จับแก๊งต้มตุ๋นจีนและไทย 9 คน ลวงคนลงทุนคริปโต
2023.08.31
กรุงเทพฯ

ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงข่าวในวันพฤหัสบดีนี้ว่า สามารถจับกุมตัวสมาชิกขบวนการต้มตุ๋นออนไลน์ข้ามชาติ ที่มีชาวจีนเป็นหัวหน้า และสามารถยึดของกลางเป็นบ้าน รถ และทรัพย์สินอื่น ๆ รวมมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทได้
พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า ในการตรวจค้นทลายเครือข่ายในสี่จังหวัดเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถจับกุม น.ส. เบียน (Miss Bian) อายุ 40 ปี สัญชาติจีน ซึ่งทำหน้าที่กลุ่มบริหาร เปิดบริษัทในประเทศไทยเพื่อฟอกเงิน และ 2. น.ส. ไช่ (Miss Pengfei) อายุ 32 ปี สัญชาติจีน ได้พร้อมกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ เป็นคนไทย 6 คน และเมียนมา 1 คน รวม 9 คนจากทั้งหมด 14 คน
“ขบวนการดังกล่าวมีรูปแบบการทำงานเป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีเครือข่ายข้ามชาติ ตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา” พล.ต.ท. จิรภพ กล่าว “เมื่อได้เงินจากการหลอกคนไทยแล้ว ก็จะนำเงินมาฟอก โดยการซื้อสินทรัพย์ในประเทศไทย โดยมีคนไทยร่วมในขบวนการด้วย”
“เขาไม่ได้หลอกแค่ประเทศไทย แต่หลายประเทศ เชื่อว่ายังมีประเทศอื่นอีก ขบวนการนี้ทำหลายประเทศดูจากเงินที่หมุนเวียนหลายพันล้าน และอาจจะถึงหมี่นล้าน แต่ที่แน่ ๆ เป็นพันกว่าล้าน” พล.ต.ท. จิรภพ กล่าวเพิ่มเติม
พล.ต.ท. จิรภพ กล่าวด้วยว่า ขบวนการนี้มีโครงสร้างการทำงานในรูปแบบของคอลเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยคอลเซ็นเตอร์ฯ จะมีเรื่องราวในการหลอกที่เปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ ทั้งหลอกให้ลงทุน หลอกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกเป็นดีเอสไอ แต่ละประเทศก็จะมีเรื่องราวที่อาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนกัน
จากการสืบสวนพบว่า เครือข่ายดังกล่าวมีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มหัวหน้า เป็นคนจีนคอยทำหน้าที่สั่งการ, กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ ทำหน้าที่ติดต่อพูดคุยหลอกลวงเหยื่อ พบฐานที่ตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า ลาว และ กัมพูชา, กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มนายหน้าในประเทศไทย ทำหน้าที่จัดหาบัญชีม้า ทั้งบัญชีปกติและบัญชีที่เป็นดิจิทัลวอลเล็ตม้า รวบรวมบัญชีต่าง ๆ นำไปมอบให้กลุ่มคอลเซ็นเตอร์, กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มบัญชีม้าและกระเป๋าเงินวอลเล็ตม้า ทำหน้าที่รับจ้างเปิดบัญชีและกระเป๋าเงินดิจิทัล, และกลุ่มที่ 5 ทำหน้าที่ฟอกเงิน โดยนำเงินที่ได้จากการฉ้อโกงไปซื้อสินทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ จากการตรวจค้นพบบ้านหรู 17 หลัง และรถยนต์หรูที่ซื้อด้วยเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง
“กลุ่มคนร้ายมีรูปแบบการฟอกเงิน โดยตั้งบริษัทนอมินีขึ้นมา ใช้ชาวจีน 1 คน ถือหุ้น 49% และมีคนไทย 3 คน ถือครองหุ้นคนละ 17% รวม 51% ทำให้เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย เข้าไปซื้อบ้านและที่ดิน ที่มีราคาตั้งแต่ 40-120 ล้านบาท แต่การตรวจสอบไม่พบว่าบริษัทฯ ทำกิจการใด ๆ เราจึงอายัดบ้านทั้งหมดมูลค่ารวม 850 ล้านบาท” พล.ต.ท. จิรภพ ระบุ
“เราได้ประสานไปยังประเทศจีน พบว่าคนร้ายระดับหัวหน้าซึ่งเป็นคนสัญชาติจีน มีการหลอกลวงคนจีนด้วย ความเสียหายเบื้องต้น 1,600 ล้านบาท และทางการจีนก็ต้องการตัวคนนี้ด้วยเช่นเดียวกัน” พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน พ.ต.อ. วัชรพันธ์ ศิริพากย์ ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า คดีนี้ยังไม่จบ อยู่ระหว่างการขยายผล โดยเชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียหายในหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากข้อมูลพบว่ามีการกระทำความผิด ในประเทศเวียดนาม และกลุ่มคนระดับผู้บริหารหลายคนมีหลายสัญชาติ ทั้งพม่า กัมพูชา พบการเดินทางเข้าออกในหลายประเทศ เช่น จีน กัมพูชา ฟิลิปินส์
“แก๊งนี้ถือเป็นที่ใหญ่มาก ระดับต้น ๆ ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์” พ.ต.อ. วัชรพันธ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
“น่าจะเป็นเคสแรกของประเทศไทยที่เราไล่เส้นทางการเงินทางคริปโต เพราะตอนนี้คนร้ายเลี่ยงไปใช้กระเป๋าเงินคริปโต เพราะเชื่อว่าตามไม่ได้ แต่เราสามารถแกะรอยจากวอลเล็ตคริปโต ที่กลุ่มคนร้ายโยกไปมาถึง 30 ชั้น จนออกมาเป็นเงินสดได้” พ.ต.อ. วัชรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติม
กลวิธีในการโกง
พล.ต.ท. จิรภพ กล่าวว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2565 ผู้เสียหายได้ถูกกลุ่มคนร้ายใช้เฟซบุ๊ก ปลอมเป็นหญิงสาวหน้าตาดี เข้ามาพูดคุยตีสนิทจนผู้เสียหายไว้เนื้อเชื่อใจ จากนั้น กลุ่มคนร้ายได้ชักชวนให้ผู้เสียหายเข้ามาร่วมลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ผ่านเว็บไซต์ชื่อ CBOEX ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่กลุ่มคนร้ายปลอมขึ้นมาทั้งหมด (แอปพลิเคชันดังกล่าวมีความคล้ายกับแอปพลิเคชันเทรดเหรียญดิจิทัลของจริงที่ใช้ชื่อว่า CBOE) ปัจจุบันเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวได้ปิดไปแล้ว
กลุ่มคนร้ายได้แนะนำให้ผู้เสียหายสมัครเปิดบัญชีกับแพลตฟอร์มเทรดเหรียญดิจิทัลของไทย เพื่อสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล และให้นำเงินไปซื้อเหรียญดิจิทัล สกุลเงิน USDT ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว
หลังจากนั้น กลุ่มคนร้ายได้หลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเหรียญดิจิทัลเข้าไปยังกระเป๋าเหรียญดิจิทัลของกลุ่มคนร้าย โดยทุกครั้งที่ผู้เสียหายโอนเหรียญดิจิทัลไปให้กับกลุ่มคนร้าย ยอดเหรียญดิจิทัลจะแสดงในเว็บไซต์ สอดคล้องกับจำนวนที่ผู้เสียหายโอนเข้าไป
อีกทั้งยังมียอดจำนวนของผลกำไรจากการลงทุนแสดงอยู่ในเว็บไซต์ ซึ่งภายหลังจากการตรวจสอบ พบว่าเป็นการปลอมข้อมูลตัวเลขขึ้นมาทั้งหมด เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และโอนเหรียญดิจิทัลเข้าไปเพิ่มอีก
ต่อมาเมื่อผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ที่จะขอถอนเงินออกมา กลุ่มคนร้ายกลับแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการถอนให้ได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องภาษี และกลุ่มคนร้ายยังหลอกให้ผู้เสียหายโอนเหรียญดิจิทัลเข้าไปเพิ่มอีก โดยทางผู้เสียหายได้โอนเหรียญดิจิทัลสกุล USDT ไปยังกระเป๋าเหรียญดิจิทัลของกลุ่มคนร้าย จำนวน 15 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 13 ล้านบาท