แกนนำราษฎร : ปี 64 ยังเคลื่อนไหวต่อ ย้ำ 3 ข้อเรียกร้องเดิม

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.01.13
เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
แกนนำราษฎร : ปี 64 ยังเคลื่อนไหวต่อ ย้ำ 3 ข้อเรียกร้องเดิม ผู้ชุมนุมในนามราษฎรจัดกิจกรรมส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

แกนนำคณะราษฎร ยืนยันกับเบนาร์นิวส์ว่า ปี 2564 นี้ยังมีการเคลื่อนไหวใน 3 ข้อเรียกร้องดังเดิม ทั้งทางโซเชียลมีเดียและมีกิจกรรมเรียกร้องต่อไป หลังมาตรการการเดินทางผ่อนคลาย แม้เจ้าหน้าที่รัฐพยายามดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว

นายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และแกนนำคณะราษฎร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเคลื่อนไหวของคณะราษฎรในปี 2564 จะยังดำเนินอยู่ แต่อาจมีการเปลี่ยนรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์

“เราเคลื่อนไหวต่อแน่นอน แต่การเคลื่อนไหวของเราไม่ได้มีลักษณะเป็นการชุมนุม หรือปิดถนนปราศรัยเสมอไป ตอนนี้ก็มีความพยายามที่จะเคลื่อนไหวอยู่หลายรูปแบบ ทั้งในพื้นที่โซเชียลมีเดีย หรือกิจกรรมที่ไม่ต้องรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก ข้อเรียก 3 ข้อยังคงเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ในปีนี้พอโควิดหาย ก็จะเดินทางเพื่อพูดย้ำถึง 3 ข้อนี้ต่อไปเรื่อย ๆ” นายอานนท์ กล่าว

การชุมนุมของเยาวชนและประชาชนในนาม “ราษฎร” เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา โดยมีข้อเรียกร้องหลักคือ การให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามปราบปรามการชุมนุมด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคม 2563 มีประชาชนอย่างน้อย 90 ราย ถูกควบคุมตัวระหว่างการชุมนุม ขณะเดียวกัน ในการชุมนุมหลายครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม โดยศูนย์แพทย์ฉุกเฉินเอราวัณ รายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 41 ราย เฉพาะจากการสลายการชุมนุม บริเวณใกล้รัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราจัดการกับผู้ชุมนุม ทำให้นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งแกนนำ ผู้ปราศรัย และผู้ร่วมกิจกรรม ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 37 ราย ใน 23 คดี และมีการดำเนินคดีด้วยข้อหาอื่น ๆ อีกไม่ต่ำกว่า 100 กรณี

อย่างไรก็ตาม นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ แกนนำกลุ่มมวลชนอาสา (We Volunteer-Wevo) เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า การใช้ ม.112 จัดการกับผู้ชุมนุม จะไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวเรียกร้องได้

“สำหรับการดำเนินคดี ม.112 ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกหวาดกลัว หรือท้อถอย และผมยังเชื่อมั่นว่า ในระดับแกนนำหรือประชาชนก็ไม่รู้สึกกลัว การถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรานี้ เพราะจะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน มีการตอบโต้การใช้ ม.112 เข้มข้นขึ้น มีการแขวนป้ายในที่สาธารณะ มีการขึ้นสถานะ หรือใช้โซเชียลมีเดียในการรณรงค์เรื่องนี้มากขึ้น เชื่อว่าการต่อสู้จะเข้มข้นขึ้นในปีนี้ ผมเชื่อว่า การใช้ ม.112 ยิ่งทำให้คนรู้สึกกล้าที่จะต่อสู้เรื่องนี้มากขึ้นด้วย” นายปิยรัฐ กล่าว

ต่อการใช้ ม.112 จัดการกับผู้ชุมนุม นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงปลายปี 2563 การดำเนินคดี 112 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังการชุมนุมใหญ่หลายครั้งโดยคณะราษฎร

“จากข้อมูลของตำรวจที่บอกว่า ปี 2562 ทั้งปี มีคนฟ้องร้องให้ดำเนินคดี 112 กับประชาชนถึง 100 กว่าครั้ง แต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีเลย แต่เมื่อ 19 พฤศจิกายน ประยุทธ์ประกาศจะใช้กฎหมายทุกมาตรา เราก็เห็นการดำเนินคดี 112 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เห็นการตีความกว้างขวางออกไปเรื่อย ๆ ถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าจับตามอง” นายสุณัย กล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อประเมินท่าทีของรัฐบาล หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมระบุว่า รัฐบาล รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้ตอบสนองข้อเรียกร้องใด ๆ เลยแม้แต่น้อย

“เรื่องการตอบสนองข้อเรียกร้องของรัฐบาล ผมมองว่า รัฐบาลยังมั่นใจในฐานอำนาจของตัวเอง ทำให้เรายังไม่เห็นความชัดเจนว่า เขาพร้อมจะปรับหรือแก้ไขตามที่ประชาชนเรียกร้อง ซึ่งผมเห็นว่า รัฐบาลประเมินเรื่องนี้พลาด เพราะการยอมหักไม่ยอมงอ ยอมปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตอบโต้การประท้วงต่าง ๆ ลุกลามบานปลาย โดยไม่พยายามจะเข้าใจความตั้งใจดีของประชาชน และมองประชาชนเป็นศัตรู พร้อมห้ำหั่นประชาชน จะเป็นหายนะที่รออยู่ของรัฐบาล” นายปิยรัฐ กล่าว

หลังการชุมนุมของคณะราษฎร ในสื่อปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จเยี่ยมและทรงใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น เช่น เมื่อหลังจากทรงเสด็จเปลี่ยนเป็นเครื่องทรงฤดูหนาว ถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร นอกพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 หรือภาพทรงกวาดพื้น ระหว่างตรวจเยี่ยมโครงการพระราชทาน โคก หนอง นาแห่งน้ำใจและความหวัง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563

อย่างไรก็ตาม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า รัฐบาลสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่จำเป็นต้องใช้กฎหมายกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย

“ปัจจุบัน บทบาทของเจ้าหน้าที่ คือ การดูแลการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย แต่ในส่วนของการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมบางราย ก็เป็นเพราะพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมรายนั้น ละเมิดกฎหมาย ยืนยันว่า รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไม่เลือกปฏิบัติ และผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็สามารถต่อสู้คดีได้ตามปกติ” นายอนุชา กล่าว

“รัฐบาลเองก็อยากจะให้ผู้ชุมนุมเข้ามาร่วมกรรมการสมานฉันท์ ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐสภา เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า โดยรัฐบาลยังหวังว่า การพูดคุยจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเองก็ยังคงต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม และรัฐบาลก็ต้องพยายามทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยด้วยกฎหมาย เพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศด้วยเช่นกัน” นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติม

ไทยภักดี สนับสนุนให้รัฐบาลใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม อย่างถึงที่สุด

นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มไทยภักดีจะมี 5 แนวทางหลัก ในปี 2564 นี้ และไทยภักดียังสนับสนุนให้รัฐบาลใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมคณะราษฎรอย่างถึงที่สุด

“สิ่งที่เราต้องการให้รัฐบาลดำเนินการคือ เราเรียกร้องมาตลอดว่า รัฐบาลควรดำเนินการตามกฎหมาย ใครทำผิดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นมาตราใด ๆ รวมทั้ง ม. 112 ก็ต้องดำเนินคดี เพราะประเทศเราต้องเคารพกฎหมาย และเราเรียกร้องให้รัฐบาลต้องช่วยเอาข้อเท็จจริงมาตีแผ่ให้สังคมได้เข้าใจ” นายแพทย์วรงค์ กล่าว

“5 แนวทางหลักคือ 1. การปกป้องสถาบันหลัก เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมยังพยายามแซะสถาบันหลักของประเทศ ซึ่งเราก็จะต้องพยายามปกป้อง และนำความจริงออกมานำเสนอต่อสาธารณชน 2. เราพยายามสืบสานความเป็นไทย 3. เราจะแสดงจุดยืนในการปกป้องรัฐธรรมนูญ 60 เพราะ เราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง และปกป้องประเทศในอนาคต 4. กลุ่มไทยภักดี ตั้งใจจะสนับสนุนการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะเราอยู่ตรงข้ามพรรคก้าวไกล และ 5.เราตั้งใจจะขยายเครือข่ายไปทุกจังหวัดในปีใหม่นี้” นายแพทย์วรงค์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กลุ่มไทยภักดี เป็นการรวมตัวของประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาล รวมถึง ประกาศตัวว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีการเปิดตัวกลุ่มอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2563 และประกาศ 5 จุดยืนดังกล่าว และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลคือ 1. ต้องไม่ยุบสภา 2. ต้องดำเนินการตามกฎหมาย อย่างเคร่งครัดกับทุกกลุ่มที่จาบจ้วงสถาบันฯ และ 3. ต้องไม่แก้รัฐธรรมนูญ 2560

นักวิชาการชี้ การรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องอย่างจริงใจ คือ ทางออกสำหรับรัฐบาล

ปัจจุบัน แม้รัฐสภาจะได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามการเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว และตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อหาทางออกของวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามนักวิชาการเชื่อว่า ท่าทีของรัฐสภายังไม่ใช่ท่าทีที่ประชาชนซึ่งออกมาเรียกร้องต้องการเห็น

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในช่วงปี 2563 รัฐบาลไทยมิได้พยายามนำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมาพิจารณา ทำให้ปัญหายังคงดำเนินต่อไป ซึ่งทางออกที่รัฐบาลทำได้คือ พยายามจริงใจรับฟังปัญหาจากผู้ชุมนุม

“รัฐบาลควรยอมรับหลักการสากล หลักสิทธิมนุษยชน แล้วควรมองเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน ควรฟังเสียงเยาวชนที่เขาจะโตขึ้นมาในประเทศนี้ ไม่ใช่เพียงแต่สร้างวาทกรรมที่จะลดทอนความชอบธรรม หรือลดทอนบทบาทของคนรุ่นใหม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลไม่ได้เป็นผลดีกับการพัฒนาประเทศ” นายฐิติพล กล่าว

ด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาล รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ควรรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอย่างจริงใจ เพราะเชื่อว่า การรับฟังข้อเรียกร้องจะเป็นทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น

“ปัจจุบัน แม้กระแสการเคลื่อนไหวซบเซาลงไปบ้าง แต่เชื่อว่า ความคับข้อง ขุ่นเคืองของประชาชนยังไม่หายไปไหน เพราะปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้ถูกคลี่คลาย ซึ่งจริง ๆ แล้วต่อให้ไม่มีกระแสกดดันจากนอกสภา รัฐสภาก็ควรพยายามที่จะพิจารณาแก้ไข การตั้งกรรมการสมานฉันท์เชื่อว่า ไม่น่าจะแก้อะไรได้ นอกจากฝ่ายค้านจะไม่ร่วมด้วยแล้ว ประชาชนยังไม่ได้ยินดีกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

“รัฐบาลควรพยายามรับฟังปัญหา และนำผู้ชุมนุมเข้าไปร่วมแก้ไขด้วยอย่างจริงจัง การปฏิรูปสถาบันควรเกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ การที่สถาบันฯ จะย้อนไปใช้วิธีเหมือนที่เคยปฏิบัติมาตลอด 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา น่าจะไม่มีผลกับคนรุ่นปัจจุบันแล้ว ซึ่งคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกแล้วว่า พวกเขาต้องการแบบไหน มันไม่สามารถใช้วิธีแบบดั้งเดิมได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันต้องตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้เคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง