ศาลอาญาพิพากษา ยกฟ้องแอดมินเพจ เรารักพลเอกประยุทธ์

นักสิทธิฯเชื่อ ย้ายคดีจากศาลทหารมาศาลพลเรือน เพิ่มโอกาสชนะคดีการเมือง
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.11.07
กรุงเทพฯ
ศาลอาญาพิพากษา ยกฟ้องแอดมินเพจ เรารักพลเอกประยุทธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมของกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และการประท้วงต่อต้านการจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์ การปกครองของคสช. ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559
เอเอฟพี

 ศาลพิพากษาในวันจันทร์นี้ ให้ยกฟ้องคดี ม. 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ 7 แอดมินเฟซบุ๊กเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” กรณีโพสต์ชวนลอยกระทง ปี 2559 ด้าน นักสิทธิมนุษยชนเชื่อ การย้ายคดีจากศาลทหารมาสู่ศาลพลเรือน ช่วยเพิ่มโอกาสชนะคดีแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง

ศาลอาญารัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษา ในห้องพิจารณาคดีที่ 813 เวลา 09.00 น. ในคดีหมายเลขดำ อ.3036/2562 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ฟ้อง นายศุภชัย สายบุตร, น.ส.ณัฏฐิกา วรธันยวิชย์, นายนพเก้า คงสุวรรณ, นายธนวรรธ บูรณศิริ, นายโยธิน มั่งคั่งสง่า, นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรานันท์, นายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา และนายหฤษฎ์ มหาทน เป็นจำเลยที่ 1-8 ฐานความผิดกระทำผิด มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

“ศาลได้วินิจฉัยเนื้อหาที่มีภาพนายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ มีการชักชวนให้มาทำกิจกรรมในวันลอยกระทงในปี 2559 นั้นเนี่ย การชักชวนให้มาทำกิจกรรม แม้จะมีคำว่า เผด็จการ อัปมงคล หรือมีรูปภาพของนายกฯ และรองนายกฯ ท่านเห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ท่านมองว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เนื้อหาก็ไม่ได้เป็นอันตราย หรือชักชวนให้ประชาชนมาล่วงละเมิดต่อกฎหมาย พยานหลักฐานของโจทก์คือ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงในวันดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขาดความผิด จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 116 และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมฯ” นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของจำเลย กล่าวกับสื่อมวลชน

นายวิญญัติ เปิดเผยว่า “น้อง ๆ ทั้งหมด 6-7 คน ตั้งแต่ปี 59 วันแรกที่เขาถูกพรากอิสรภาพไป ทำให้เขาต้องจำยอมและหวาดกลัวต่ออำนาจรัฐ การใช้กำลังทหาร หลังจากนั้นพวกเขาถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม การดำเนินการเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สมัครงานที่อื่นก็ไม่ได้ การได้รับโอกาสทางสังคมก็ถูกตราหน้าตั้งแต่ชั้นต้นแล้ว กว่าจะถึงวันนี้ก็ต้องผ่านหลายอย่าง ทุกคนได้รับความทุกข์ยากมาตลอด”

ในวันจันทร์นี้ จำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามที่ศาลนัดหมาย ยกเว้นนายหฤษฎ์ ที่มีอาการป่วย และน.ส.ณัฏฐิกา ซึ่งถูกฟ้องในคดี ม. 112 ด้วย ตัดสินใจลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2561 ทำให้คดีในส่วนของ น.ส.ณัฏฐิกา ถูกจำหน่าย โดยเหลือจำเลยที่ต่อสู้คดีเพียง 7 คน

หลังฟังคำพิพากษา นายนพเก้า เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนและจำเลยคนอื่น ๆได้รับผลกระทบจากการถูกฟ้องคดีครั้งนี้มาก

“ถึงวันที่ยกฟ้อง โอกาส และเวลาของชีวิต ที่ควรใช้ไปในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ กลับต้องมาเสียไปให้ฟรี ๆ กับข้อกล่าวหาของรัฐบาล คสช. ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา… บางคนถึงระดับที่ไม่สามารถกลับมามีชีวิตเหมือนเดิมได้อีกเลย และสุดท้ายเมื่อเราถูกยกฟ้อง สิ่งที่เสียไปเหล่านี้ เราจะไปเรียกร้องเอาคืนมาจากใครได้ จริงอยู่ ที่ตามกระบวนการสามารถฟ้องกลับได้ แต่สิ่งที่สูญเสียไปแต่ละอย่าง แม้ฟ้องกลับแล้วชนะ มันก็ไม่สามารถมาทดแทนกันได้ โดยเฉพาะเวลา และโอกาส” นายนพเก้า กล่าว

เฟซบุ๊กเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์ เป็นเพจล้อเลียนการทำงานของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยึดอำนาจในปี 2557 โดยมีการเผยแพร่เนื้อหาโจมตีการทำงาน และต่อต้าน คสช. ในเดือนพฤศจิกายน 2558 เพจได้โพสต์ภาพใบหน้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) อยู่บนกระทง พร้อมข้อความว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 20 พ.ย. 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 18.00 รำวงสืบสานวิถีราษฎร 19.00 ประกวดโฉมงามประชาธิปไตย 20.00 ร่วมกันลอยกระทงยักษ์ ขับไล่เผด็จการ (อัปมงคล)”

ในวันที่ 27 เมษายน 2559 จำเลยทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าควบคุมตัวจากบ้านพัก และถูกนำไปควบคุมตัวในค่ายทหาร ถูกพิจารณาให้เป็นคดีความมั่นคง ต้องพิจารณาในมณฑลทหารบกที่ 11 และศาลทหารได้ปฏิเสธการประกันตัว จนกระทั่ง 10 พฤษภาคม 2559 จึงได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินรายละ 2 แสนบาท

คดีมีความล่าช้าในการสืบพยาน จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2562 คดีการเมืองในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกโอนมายังศาลพลเรือน และได้ทำการสืบพยานอีกครั้งในต้นเดือนพฤจิกายน 2565 ก่อนจะมีคำพิพากษาในวันจันทร์นี้

ต่อคดีนี้ นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า การพิจารณาคดีในยุค คสช. สร้างอุปสรรคให้กับนักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก

“คดีการเมืองในยุค คสช. ที่ต้องพิจารณาคดีโดยศาลทหารดูว่านักเคลื่อนไหวจะสู้คดียาก มีโอกาสชนะค่อนข้างน้อย โอกาสจะสู้คดีอย่างตรงไปตรงมาทำได้ยาก แต่เมื่อมีการย้ายคดีจากศาลทหารมาสู่ศาลพลเรือน อย่างน้อยก็เห็นว่า การพิจารณาเป็นไปตามหลักการ ทำให้สุดท้าย การโพสต์รูป หรือการชักชวนไปชุมนุม ไม่มีความผิด ยังพอมีโอกาสต่อสู้ในระบบมากกว่าศาลทหาร” นายสุณัย กล่าว

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติการถูกจับกุมและดำเนินคดี หลังจาก คสช. ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ระบุว่า มีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัวและเยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน มีผู้ถูกจับกุมโดย คสช. อย่างน้อย 625 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 99 คน มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 117 คน มีผู้ถูกตั้งข้อชุมนุมเกินห้าคน อย่างน้อย 421 คน และมีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน

ในวันเดียวกัน ศาลอาญาตัดสินจำคุก น.ส. ณชา (สงวนชื่อจริงและนามสกุล) เป็นเวลา 3 ปี จากคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีที่จำเลยเขียนข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊ก รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง แต่เจ้าตัวให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้รอลงอาญาโทษจำคุก

กระแสการต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในทั่วประเทศกว่าพันครั้ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดี แล้วอย่างน้อย 1,145 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 1,864 คน ในจำนวนนั้น เป็นคดี ม. 112 จำนวน 236 คดี มีจำเลย 217 คน และมีผู้ที่ถูกคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี 3 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง