ความหวังริบหรี่ต่อความคืบหน้าในการเจรจาของทูตพิเศษอาเซียนกับเมียนมา

บทความพิเศษแก่เบนาร์นิวส์
2021.08.11
ความหวังริบหรี่ต่อความคืบหน้าในการเจรจาของทูตพิเศษอาเซียนกับเมียนมา นายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศลำดับที่สองของบรูไน กล่าวสุนทรพจน์ ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 74 ณ สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก วันที่ 30 กันยายน 2019
เอพี

บรรดาผู้แทนฝ่ายค้านและนักวิเคราะห์การเมืองในเมียนมาต่างกล่าวกันว่า ตนแทบจะมองไม่เห็นความหวังที่จะเกิดความคืบหน้าในการแก้ไขวิกฤตของเมียนมาเลย ในการเจรจาที่คาดว่าจะมีขึ้นระหว่างผู้นำรัฐบาลทหาร ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และทูตพิเศษจากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

นายเอรีวัน ยูซอฟ นักการทูตระดับสูงของบรูไน ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม โดย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน กล่าวว่า เขาจะยืนกรานที่จะพบกับสมาชิกที่ถูกคุมขังอยู่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี - National League for Democracy) ซึ่งถูกโค่นล้มและจับกุมตัว หลังจากที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

เขายังไม่ได้ประกาศกำหนดการเดินทางไปเยือนเมียนมา โดยอ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องปรึกษากับประเทศอื่น ๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่น ๆ เกี่ยวกับเหตุความรุนแรงหลังการรัฐประหารในเมียนมา และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมก่อน

ขณะนี้ นายเอรีวัน ยูซอฟ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อเกี่ยวกับเมียนมา ซึ่งอาเซียนได้ตกลงกันไว้ในระหว่างการประชุมสุดยอดวาระพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนในกรุงจาการ์ตา ฉันทามติดังกล่าวกำหนดให้มีการแต่งตั้งทูตพิเศษขึ้น การจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การยุติความรุนแรง การเจรจาระหว่างทุกฝ่าย และการให้ทูตพิเศษเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย

สมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการกลางของ เอ็นแอลดี ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนาม กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เขาดีใจที่อาเซียนจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในวิกฤตหลังรัฐประหาร แต่แสดงความกังวลว่ารัฐบาลทหารเพียงต้องการใช้อาเซียนเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่เราเป็นกังวลคือ รัฐบาลทหารจะใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นหนทางในการถ่วงเวลา และพยายามให้ตนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ” สมาชิกคนดังกล่าวของ เอ็นแอลดี กล่าว “และหากเป็นเช่นนั้นจริง ๆ แล้วล่ะก็ ผู้นำปัจจุบันของอาเซียนจะเป็นที่ชังน้ำหน้าของคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต [ในประเทศเรา]”

นี่จะเป็นโอกาสสำหรับอาเซียนในการยกศักดิ์ศรีของตน หากอาเซียนประสบความสำเร็จในการจัดการให้มีการพบปะกับนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผู้ที่ประชาชนชาวเมียนมาให้ความไว้วางใจและเคารพนับถือ ในฐานะผู้นำที่ไม่มีใครมาแทนที่ได้” เขากล่าว

นายเอรีวันอาจพบว่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย อาจไม่ยอมให้เขาพบกับนางอองซาน ซูจี หรือสมาชิกคนอื่น ๆ ของเอ็นแอลดี ซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ หรืออยู่ในระหว่างถูกพิจารณาคดี ในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา แหล่งข่าวอื่น ๆ กล่าว

พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ไม่มีเจตนาที่จะเจรจาด้วย” ทัน โซ เนง นักวิเคราะห์การเมืองคนหนึ่งในเมียนมา กล่าว

ทูตพิเศษ “อาจขออนุญาตพบกับนางอองซาน ซูจี และอาจบอกว่าเขาต้องการพบบุคคลสำคัญคนอื่น ๆ ด้วย แต่กองทัพจะปฏิเสธคำขอของเขา” เขากล่าว โดยเสริมว่า “เขาเป็นเพียงผู้แทนจากอาเซียนเท่านั้น”

เขาอาจบอกว่า โปรดหยุด [ความรุนแรง] แต่จะไม่มีการทำตามคำขอนั้น” เขากล่าว

โอกาสในการเจรจาให้ก่อประโยชน์

อาเซียน ซึ่งปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก จะไม่มีวันสามารถแก้ไขวิกฤตการเมืองของเมียนมาได้ ทัน โซ เนง กล่าว

“จะมีชื่อใครบ้างอยู่ในรายชื่อผู้แทนอาเซียนที่สามารถเข้าพบ” สาย เลียก เลขาธิการใหญ่ของสันนิบาตรัฐฉานแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ในรัฐฉานของเมียนมา ถาม “จะมีการยอมให้นางอองซาน ซูจี และ [อดีตประธานาธิบดีเมียนมา] นายวิน มินต์ พบกับเขาหรือเปล่า เขาจะได้พบกับกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ หรือไม่”

จะมีโอกาสเจรจาที่เป็นประโยชน์ได้ ก็ต่อเมื่อเขาได้รับโอกาสให้พบกับบุคคลเหล่านี้ทั้งหมดเท่านั้น แต่น่าสงสัยว่า ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่” เขากล่าว

ถ้าเขาเพียงแต่พบกับผู้นำทหารที่ถูกคัดเลือกมาโดย พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เท่านั้น และกลับออกมาจากเมียนมา ทั้งหมดนี้ก็จะไร้ความหมาย ชาวเมียนมาจะไม่ได้รับสิ่งที่ตนต้องการ และกระบวนการไกล่เกลี่ยจะยิ่งทำให้อำนาจของรัฐบาลทหารมีความแข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น”

ผู้นำทหารเมียนมาได้ยอมรับ นายเอรีวัน ยูซอฟ แล้วในฐานะทูตพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งจากอาเซียน และเขาจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเมียนมาได้ เนง สวี อู ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาเทนินกา สถาบันวิเคราะห์นโยบายแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งสนับสนุนทหาร กล่าว

เขาจะจัดการเจรจากับผู้นำรัฐบาล แต่กระบวนการเจรจาจะต้องเป็นไปตามแผนและแนวทางที่กำหนด โดยสภาบริหารแห่งรัฐ” เขากล่าวชื่อทางการของรัฐบาลทหาร

ผมไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในเรื่องนี้ อาจมีการเจรจาทางการเมือง แต่ผมไม่คิดว่าจะมีความคืบหน้ามากนัก” เนง สวี อู กล่าวเสริม

รัฐประหารในเมียนมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยกองทัพอ้างว่ามีการโกง ในการเลือกตั้งทั่วไป ที่ทำให้พรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

หากรัฐบาลทหารยังไม่แสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์คำกล่าวหานั้น และได้ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้กลับสู่การปกครองแบบพลเรือน ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และได้สังหารชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 962 คน ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

รายงานโดย เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาเมียนมา - สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง