั้น คือ นายฮัซซัน บิน ตอยิบ ที่เข้าร่วมประชุมพร้อมกับพรรคพวกอีกสามคน ไม่ถือว่าเป็นแกนนำที่มีศักยภาพที่จะออกคำสั่งต่อกองกำลังที่เคลื่อนไหวอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยได้

ส่วนการเจรจานั้นในคราวถัดไปนั้น พลโทนันทเดช ให้ทรรศนะว่า ควรให้ความสำคัญต่อแกนนำที่ยังมีบารมีในกลุ่มเคลื่อนไหว เช่น นายสะแปอิง บาซอ และนายมาแซ อูเซ็ง และควรพูดคุยกับระดับผู้ปฏิบัติการมากขึ้น ทั้งนี้ นายสะแปอิง บาซอ และนายมาแซ อูเซ็ง ได้หลบหนีไปอยู่ประเทศมาเลเซียเมื่อหลายปีก่อน

“กลุ่มโจรเชิงอุดมการณ์ มีหัวเรือใหญ่ คือ คุณสะแปอิง บาซอ ถึงแม้ว่าจะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมีอิทธิพลครอบคลุมมายังลูกศิษย์ลูกหา ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศไทย กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มโจรที่รับจ้างเคลื่อนไหว อันนี้ เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นรู้ดีว่าเป็นใคร และก็พร้อมที่จะเจรจา แต่ยังติดปัญหาเรื่องคดีอาญาบ้าง คดีอื่นๆ บ้าง” พลโทนันทเดชกล่าว

ขยายกลุ่มผู้มีส่วนเจรจาให้กว้างขึ้น

ทางด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้กล่าวว่า การเจรจาใดๆ ควรให้กลุ่มต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ทั้งกลุ่มกองกำลังในพื้นที่ กลุ่มประชาสังคม และผู้หญิง เพราะที่ผ่านๆมามีการพูดคุยกันแต่เฉพาะระดับแกนนำเท่านั้น

“ปกติจะมีการพูดคุยกับระดับแกนนำ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเพราะว่าไม่รู้ว่าเป็นบุคคลที่สามารถควบคุมกลไกการเคลื่อนไหวได้จริงหรือไม่ รัฐบาลควรทำงานร่วมกับกองกำลังในพื้นที่ รัฐบาลมีข้อมูลเยอะ แต่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มล่อแหลมด้วย” นางอังคณา กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง