ผู้ต้องกัก ตม. บางเขน ติดโควิด-19 สะสม 393 ราย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.03.23
กรุงเทพฯ
ผู้ต้องกัก ตม. บางเขน ติดโควิด-19 สะสม 393 ราย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรอติดตามผลข้างเคียงของผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ต้านโควิด -19 ที่หน่วยการแพทย์ชั่วคราว ชุมชนตลาดบางแค ในกรุงเทพฯ วันที่ 17 มีนาคม 2564
เอพี

ปรับปรุงข้อมูล 11:45 p.m. EST 2021-03-23

ในวันอังคารนี้ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อชาวต่างชาติ ซึ่งถูกกักตัวอยู่ภายในสถานกักกัน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรวมทั้งสิ้น 393 ราย นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม นี้ ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การติดเชื้อของผู้ต้องกักไม่ใช่การระบาดระลอก 3

ขณะเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแล้ว

นพ.เกียรติภูมิ เปิดเผยในการประชุมร่วมกับ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศว่า การควบคุมโรคสำหรับชาวต่างชาติซึ่งถูกกักตัวในสถานกักกัน จะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์

“จากรายงานสถานกักกันตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบางเขน (และสวนพลู) ได้ตรวจหาเชื้อในผู้ต้องกักและเจ้าหน้าที่แล้ว 1,615 ราย พบการติดเชื้อรวม 393 ราย แบ่งเป็นชาย 370 ราย และหญิง 23 ราย โดยมีตำรวจ 1 นาย ติดเชื้อไม่มีอาการ เข้าสู่การรักษาตามระบบแล้ว สำหรับการควบคุมโรคจะใช้แผนควบคุมเฉพาะ โดยเน้นจำกัดการเคลื่อนย้าย และกักผู้ติดเชื้อไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หรือพื้นที่อื่น ๆ จนกว่าจะพ้นระยะเวลาการแพร่เชื้อ” น.พ.เกียรติภูมิ กล่าว

“การดำเนินงานควบคุมโรคคาดว่าใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ก็จะปลอดภัย โดยจะมีการตรวจภูมิคุ้มกันและตรวจหาเชื้อเป็นระยะ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแล้วหรือไม่มีการติดเชื้อก็จะให้ออกจากสถานกักกันและผลักดันกลับประเทศต่อไป” น.พ.เกียรติภูมิ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน นายอนุทิน เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ผู้ติดเชื้อของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะไม่เป็นการระบาดระลอกใหม่

“คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานอายุไม่เยอะ พอไม่แสดงอาการ บางครั้งเราใช้เวลาเป็นตัวรักษา ถ้าไม่แสดงอาการเลย ก็ไม่ต้องให้ยา ให้การรักษาอะไร เขาก็จะหายเอง ไม่ใช่เวฟ 3 เขาอยู่ในสโมสรตำรวจ รั้วรอบขอบชิด ไม่ต้องกังวล ถ้าแสดงอาการต่อให้เขาเป็นต่างชาติก็ต้องเอาเขาไปที่โรงพยาบาลหลัก ให้ได้รับการรักษาตามขั้นตอนทางการแพทย์ที่ถ้าเกิดมันมีความซับซ้อนของโรคเพิ่มขึ้น” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) แถลงข่าวหลังประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขว่า เตรียมตัวเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อมายังโรงพยาบาลสนามซึ่งตั้งอยู่ที่ สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี ในวันพุธนี้

“มีการวางแผนที่จะเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลสนาม ในวันพรุ่งนี้… ในขณะนี้ คุณหมอต้องประชุมอีกครั้งหนึ่ง เพราะอาจจะเป็นเชื้อตาย คือเคยติดแล้วและหายแล้ว ซึ่งตัวเลขก็ยังไม่นิ่ง ต้องมีการประชุมวางแผนกันอย่างรอบคอบ” พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สโมสรตำรวจ 120 เตียงแล้ว โดยอาจสามารถขยายได้ถึง 250 เตียงในอนาคต

ขณะที่ พ.ต.อ.รัฐโชติ โชติคุณ รอง ผบก.สส.สตม ชี้แจงในการแถลงข่าวเดียวกันว่า ตำรวจทุกนายที่จะป้องกันการหลบหนี จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อน

“เรื่องของการรักษาความปลอดภัย โรงพยาบาลสนาม เจ้าหน้าที่ที่รักษาความปลอดภัยด้านนอกทางกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้นัดให้ฉีดวัคซีนเข็มแรก ภายในบ่ายนี้ทุกนาย ส่วนเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลก็จะมีการกักตัวไว้เช่นกัน เราได้เตรียมที่พักไว้ให้แล้ว ทำตามมาตรฐานทุกอย่างของกรมควบคุมโรค” พ.ต.อ.รัฐโชติ กล่าว

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า กลุ่มผู้ต้องกักซึ่งติดเชื้อและมีความเสี่ยงจะถูกดูแลอย่างใกล้ชิด

“ผู้ต้องกักจะประเมินดูความเสี่ยง ใครมีโรคประจำตัว อายุมาก แล้วก็มีสภาวะของการติดเชื้อเยอะ ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ แต่เบื้องต้นคนที่ติดเชื้อในสถานที่แห่งนี้ไม่มีอาการ งั้นโอกาสที่จะมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรุนแรง หรือว่าเสียชีวิตก็จะมีน้อย แต่เราก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดทุกวัน” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า มีการตรวจพบ ผู้ต้องกักติดเชื้อ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 รวม 9 คน เป็นผู้ต้องกักชาวเนปาล 1 คน ผู้ต้องกักแรกรับที่ย้ายมาจากสุไหงโกลก 6 คน และผู้ต้องกักรายเดิม 2 คน ก่อนจะพบผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ดังกล่าว

ไทยพบติดเชื้อใหม่ 401 ราย เสียชีวิต 1 ราย

กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 401 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,277 ราย หายป่วยแล้ว 26,766 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมเสียชีวิตสะสม 92 คน โดยผู้ติดเชื้อในประเทศ 383 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 46 ราย และการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 337 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นชายไทยอายุ 75 ปี อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีโรคประจำตัว คือ โรคลิ้นหัวใจรั่ว ความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ วันที่ 14 มีนาคม 2564 เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เข้ารับการตรวจและยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อวันที่ 15 มีนาคม 2564 มีอาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา

ในวันเดียวกัน นายอนุทิน และบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค เป็นเข็มที่ 2 แล้วในวันนี้ ที่สถาบันบําราศนราดูร หลังจากที่รับวัคซีนเข็มแรก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 โดยไม่มีผลข้างเคียง

แผนการกระจายวัคซีน ตามเป้าหมาย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยหลังพิธีฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ว่า คาดว่า แผนการกระจายวัคซีนตามเป้าหมาย เพื่อลดการติดเชื้อและเสียชีวิตของกระทรวงสาธารณสุข คือ กลุ่มที่ 1 ประมาณ 300,000 โดส จะฉีดในพื้นที่ระบาด เช่น กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร จังหวัดรอบ ๆ ไปจนถึง อ.แม่สอด จ.ตาก

กลุ่มที่ 2 ประมาณ 300,000 โดส เพื่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งจะมีจำนวนที่มาก เช่น พัทยา จ.ชลบุรี จ.ภูเก็ต อ.เกาะสมุย และ กลุ่มที่ 3 ประมาณ 200,000 โดส ฉีดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่เสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อ เช่น ตำรวจ ตม. อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็นอื่น เช่น นักกีฬา ในนามตัวแทนประเทศที่จะไปแข่งในระดับนานาชาติ เป็นต้น

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 รวม 1,117,300 โดส แบ่งเป็นของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด จากประเทศจีน 1,00,000 โดส และของบริษัท แอสตราเซเนกา จากประเทศอังกฤษ/สวีเดน 117,300 โดส เริ่มฉีดให้กับประชาชนกลุ่มแรก ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ตามแผนของรัฐบาล ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564

แผนการนำเข้าวัคซีนของไทย คือ 2 ล้านโดส จากซิโนแวค มูลค่า 1,228 ล้านบาท และอีก 26 ล้านโดส และจากแอสตราเซเนกา มูลค่า 6,049 ล้านบาท และ ครม. เพิ่งอนุมัติงบประมาณการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 35 ล้านโดส มูลค่า 6,387 พันล้านบาท จากแอสตราเซเนกา ซึ่งจะทำให้ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีวัคซีน 63 ล้านโดส เพียงพอสำหรับฉีดประชาชน 31.5 ล้านคน

ขณะนี้ ประเทศไทยได้ทำการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 62,941 ราย จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ล่าสุดมีแผนที่จะนำเข้าวัคซีนซิโนแวคอีก 5 ล้านโดส แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการนำเข้า

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ร่วมรายงานข่าว

*แก้ไขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง