อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ โควิดท่าขี้เหล็กอยู่ภายใต้การควบคุม

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.12.07
กรุงเทพฯ
อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ โควิดท่าขี้เหล็กอยู่ภายใต้การควบคุม ประชาชนเข้าแถว เพื่อใช้เจลทำความสะอาดมือ ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทรวงคมนาคม ณ จุดผ่านแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 29 ตุลาคม 2563
เอเอฟพี

นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในวันจันทร์นี้ว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถควบคุมการระบาดของโรคที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพนักงานสถานบันเทิงในท่าขี้เหล็กประเทศเมียนมา ซึ่งบางส่วนได้หลบหนีเข้าเมืองกลับมาตามช่องทางธรรมชาติได้เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่รายหลัง ๆ เข้ารับการตรวจโรคที่ศูนย์กักตัว รวมทั้งมีการสอบสวนโรคที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้านั้นเรียบร้อยแล้ว

โดยในวันเดียวกันนี้ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เดินทางเข้ามาจากท่าขี้เหล็กติดเชื้อในระบบ รวมแล้ว 38 ราย นับตั้งแต่ที่รายงานมาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน กระจายตัวไปใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย มากที่สุดถึง 26 ราย เชียงใหม่ 5 ราย กรุงเทพฯ 3 ราย ส่วนจังหวัด พะเยา พิจิตร ราชบุรี และสิงห์บุรี มีผู้ป่วยที่ละ 1 ราย

นายแพทย์โสภณ ยังระบุอีกว่า มีผู้ติดเชื้อ 2 ใน 38 ราย ที่ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศเมียนมา ซึ่งหมายถึงว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นภายในประเทศ 2 ราย โดยทั้งสองรายนั้น มีประวัติชัดเจนว่าอยู่ในสถานที่และเกี่ยวข้องกับคนที่ติดเชื้อมาก่อนหน้านี้

“จังหวัดเชียงราย เมื่อเช้ารายงานว่ามีผู้ป่วยทั้งหมด 20 ราย... และสักครู่มีการตรวจพบเชื้ออีก 6 ราย ทำให้ตัวเลขอัพเดทล่าสุดของจังหวัดเชียงรายอยู่ที่ 26 ราย” นายแพทย์โสภณ กล่าว

ซึ่ง นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิดยังไม่รุนแรง โดยยอดตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ในทุกวันนี้เป็นตัวเลขจากผู้ที่ได้รับการกักกันตัว ซึ่งผู้เดินทางส่วนใหญ่ผ่านระบบการกักตัวเพื่อตรวจโรค ขณะที่มีการติดต่อระหว่างคนในประเทศด้วยกันน้อยมาก

“ย้ำอีกทีนะครับ ในขณะนี้ ในจังหวัดเชียงราย เราคุมสถานการณ์ได้ มาตรการจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ... เรามีมาตรการให้คนไทยที่อยู่ที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ให้เข้ามาตามช่องทางที่ถูกกฎหมายและมาอยู่ที่ศูนย์กักตัวที่เชียงราย ที่เราเรียกว่า Local Quarantine จุดที่ทำให้เรากักตัวเขาและตรวจหาเชื้อได้” นพ. โอภาส กล่าวแก่สื่อมวลชนที่สภาความมั่นคงแห่งชาติในวันจันทร์นี้  

นพ.โอภาส ระบุว่า กลุ่มผู้ติดเชื้อที่กลับประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องในกลุ่มแรก ๆ นั้น ได้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ หรือกลับภูมิลำเนานั้น เช่น จังหวัดเชียงใหม่ พิจิตร ราชบุรี สิงห์บุรี และกรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้ นพ. โอภาส ได้กล่าว เจ้าหน้าที่ได้สอบสวนโรคในกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีทั้งความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูง และให้ทุกคนกักตัวเป็นเวลา 14 วัน อีกด้วยแล้ว

ในวันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อ 4,107 ราย (สองตัวเลขนี้ ยังไม่นับรวมอีก 6 ราย ที่ทางจังหวัดเชียงรายเพิ่งทราบผล หลังจากการแถลงรายวันในวันจันทร์นี้) และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 60 ราย

ด้าน นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แถลงถึงรายละเอียดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของวันนี้ 6 ราย ว่าอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ เป็นเพศหญิงทั้งหมด เดินทางมาจากท่าขี้เหล็ก โดย 4 ใน 6 ราย มาจากสถานบันเทิง 1G1 ส่วนอีก 2 ราย มาจากสถานบันเทิงคนละแห่งกัน ทั้งนี้ มีผู้ถูกกักตัวในสถานกักตัวของรัฐ รวม 158 ราย

“ในจำนวนนี้เป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวน 17 ราย และถูกจับได้ นำมากักตัวไว้ และมีผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลอีก 26 ราย ซึ่ง 5 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่เข้ามาแรกๆ ซึ่งเป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเช่นกัน โดยเราจะดำเนินการกฎหมายด้านตรวจคนเข้าเมืองหลังจากกักตัวแล้ว” นายประจญ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ในวันเดียวกันนี้ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ได้เปิดเผยว่า พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้จังหวัดแจ้งหน่วยปฏิบัติ กลไกผู้ปกครองท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สกัดกั้นและติดตามผู้ลักลอบเข้าเมืองตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น ขณะที่ทางทหารจะใช้โดรนเพื่อตรวจตราแนวชายแดนด้วย

กต. เปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติม

ในวันเดียวกัน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เรียกประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อพิจารณามาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ

ในการนี้ นายจาตุรนต์ ไชยะคำ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ได้นำเสนอมาตรการผ่อนคลายในการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มเติม กรณีผู้ที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวโดยไม่ต้องตรวจลงตรา 56 ประเทศ และประเทศที่มีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา คือ ประเทศรัสเซีย ให้ขยายเวลาจาก 30 วัน เป็น 45 วัน เพื่อชดเชยระยะเวลากักตัวจำนวน 14 วัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีฯ เห็นชอบแล้ว

“เหตุผลเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อว่ามาตรการทางสาธารณสุข สามารถกักกันตัว ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ และปัจจุบันมีโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวเพียงพอ สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้ถึงวันละพันคน แม้จะไม่มีวีซ่า แต่ตาม พรก. ฉุกเฉิน เรามีมาตรการทางสาธารณสุขที่สามารถควบคุมการตรวจโควิด และกักตัวได้” นายจาตุรนต์ ระบุ พร้อมทั้งระบุว่าก่อนหน้านี้ ผู้คนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หรือกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติ กลุ่มผู้ต้องการการรักษาทางแพทย์แล้วประมาณ 6,700 ราย

นายจาตุรนต์ ระบุว่า นักท่องเที่ยวสามารถขอเดินทางมาไทยได้ โดยสมัครขอซีโออีทางออนไลน์ (COE - Certificate of Entry to Thailand) ได้ในวันนี้ หลังจากได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีแล้ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง