โครงการเก็บข้อมูลต่างด้าว สร้างความกังวลในหมู่ชุมชนพม่าในไทย

คีอานา ดันแคน สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.05.10
โครงการเก็บข้อมูลต่างด้าว สร้างความกังวลในหมู่ชุมชนพม่าในไทย หญิงสวมหน้ากากอนามัยเดินผ่านผนังทาสีธงชาติไทย ในห้วงการระบาดใหญ่โควิด-19 ในกรุงเทพฯ วันที่ 26 มีนาคม 2563
จอร์จ ซิลวา/รอยเตอร์

ปรับปรุงข้อมูล 17:30 ET 2024-05-13

ประเทศไทยได้ริเริ่มนำร่องโครงการรวบรวมข้อมูลตรวจพิสูจน์บุคคล (ไบโอเมตริกซ์) ใน 5 จังหวัด เพื่อปรับปรุงบริการด้านสุขภาพสำหรับชาวเมียนมาและคนไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นประชากรที่มีการเคลื่อนย้ายมากที่สุดในประเทศ

สำหรับรายละเอียดของไบโอเมตริกซ์ ซึ่งรวมถึงการสแกนใบหน้าและม่านตา ที่รวบรวมมาจาก 10,000 คน โปรแกรมนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นการบรรเทาข้อกังวลในการระบุตัวผู้อพยพ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวกลับจุดประกายความวิตกให้กับนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปมความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว

กรมควบคุมโรค ร่วมด้วยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และสภากาชาดไทย เป็นหัวหอกสำคัญของโครงการนี้ โดยทำการจัดสรรวัคซีน HPV และวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกลุ่มบุคคลสถานะชั่วคราวที่มีอุปสรรคขาดความคล่องตัวในการจัดการความเป็นอยู่

“การให้วัคซีนจำเป็นจะต้องให้อย่างน้อย 2-3 โดสต่อคน ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าแต่ละคนได้วัคซีนไปแล้วกี่เข็ม จึงจะสามารถฉีดเข็มต่อไปได้อย่างเหมาะสม” ดร. ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าว พร้อมเผยว่า โครงการนี้เป็นการรวบรวมโปรไฟล์นับล้านโดยใช้การสแกนม่านตาและการสแกนใบหน้า ควบคู่ไปกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

โดยในจำนวนจังหวัดนำร่อง รวมทั้ง ตาก สมุทรสาคร และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนพม่าพลัดถิ่นขนาดใหญ่ ทั้งผู้ที่ข้ามแดนมาเพื่อหางานทำ ไปจนถึงผู้ลี้ภัย และพวกนักเคลื่อนไหวขบวนการขัดขืนของพลเรือนที่ลาออกจากงานเพื่อประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหาร

ภายหลังกรมควบคุมโรคประกาศความสำเร็จในโครงการดังกล่าว ผู้แทนของกรมได้เปิดเผยกับสื่อว่า โครงการนี้อาจได้ขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ทั่วไทย

ข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว

พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักบรรเทาทุกข์และสุขภาพชุมชน สภากาชาดไทย เน้นย้ำว่า โครงการนี้ยึดถือหลักความสมัครใจเป็นที่ตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าการดูแลสุขภาพจะไม่ถูกปฏิเสธสำหรับผู้ที่ไม่สบายใจกับกระบวนการนี้

“เมื่อเข้ารับการรักษา ณ สถานบริการสุขภาพ เจ้าหน้าที่จะสแกนใบหน้าและม่านตาของผู้ป่วยที่ไม่มีเอกสารหรือผู้พลัดถิ่นในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ต้องการฉีดวัคซีน” พิชิต บอกกับเรดิโอฟรีเอเชีย

“จากนั้น ผู้ป่วยจะได้รับเลขยืนยันตัวตน 13 หลัก จากแอปหมอพร้อม ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ หากผู้ป่วยไม่สะดวกใจให้เก็บข้อมูลก็สามารถปฏิเสธได้ โดยจะได้รับการรักษาไม่ว่าอย่างไรก็ตาม”

240510-th-data-collection-myanmar-2.jpg
แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาได้รับวัคซีนซิโนแวคป้องกันโควิด-19 ที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 28 มิถุนายน 2564 (จอร์จ ซิลวา/รอยเตอร์)

อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวด้านดิจิทัลบางคนยังคงไม่แน่ใจว่าข้อมูลไบโอเมตริกซ์จากกลุ่มที่มีความละเอียดอ่อนเหล่านี้ จะถูกจัดเก็บและรวบรวมอย่างปลอดภัยหรือไม่

ในประเด็นดังกล่าว โฆษกของโครงการอินเทอร์เน็ตเมียนมา เผยว่า การรวมศูนย์ข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับชาวเมียนมาพลัดถิ่นในประเทศไทย

“นี่ถือเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับพวกเราอย่างมาก เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกแบ่งปันไปอย่างไร” เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเมียนมา ผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยนาม กล่าว “ในฐานะผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา เรามีความกังวลอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกแชร์กับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ฝั่งเมียนมา”

สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บข้อมูลและดูแลนโยบายด้านการเก็บรักษาและส่งต่อข้อมูล ปฏิเสธความเป็นไปได้ใด ๆ ว่าชุดข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งข้ามพรมแดน รวมถึงโครงการ e-ID ที่เปิดตัวโดยรัฐบาลทหารเมียนมา

“ข้อมูลม่านตาและการสแกนใบหน้าจะไม่ถูกแชร์กับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนใด ๆ” พิชิต กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม พิชิตระบุเพิ่มเติมว่า สภากาชาดไทย ยังสามารถที่จะเปิดเผยต่อหน่วยงานของรัฐและองค์กรด้านมนุษยธรรมว่า บุคคลใดได้ถูกจัดเก็บข้อมูลไบโอเมตริกซ์ และมีเลขยืนยันตัวตน 13 หลักแล้วบ้าง

ตำรวจลอยนวลพ้นผิด

จากหลายกรณีที่ตำรวจดำเนินการต่อผู้อพยพย้ายถิ่นโดยไม่ต้องรับผิดชอบ สร้างข้อกังขาให้กับหลาย ๆ คนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการถึงขึ้นไหน เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลที่ตนต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

“จากประสบการณ์ของผมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านความมั่นคง เจ้าหน้าที่ทหารมักขอข้อมูลส่วนตัวจากโรงพยาบาล” นพ. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว “พวกเขามีช่องทางทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในการค้นหาข้อมูลเหล่านั้น ถ้าอย่างเป็นทางการ ก็ต้องทำจดหมายในนามรัฐ เราก็ต้องปฏิบัติตามที่เขาขอ”

ทางการไทยเตรียมออกกฎหมายเพิ่มเสนอให้มีการจัดทำฐานข้อมูลระดับชาติ สำหรับการตรวจรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ – DNA) และข้อมูลไบโอเมตริกซ์ของประชากร 4 แสนราย และผู้ต้องขัง 1 หมื่นราย ต่อปี

สภากาชาดกล่าวว่า พวกเขาจะไม่ยอมเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยโดยการเปิดเผยข้อมูลจากการสแกนใบหน้าหรือม่านตา “ให้กับตำรวจหรือหน่วยงานอื่นใด” ในทุกกรณี

อย่างไรก็ตาม สภากาชาดเสริมว่า ถ้าจะต้องเปิดเผยข้อมูล อาจจะทำได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งศาลเท่านั้น

240510-th-data-collection-myanmar-3.jpeg
แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาขณะซื้อขนมขบเคี้ยว ในห้วงที่รัฐบาลไทยสั่งมาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลาสองสัปดาห์ หลังตรวจพบผู้ติดโควิด-19 กว่าพันราย ในที่พักคนงาน ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 (โซ ซียา ตุน/รอยเตอร์)

นโยบายความเป็นส่วนตัวของประเทศไทยที่เพิ่งมีขึ้น รวมถึงการรั่วไหลของข้อมูลครั้งใหญ่ในปี 2566 ทำให้ประชาชนวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูล

ในเดือนมีนาคม ปี 2566 นพ. สุพัฒน์ จากชมรมแพทย์ชนบท ที่ต่อมาทราบว่า เป็นผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลอัตลักษณ์พลเมืองไทยจำนวน 55 ล้านคน ซึ่งสังคมไทยในขณะนั้น พากันกล่าวโทษว่า การรั่วไหลครั้งนั้นเกิดขึ้นจากบริษัทเอกชนผู้พัฒนาแอปหมอพร้อม  

กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล

ประเทศไทยผ่านกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับแรกและฉบับเดียวในปี 2565 แต่ผู้วิจารณ์กล่าวกันว่า กฎหมายยังอ่อนเกินกว่าจะให้ความคุ้มครองเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีช่องโหว่ที่สำคัญคือหากเป็นการทำ “ผ่านสัญญา ภายใต้อำนาจของกฎหมาย” สามารถการรวบรวมและนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมอย่างแน่ชัด หากเป็นไปเพื่อ “วัตถุประสงค์ของการช่วยชีวิต การวิจัยทางสถิติ สาธารณประโยชน์ หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของตน”

“แม้ว่านั่นจะเป็นพื้นฐานทางกฎหมายที่ดี แต่จริง ๆ แล้วยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ” โฆษกของโครงการอินเทอร์เน็ตเมียนมา กล่าว

ในบางกรณี โครงการนี้มีความคล้ายคลึงกับโครงการที่ทำในบังกลาเทศมาก จากกรณีการโต้แย้งของสหประชาชาติในปี 2564 ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบหนึ่งล้านคน ถูกส่งไปให้เจ้าหน้าที่บังกลาเทศและเมียนมา ทำให้บางคนต้องหลบซ่อนตัว

240510-th-data-collection-myanmar-4.jpeg
ทีมอาสาสมัครตั้งโต๊ะแจกอาหารแก่แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่ตกงาน หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ในกรุงเทพฯ วันที่ 23 เมษายน 2563 (โซ ซียา ตุน/รอยเตอร์)

ในอดีต การจดทะเบียนจะดำเนินการโดยตรงกับกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ผู้อพยพย้ายถิ่นบางรายรู้สึกไม่สบายใจ แม้ว่าจะได้รับบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานก็ตาม ดร. ชัย จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าว

การดำเนินการผ่านองค์กรพัฒนาเอกชน ทำให้บางคนรู้สึกสบายใจกว่า

“คุณรู้ไหม พวกเขาค่อนข้างกลัวที่จะแสดงตัวตนต่อรัฐด้วยการไปดำเนินการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ” ดร. ชัย กล่าวเสริม “แต่ถ้าพวกเขาเพียงแค่แสดงภาพใบหน้าหรือแม้แต่ม่านตาของพวกเขา พวกเขาก็ไม่วิตกนักเพราะไม่ต้องปรากฏตัวต่อสาธารณะ”

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ตอบคำถามของเรดิโอฟรีเอเชีย ในขณะที่เขียนบทความนี้

* เพิ่มเติมข้อมูลโควตของ ดร. ชัย ในท้ายข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง