22 นักท่องเที่ยวไทย ยังรอความช่วยเหลือ หลังถูกกักตัวที่เมียนมาร่วม 1 เดือน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2020.12.03
กรุงเทพฯ
22 นักท่องเที่ยวไทย ยังรอความช่วยเหลือ หลังถูกกักตัวที่เมียนมาร่วม 1 เดือน เรือโพลาริสวัน ขณะรอออกจากท่าเรือ ในจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ก่อนที่จะถูกทางการเมียนมาจับกุมตัว
เบนาร์นิวส์

สืบเนื่องจากกรณีเรือท่องเที่ยวโพลาริสวัน ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวไทย 22 คน และลูกเรือชาวเมียนมา 2 คน ได้แล่นเรือออกไปตกปลาในทะเลจังหวัดระนอง และเรือห่างจากฝั่งประมาณกว่า 100 ไมล์ทะเล ถูกเจ้าหน้าที่เมียนมาควบคุมตัวเข้าไปในเมียนมา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากเรือลำดังกล่าว ติดต่อเบนาร์นิวส์ในวันพฤหัสบดีนี้ ว่ายังรอกลับบ้าน โดยระบุว่าได้ประสานทางการไทยเพื่อขอความช่วยเหลือแล้ว ด้านกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล

นายอภิวัฒน์ ชอบทำดี นักท่องเที่ยวชาวไทย อายุ 36 ปี ซึ่งถูกกักตัวอยู่ที่ประเทศเมียนมา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า นักท่องเที่ยวทั้ง 22 คน อยากได้รับความช่วยเหลือจากทางการไทย หลังถูกคุมตัวในเมียนมาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว

“ตอนนี้พวกเราถูกกักตัวในสถานกักโควิด เป็นโรงเรียนเก่า ๆ อยู่ลำบาก นอนบนโต๊ะเก้าอี้ ทางการไทยส่งฟูกมาให้ช่วยได้ระดับนึง ลำบากเรื่องอาหาร และห้องน้ำที่ไม่เหมาะกับคนสูงอายุ เคยประสานทางการไทยไปแล้ว ตั้งแต่ถูกจับใหม่ ๆ เขาบอกว่าจะช่วย มีการตั้งกลุ่มไลน์กัน แต่ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้า ตอนนี้ผ่านมา 26 วันแล้ว อยากให้ทางการไทยช่วยเหลือ พรุ่งนี้จะถูกย้ายออกจากที่นี่ ไม่รู้ว่าจะสามารถติดต่อใครได้อีกไหม” นายอภิวัฒน์ กล่าว

“คนที่มาทริปด้วยกันมีนักธุรกิจ มีผู้รับเหมา มีพนักงานบริษัท ถือว่าได้รับผลกระทบมาก บางคนเสียงาน ขาดงานอาจจะถูกไล่ออก ไม่รู้ว่าจะได้กลับเมื่อไหร่ อยากขอความเมตตาจากทางการไทยประสานช่วยเหลือพวกเราด้วย เพราะพวกเรายืนยันได้ว่าไม่ได้ทำผิด” นายอภิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

นายอภิวัฒน์ เปิดเผยว่า ตนเองและเพื่อนชาวไทยรวม 22 คน พร้อมด้วยลูกเรือชาวเมียนมา 2 คน ได้ลงเรือชื่อโพลาริสวัน ที่ท่าเรือในจังหวัดระนอง โดยตั้งใจจะแล่นเรือไปตกปลาใกล้หมู่เกาะสุรินทร์ เริ่มออกเดินทางจากฝั่งในเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 และถึงจุดพักจอดเรือเพื่อตกปลา ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 ได้ปลาจำนวนหนึ่ง

ในเวลาประมาณ 18.00 น. เรือได้แล่นต่อไปในแนวน้ำลึกห่างจากฝั่งประมาณ 130 ไมล์ทะเล พบปัญหาขัดข้องที่เครื่องปั่นไฟของเรือ กัปตันพยายามแก้ไขจนสามารถกลับมาแล่นได้อีกครั้ง ในช่วงเช้ามืดวันที่ 7 พฤศจิกายน แต่กัปตันเรือแจ้งว่า ต้องกลับเข้าฝั่งเพื่อซ่อมเรือ จึงตัดสินใจแล่นเรือกลับฝั่ง ระหว่างทางพบเรือรบ 567 ของเมียนมา แล่นเข้ามาใกล้ และแจ้งให้หยุดเพื่อตรวจเอกสาร หลังจากการตรวจ ไม่พบยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย พบเพียงอุปกรณ์ตกปลาเพื่อการกีฬา ไม่พบอุปกรณ์ตกปลาเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม เรือรบ 567 ของเมียนมาได้ควบคุมเรือ โดยแจ้งกัปตันว่า ไม่ใช่การจับกุม แต่ต้องการรักษาความปลอดภัย จึงให้โพลาริสวันแล่นตามไปยังฐานทัพบนเกาะย่านเชือก ของเมียนมา เรือถึงเกาะย่านเชือก ในเวลา 03.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 และนักท่องเที่ยวทั้งหมด รวมถึงลูกเรือถูกคุมตัวอยู่ที่เกาะย่านเชือกเป็นเวลา 6 วัน ก่อนที่เรือโพลาริสวันจะถูกนำมายังเกาะสอง เจ้าหน้าที่เมียนมาแจ้งว่า คนทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีฐานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องกักตัวเฝ้าระวังโควิด-19 เป็นเวลา 21 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันศุกร์นี้ และอาจจะถูกส่งตัวต่อไปยังเรือนจำ หรือสถานีตำรวจ ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งหมดยังไม่ทราบแน่ชัด

“ตอนเจ้าหน้าที่เมียนมาขึ้นมาบนเรือ พวกผมยืนยันไปแล้วว่า ให้ตรวจค้น และไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีการขัดขืนใดๆ ไม่ได้มีการตกปลา ไม่มีตาข่ายดักปลาเชิงพาณิชย์ พวกผมมีหลักฐานว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอม บอกว่า ต้องประสานไปที่เนปิดอว์ อ้างว่าจะดำเนินคดี ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าต่อจากนี้จะถูกพาไปที่ไหน หรือจะติดต่อใครได้ไหม อยากให้ทางการไทยช่วย” นายอภิวัฒน์ เปิดเผยเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เปิดเผยว่า ได้ประสานเจ้าหน้าที่เมียนมาเพื่อจัดส่งของใช้จำเป็น และอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ไปให้ทั้ง 22 คน รวมทั้งประสานทำความเข้าใจกับญาติแล้ว ขณะที่ นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวแก่สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ว่า ได้ประสานทางการเมียนมาให้ย้ายลูกเรือทั้งหมดไปพักในโรงแรม เพื่อความสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คำร้องขอดังกล่าวไม่เป็นผล

ล่าสุดในวันพฤหัสบดีนี้ พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่​ 5 ซึ่งประสานงานช่วยเหลือเรื่องนี้ในเบื้องต้น เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ที่ผ่านมาทางการไทยพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“ตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับ เราได้ดำเนินการในฐานะที่ TBC (Township Border Committee หรือ คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย–เมียนมา) ประสานงานกันอยู่ พยายามช่วยเหลือทุกวิถีทาง เขาพยายามส่งเรื่องไปเนปิดอว์ ผมเดินทางไปที่ระนอง พยายามคุยกับเจ้าหน้าที่เมียนมา แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า อยู่ที่รัฐบาลกลาง ซึ่งทางการให้ส่งตัวไปยังเกาะสอง ทราบว่า ให้ดำเนินคดีเข้าเมืองผิดกฎหมาย” พล.ต.ศานติ กล่าว

“ตอนนี้ ถือว่าพ้นอำนาจของเราไปแล้ว ต้องประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ให้ตั้งทนาย ไปขอประกันตัว ที่ผ่านมาเราพยายามประสานระดับท้องถิ่น แต่ระดับท้องถิ่นไม่ยอม แม่ทัพแนวชายแดนเมียนมาพยายามช่วยเหลือเต็มที่เลย เขาบอกว่าต้องดำเนินคดี ที่ผ่านมาเราเลยได้แต่ส่งของจำเป็นที่เขาต้องการไปช่วย” พล.ต.ศานติ ระบุ

ขณะเดียวกัน นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามเบนาร์นิวส์ถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวไทยว่า “เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่”

อย่างไรก็ตาม เบนาร์นิวส์ได้พยายามติดต่อไปยัง สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา เพื่อขอความคืบหน้าการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบจากทั้งสองหน่วยงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง