ผบ.เรือนจำนราฯ นำสื่อเยือน "เรือนจำสีขาว" รับรอมฎอน

รพี มามะ
2017.05.29
นราธิวาส
TH-prisoners1-1000

ผู้ต้องขังเหลือโทษไม่เกิน 6 เดือน พบญาติเป็นกรณีพิเศษ ที่ศาลาเยี่ยมญาติ ด้านในเรือนจำ วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 (เบนาร์นิวส์/รพี มามะ)

TH-prisoners2-1000

นายวิมล มิตรปล้อง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวนำสื่อมวลชนในการเยี่ยมชมเรือนจำฯ วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 (เบนาร์นิวส์/รพี มามะ)

TH-prisoners3-1000

นายนัจมุดีน อูมา อดีต สส.จังหวัดนราธิวาส (สวมเสื้อลายสีเหลือง) นำกลุ่มประชาสังคม มอบเครื่องอุปโภค บริโภค ทั้งอินทผาลัม น้ำดื่ม แก่ผู้ต้องขังในเดือนถือศีลอด วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 (เบนาร์นิวส์/รพี มามะ)

TH-prisoners4-1000

ผู้ต้องขังชายรับการอบรมวินัยที่ลานอเนกประสงค์ เรือนจำจังหวัดนราธิวาส วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 (เบนาร์นิวส์/รพี มามะ)

TH-prisoners5-1000

ผู้ต้องขังชายรับการฝึกสอนทักษะวิชาชีพการถักอวน จากกองช่าง วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 (เบนาร์นิวส์/รพี มามะ)

TH-prisoners6-1000

ผู้ต้องขังชายออกกายบริหาร เรือนจำจังหวัดนราธิวาส วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 (เบนาร์นิวส์/รพี มามะ)

TH-prisoners7-1000

ผู้นำศาสนาบรรยายธรรมในเรือนจำ ก่อนเข้าเดือนรอมฎอน วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 (เบนาร์นิวส์/รพี มามะ)

นายวิมล มิตรปล้อง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เปิดเรือนจำจังหวัดนราธิวาส นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมอาคารสถานที่ สภาพความเป็นอยู่ รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำแดนชายและหญิง ที่เข้าร่วมโครงการเรือนจำสีขาว ซึ่งมีการปรับปรุงสภาพ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและจิตใจแจ่มใส และลดความตึงเครียดของผู้ต้องขัง เพื่อต้อนรับเดือนรอมฎอนของชาวไทยมุสลิม

เรือนจำจังหวัดนราธิวาสได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงยุติธรรม ร่วมโครงการเรือนจำสีขาว เรือนจำปลอด"ยาเสพติด และ โทรศัพท์มือถือ" สิ่งผิดกฎหมายและต้องห้ามในเรือนจำ และล่าสุดได้กำจัดอย่างหมดสิ้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 2560 โดยรัฐบาลชุดนี้ได้เพิ่มบทบัญญัติกฏหมาย หากผู้ต้องขังมีโทรศัพท์ในครอบครองในเรือนจำจะถูกปรับ 1 แสนบาท และจำคุกเพิ่มอีก 1 ปี

ลานเอนกประสงค์ จุดแรกในการเยี่ยมชม เป็นจุดที่ใช้เป็นสถานที่รวมพล ออกกำลังกาย รับประทานอาหาร และจัดระเบียบวินัย ของผู้ต้องขังชาย ต่อมาคือโรงครัวฮาลาล มีพ่อครัวเป็นผู้ต้องขัง มีการประกอบอาหารฮาลาลที่สะอาด ถูกสุขอนามัย ตามหลักศาสนาอิสลาม

ทั้งมีเรือนพักให้ผู้ต้องขังชาวมุสลิมสามารถใช้ปฎิบัติศาสนากิจ และทำพิธีละหมาด ส่วนเรือนนอนของผู้ต้องขังชาย ถูกจัดแยกตามคดีสำคัญ โดยแยกห้องนอนเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง อาทิ คดีวางระเบิด คดียิง และอื่นๆเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ ส่วนผู้ต้องขังในคดียาเสพติด และคดีทั่วไป ใช้ห้องนอนรวม ซึ่งมีสภาพค่อนข้างแออัด โดยอยู่รวมกันจาก 60-180 คน ต่อห้อง

ส่วนผู้ต้องขังหญิง มีจำนวนน้อยกว่าชาย ส่วนใหญ่ต้องโทษในคดีทั่วไป ส่วนหนึ่งมีหน้าที่ทำอาหารและทำกับข้าวขายในเรือนจำ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ต่อวันเฉลี่ย 35,000-37,000 บาท รายได้ที่ได้มา ทางเรือนจำได้นำมาใช้จุนเจือในเรื่องของเครื่องอุปโภคและบริโภคแก่ผู้ต้องขังอีกทางหนึ่ง

นายวิมล มิตรปล้อง กล่าวว่า เรือนจำจังหวัดนราธิวาสตั้งอยู่บนเนื้อที่ 4 ไร่เศษ ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีผู้ต้องขังรวมทั้งสิ้น 1600 คน คดียาเสพติดและคดีทั่วไป 85 เปอร์เซ็นต์ และมีนักโทษก่อเหตุรุนแรง หรือคดีความมั่นคงทั้งหมด 68 คน แต่ละสัปดาห์ มีการจัดกิจกรรมให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ อาทิ จัดให้มีการบรรยายธรรมให้ความรู้ในทางศาสนา จัดกองช่างฝึกสอนวิชาชีพเสริม เช่น ช่างถักอวน ช่างปูน ช่างไม้ และช่างเชื่อม โดยผู้คุมต้องเคร่งครัดในจุดนี้ ห้ามมีการนำวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเล็ดลอดออกจากจุดกองช่าง เพราะอาจถูกนำมาดัดแปลงเป็นอาวุธได้

ในส่วนผู้ต้องหาคดีความมั่นคง อยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบปัญหาที่นำความเดือดร้อนมาสู่เรือนจำ

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังชาย ในคดีความมั่นคงรายหนึ่ง ซึ่งต้องโทษไม่น้อยกว่า 15 ปี กล่าวว่า ในเรือนจำปัจจุบัน การดูแลเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ดีขึ้น นักโทษอาจมีความเครียดบ้าง แต่ไม่ถึงกับรุนแรง ส่วนนักโทษคดีความมั่นคง สามารถใช้ชีวิตร่วมกับนักโทษอื่นๆอย่างปกติ เพียงแต่เวลานอนจะถูกให้แยกนอน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง