ผู้เชี่ยวชาญเสนอ : จ่ายจีนให้ปล่อยน้ำในแม่น้ำโขงแก่เพื่อนบ้าน

ผู้เชี่ยวชาญหารือข้อเสนอให้จีนเปิดเขื่อนฤดูฝน ชดเชยสูญเสียในฤดูแล้ง
สุเบล ราย บันดารี
2022.02.15
กรุงเทพฯ
ผู้เชี่ยวชาญเสนอ : จ่ายจีนให้ปล่อยน้ำในแม่น้ำโขงแก่เพื่อนบ้าน แม่น้ำโขงตามแนวชายแดนไทย-ลาว จากจังหวัดหนองคาย วันที่ 29 ตุลาคม 2562
รอยเตอร์

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 1:22 p.m. ET 2022-02-16

คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวเมื่อวันอังคารว่า เขื่อนของจีนตามริมฝั่งแม่น้ำโขงกักเก็บน้ำปริมาณมหาศาลไว้ในอ่างเก็บน้ำ แต่อาจจำเป็นต้องจ่ายเงินให้รัฐบาลจีน เพื่อให้ปล่อยน้ำแก่ประเทศตอนล่างของแม่น้ำโขง ซึ่งประสบภัยแล้ง

ผู้คนกว่า 70 ล้านคนในห้าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พึ่งพาแม่น้ำโขงในการทำมาหากิน โดยการประมงและเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่จีนมีเขื่อน 129 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบนและแม่น้ำสาขา รวมถึงเขื่อนขนาดยักษ์ 11 แห่ง และกำลังจะสร้างอีกอย่างน้อย 7 แห่ง

เขื่อนเหล่านี้ดึงน้ำปริมาณมากจากแม่น้ำโขง ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่ประเทศตอนล่าง รวมทั้งทะเลสาบโตนเลของกัมพูชา ที่ซึ่งประชากร 2 ล้านคนพึ่งพาอาศัยแม่น้ำสายนี้ในการทำการประมง ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

“ชาวประมงเหล่านี้กำลังอยู่ในสถานการณ์ลำบาก [เนื่องจาก] การจำกัดน้ำของเขื่อนตอนบนแม่น้ำโขง ในช่วงที่มีปริมาณน้ำไหลน้อย” ไบรอัน อายเลอร์ หนึ่งในหัวหน้าโครงการระบบติดตามเขื่อนแม่น้ำโขง (Mekong Dam Monitor - MDM) ของศูนย์สติมสัน สถาบันคลังสมองในวอชิงตัน ดีซี กล่าวในระหว่างการเสวนาทางออนไลน์ของคณะผู้เชี่ยวชาญ “ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องจัดการคือ จะตอบแทนจีนอย่างไร ถ้าจะให้จีนปล่อยน้ำออกมาในช่วงฤดูฝน

“ไม่ว่ายังไงก็ตาม เขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้สร้างอยู่ในจีน และมีไว้เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เหตุผลคือต้องการกำไร... และเมื่อคุณขอให้เขาหยุดหากำไร คุณก็จะต้องให้บางสิ่งบางอย่างเป็นการตอบแทน” ไบรอัน อายเลอร์ กล่าวในระหว่างการพูดคุย เมื่อวันอังคารนี้

เขื่อนของจีนเพียงสองเขื่อนบนแม่น้ำโขงเก็บน้ำประมาณ 1 หมื่นล้านลูกบาศก์กิโลเมตรในช่วงฤดูฝน เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในช่วงฤดูแล้ง นั่นคือ เขื่อนเสี่ยวหว่าน เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มน้ำโขง และเขื่อนนัวจาตู หนึ่งในเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ตามคำกล่าวของไบรอัน อายเลอร์ เขื่อนสองแห่งนี้เก็บน้ำประมาณร้อยละ 20 ของน้ำที่กักไว้ในช่วงฤดูฝน

เขากล่าวว่า ทางออกที่ง่ายที่สุดคือ การให้จีนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากทั้งสองเขื่อนเป็นของ “เจ้าของคนเดียวกัน” และ “รัฐบาลเดียวกันที่ดูแลการดำเนินการเขื่อนสองแห่งนี้”

220215-th-ch-mekong-dams-inside.jpg

ระดับน้ำโขงต่ำ กำลังเพิ่มความกดดันมากขึ้น ต่อการดำรงชีพของคนที่อาศัยริมน้ำโขง (เรดิโอฟรีเอเชีย)

บทบาทของธุรกิจประกันภัย

อลัน เบซิสต์ นักภูมิอากาศวิทยา และหนึ่งในหัวหน้าโครงการระบบติดตามเขื่อนแม่น้ำโขง (MDM) เสนอวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ โดยกล่าวว่า ธุรกิจประกันภัยสามารถเก็บเงินจากประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และใช้เงินเหล่านี้เพื่อชดเชยความสูญเสียทางการเงินให้แก่จีน

“ตัวอย่างเช่น ธุรกิจประกันภัยไปบอกกับจีนว่า จะจ่ายเงินให้เพื่อให้จีนปล่อยน้ำออกมา เรารู้ว่าจีนจะสูญเสียเงิน เพราะจะไม่สามารถขายไฟฟ้าได้ในช่วงฤดูแล้ง” อลัน เบซิสต์ กล่าวในระหว่างการเสวนาคณะผู้เชี่ยวชาญทางออนไลน์ เมื่อวันอังคารนี้

“ได้เคยมีการตกลงกันแบบนี้อย่างสำเร็จมากมาแล้วในประเทศอื่น ๆ” เขากล่าว “ข้อดีอย่างหนึ่งคือ บริษัทประกันสามารถทำการประเมินต้นทุนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จากนั้นก็ปรับจำนวนเงินให้เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”

ไบรอัน อายเลอร์ เห็นด้วย โดยกล่าวว่า “วิธีการใช้ประกัน... เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ถูกที่สุดและเป็นธรรมที่สุดจริง ๆ เพราะชาวประมงตามลุ่มน้ำโขงไม่ใช่ผู้ที่จะจ่ายเงินหรือออกเงินให้ทำอย่างนั้น”

220215-th-ch-mekong-dams-inside2.jpg

“เมื่อมีน้ำไหลลงมาจากทางเหนือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภูมิภาคตอนล่างจะยิ่งมีน้ำน้อยลง” เจ้าหน้าที่ลาวรายหนึ่ง ที่ทำงานใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกล่าว (เรดิโอฟรีเอเชีย)

ภัยแล้งอันยาวนาน

ผู้เชี่ยวชาญเคยกล่าวว่า แม่น้ำโขงกำลังประสบกับภาวะน้ำไหลน้อยเป็นประวัติการณ์ เพราะฤดูแล้งที่ยาวขึ้นและฤดูฝนที่สั้นลง แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขากำลังเข้าสู่ปีที่สี่ของภาวะแล้งอันยาวนาน สาเหตุเนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนน้อยในช่วงฤดูฝน และการไหลที่ลดลงมาก เพราะเขื่อนทางตอนบนของแม่น้ำกักน้ำปริมาณมากเอาไว้

“เราได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อดูว่าน้ำกำลังไหลหรือไม่ไหลอย่างไร ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน และเราเห็นอย่างชัดเจนว่า เขื่อนเหล่านี้สามารถเก็บกักน้ำปริมาณมหาศาลเอาไว้” อลัน เบซิสต์ กล่าว

“ดังนั้น เรากำลังเห็นการไหลที่ลดลงอย่างมาก” เขากล่าว

ขณะเดียวกัน ไบรอัน อายเลอร์ กล่าวว่า การที่เขื่อนตอนบนปล่อยน้ำอย่างกะทันหันออกมา อาจส่งผลเสียต่อแม่น้ำโขงได้

ในปี 2564 เขื่อนตอนบนปล่อยน้ำออกมา 22 ครั้ง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นกว่าครึ่งเมตร และจากนั้นน้ำก็ลดลงกลับสู่ระดับเดิม เมื่อเขื่อนหยุดปล่อยน้ำ เขากล่าว 

หลายครั้งที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นหรือลดลงมากกว่าหนึ่งเมตร ไบรอัน อายเลอร์ กล่าว โดยเสริมว่า “เรื่องนี้น่ากังวลจริง ๆ”

220215-th-ch-mekong-dams-inside.jpg

เรือจอดในน่านน้ำโขง ในจังหวัดนครพนม สีของแม่น้ำกลายเป็นสีฟ้าเข้มแทนที่จะเป็นสีโคลนเหมือนเช่นปกติ เนื่องจากเป็นเขื่อนต้นน้ำ ภาพเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 (เอพี)

ปลาจะสับสน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในลุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย แต่ระดับน้ำที่ผันผวน อาจเป็นอันตรายต่อนก และพืชสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้

เขากล่าวว่า นกทำรังและวางไข่ตามริมตลิ่งทรายในช่วงฤดูแล้ง แต่ระดับน้ำที่สูงขึ้นอาจทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย และคุกคามชีวิตของสัตว์ที่จวนเจียนจะสูญพันธุ์ ในทำนองเดียวกัน ต้นไม้บางชนิดที่อยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำในกัมพูชาที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาแรมซาร์ กำลังจะตาย เพราะการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ

ลุ่มน้ำโขงมีปลามากกว่า 1,100 สายพันธุ์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำเช่นกัน เขื่อนเหล่านี้ทำให้ผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงแย่ลง และทำให้แม่น้ำโขงขาด “ผลของวงจรน้ำล้นตลิ่ง” ที่พัดพาสารอาหารอันเป็นประโยชน์แก่การประมงและการเพาะปลูก ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

เหงียน ฮู เทียน ที่ปรึกษาอิสระด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำงานอยู่ในเวียดนาม กล่าวว่า สัญญาณการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในแม่น้ำโขงกำลังส่งผลในทางลบ

“ระบบนิเวศทั้งหมดของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะปลาสองน้ำ อาศัยการผันผวนของน้ำและวงจรน้ำล้นตลิ่ง เพื่อเริ่มกิจกรรมวงจรชีวิต เช่น การอพยพ และฤดูกาลที่น้ำไหล” เขากล่าว

“ปลาจะสับสน เพราะจะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเริ่มอพยพขึ้นไปยังต้นน้ำเพื่อผสมพันธุ์ ผมคิดว่าเราคาดได้ว่าการประมงในแม่น้ำโขง… จะหมดไป”

อลัน เบซิสต์ เห็นด้วย

“ถ้าปลาสับสน ถ้าจังหวะตามธรรมชาติ… ไม่เกิดขึ้น และการไหลของน้ำไม่เกิดขึ้นอย่างที่ควรจะเกิดตามธรรมชาติ เพราะเขื่อนเหล่านี้เปลี่ยนจังหวะการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง ทะเลสาบโตนเลก็จะไม่ได้รับวงจรของตัวอ่อนสัตว์น้ำ และนั่นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการประมง” เขากล่าว

อุตสาหกรรมประมงในบริเวณทะเลสาบโตนเลได้ลดลงแล้ว ประมาณร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับเมื่อเทียบกับสถิติในอดีตที่เคยทำมา อลัน เบซิสต์ กล่าว

ไบรอัน เอเลอร์ กล่าวว่า ไม่ควรโทษจีนเสียทั้งหมด

แม้เขื่อนที่ใหญ่ที่สุด 11 แห่งจะอยู่ในจีนก็ตาม แต่ไทยมีเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงที่สร้างเสร็จแล้วจำนวน 152 แห่ง ไบรอัน อายเลอร์ กล่าว โดยเสริมว่า เขื่อนในไทยเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเขื่อนขนาดเล็กและใช้เพื่อการเกษตร ลาวมี 68 เขื่อน และกำลังสร้างอีก 37 เขื่อน เวียดนามมี 78 เขื่อน และกัมพูชามี 9 เขื่อน

“ดังนั้น สิ่งที่เปลี่ยนธรรมชาติของแม่น้ำโขง ไม่ได้เป็นเพราะจีนและวิธีที่จีนใช้เขื่อนเท่านั้น” ไบรอัน อายเลอร์ กล่าว

*รายงานได้รับการปรับปรุง เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนจีนในต้นน้ำแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง