ศาลรัฐธรรมนูญ : ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.09.30
กรุงเทพฯ
ศาลรัฐธรรมนูญ : ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดคุยกับนักข่าว หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 5 กรกฎาคม 2565
สำนักนายกรัฐมนตรี

ในวันศุกร์นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ เพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเกินกำหนด 8 ปี ตามที่ฝ่ายค้านยื่นคำร้อง โดยระบุว่าต้องนับวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ. ประยุทธ์ เมื่อมีการประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560  

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 เสียง ให้ พล.อ. ประยุทธ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ หลังจากที่ถูกสั่งให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำวินิจฉัยเป็นการชั่วคราวเมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งฝ่ายค้านได้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พล.อ. ประยุทธ์ หมดวาระในวันที่ 24 สิงหาคม 2565   

“การให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามความมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560” นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย ซึ่งถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์วงจรปิด

“มติเสียงข้างมากจึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 170(2) ประกอบมาตรา 158(4)” นายปัญญา กล่าว

ศาลระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี ได้จนถึงวันที่ 6 เมษายน 2568 ขณะที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในประมาณเดือนพฤษภาคม ศกหน้า

ในวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้เข้าฟังการวินิจฉัยของศาลฯ แต่ได้ส่งที่ปรึกษาเข้าฟังคำวินิจฉัยแทน โดยหลังจากการอ่านคำวินิจฉัยเสร็จสิ้นลง พล.อ. ประยุทธ์ ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ แสดงความเคารพต่อศาลฯ และขอบคุณผู้ให้การสนับสนุน

“ผมขอแสดงความเคารพอย่างสูงต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ… ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสให้ผมได้พิจารณาและตระหนักมากขึ้นว่าผมจะต้องใช้เวลาอันมีค่าที่มีอยู่อย่างจำกัดของรัฐบาลในการติดตามและผลักดันโครงการสำคัญต่าง ๆ มากมาย ที่ผมได้ริเริ่มเอาไว้ ให้เดินหน้าและเสร็จสมบูรณ์” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อครั้งที่ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้เป็นผู้นำการรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเดือนพฤษภาคม 2557 และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคม ปีเดียวกัน ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557

จากนั้น ประชาชนได้ลงประชามติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 นำไปสู่มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 และรัฐสภาลงคะแนนให้ พล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ท่ามกลางการต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ในฐานะผู้ร้อง ได้แถลงร่วมกันเรียกร้องแสดงความผิดหวังต่อคำวินิจฉัยในทางเป็นคุณต่อ พล.อ. ประยุทธ์

“เท่าที่ฟังเสียงส่วนใหญ่แล้ว เขามีข้อวินิจฉัยส่วนตนเขาไว้หมดแล้วว่า ถ้ามันออกแนวนี้... ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ พล.อ. ประยุทธ์ รับฟังข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนภายใต้การดูแลความสงบเรียบร้อยที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องที่จะเรียกร้องและชุมนุม” นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านกล่าว

ในตอนบ่ายวันเดียวกันนี้ ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาชุมนุมที่สกายวอล์ค ปทุมวัน และสี่แยกราชประสงค์ แสดงความไม่พอใจต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์

“วันนี้ชัดเจนนะครับ เราไม่สามารถที่จะศรัทธาและเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมไทยได้ทั้งองคาพยพ เราไม่ยอม และเราจะลงถนน และเชิญชวนให้พวกเราออกมาแสดงให้พวกมันเห็นว่า เราไม่ยอม” ชาติชาย แกดำ ผู้ชุมนุมที่สกายวอล์ค กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้านกลุ่มราษฎรและเครือข่าย ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านคำวินิจฉัยโดยระบุว่า “บัดนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า บรรดาองคาพยพทรราช เป็นต้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญและรัฐบาล ย่อมสมประโยชน์กันเพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจแห่งระบอบเผด็จการ คำวินิจฉัยอันชั่วร้ายของศาลธรรมนูญในการต่ออายุให้แก่รัฐบาลทรราชย์นี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกยอมรับ”

ทางกลุ่มได้ชักชวนให้ประชาชนสวมชุดดำทั้งแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 7 ตุลาคม 2565 เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่ระบอบการเมืองและอนาคตของสังคมไทย

กลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา ได้เริ่มประท้วง พล.อ. ประยุทธ์ อย่างจริงจังเมื่อเดือนกรกฏาคม 2563 โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น ได้มีการข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีการชุมนุมในข้อเรียกร้องเดียวกันกว่าพันครั้งทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ต่อต้านมาโดยตลอด ทำให้จนสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 1,853 คน จาก 1,120 คดี ในจำนวนดังกล่าวเป็นคดี ม. 112 จำนวน 228 คดี มีจำเลย 210 คน

220930-th-constitution-prayuth-protest.jpg

ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาร่วมชุมนุม แสดงความไม่พอใจต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ บนสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน ในกรุงเทพฯ  วันที่ 30 กันยายน 2565 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

ในขณะที่ความนิยมของ พล.อ. ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาลมีความถดถอยลง พรรคเพื่อไทยซึ่งมีทายาทของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวชูโรงกลับมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ในผลโพลล่าสุด น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง ลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ได้รับความนิยมสูงสุดให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ด้าน ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า แม้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แต่มีความนิยมลดลง และคงต้องมองหาทางเลือกในอนาคต ซึ่งเป็นไปได้สองทาง

"ประเด็นที่ประชาชนใช้ตัดสินใจเลือกไม่ใช่ผลคำวินิจฉัยในวันนี้ แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลนี้ยังไม่สามารถทำตามที่หาเสียงไว้ได้ ความนิยมของพรรครัฐบาล โดยเฉพาะพลังประชารัฐจึงตกต่ำลงเรื่อย ๆ"

“พล.อ. ประยุทธ์ ยุบสภาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง และร่วมงานกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดย พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก และอยู่จนกว่าจะครบวาระ 8 ปี อีกทางหนึ่งคือ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ยุบสภา อยู่จนครบวาระ 4 ปี และพลังประชารัฐลงเลือกตั้ง โดยหาแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ ซึ่งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นพลเรือนมากกว่าคนที่เป็นทหาร แต่ยังเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเหมือนเดิม” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ศาลรัฐธรรมนูญมักวินิจฉัยโดยใช้หลักนิติศาสตร์นำ และไม่เคยพูดถึงการใช้อำนาจผิดรัฐธรรมนูญ หรือการรัฐประหารเลย ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับหลักนิติรัฐ" ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวเพิ่มเติม

สุรินทร์ พิณสุวรรณ จากกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง