นักเศรษฐศาสตร์ : หนี้สาธารณะ 10 ล้านล้าน จะทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุน

นนทรัฐ​ ไผ่เจริญ
2022.06.23
กรุงเทพฯ
นักเศรษฐศาสตร์ : หนี้สาธารณะ 10 ล้านล้าน จะทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุน พ่อค้าเข็นรถอาหารข้ามสี่แยกที่พลุกพล่านไปด้วยรถจักรยานยนต์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 4 กันยายน 2562
เจมูนู อมาร์ซิงห์/เอพี

รศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า หนี้สาธารณะของไทยที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในระดับ 10 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน จะทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอนาคต ซึ่งรัฐบาลควรเร่งสร้างแหล่งรายได้ใหม่ด้วยการลงทุนทางด้านกายภาพของระบบเศรษฐกิจ และซอฟท์แวร์ของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์

ด้าน นักธุรกิจเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องลดการกู้เงิน และใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานสถานะหนี้สาธารณะ ระบุว่า “ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 9,951,962.73 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60.58 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)” ขณะที่จีดีพี อยู่ที่ 16.42 ล้านล้านบาท และสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 26.77% แบ่งเป็น ภาระหนี้ของรัฐบาล 6.53 แสนล้านบาท และประมาณการรายได้ 2.44 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์การทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล

ดร. อนุสรณ์ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์โควิด-19 มีผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือรัฐบาลไม่พยายามที่จะปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน

“รัฐบาลก่อหนี้เพื่อมาบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าของโควิด มากกว่านำมาสร้างงานที่นำไปสู่ความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดรายได้ในอนาคต และรัฐยังไม่กล้าที่จะลดงบประมาณที่ควรต้องลด เช่น งบจัดซื้อยุทโธปกรณ์ หรืองบอื่น ๆ ที่ไม่ก่อรายได้ในอนาคต รัฐบาลไม่มีทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการในช่วงวิกฤติ” ดร. อนุสรณ์ กล่าว

“รัฐควรยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ สร้างแหล่งรายได้ใหม่ เพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เต็มศักยภาพ ด้วยการลงทุนทางด้านกายภาพของระบบเศรษฐกิจ และซอฟท์แวร์ของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์” ดร. อนุสรณ์ ระบุ

ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า อัตราหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ปัจจุบัน ไทยจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องในตลาดเงินที่ลดลง

“สถานการณ์จะทำให้เกิดการถดถอยลงของความเชื่อมั่นนักลงทุน มีข้อจำกัดในการลงทุนมากขึ้น มีแรงกดดันต้องตัดลดสวัสดิการ และไม่สามารถลดงบรายจ่ายประจำได้” ดร. อนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่หลังจากนี้ รัฐบาลจะพยายามใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม

“ความจำเป็นที่จะใช้มาตรการในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นกลับเข้ามา จะต้องเน้นทำให้ถูกฝาถูกตัวมากขึ้น เพราะทุกประเทศก็ต้องดูรายได้ของรัฐบาล จะใช้จ่ายเหมือนเดิมไม่ได้ ซึ่ง พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอ เพราะการใช้งบประมาณในการออกมาตรการแต่ละครั้ง 3-5 หมื่นล้านบาท” นายอาคม กล่าวเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565

ในเรื่องหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น นายพยัคฆ์ นารีพิฆาต ผู้ประกอบการและนักลงทุน อายุ 38 ปี ระบุว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลควรพยายามหาโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว และลดการกู้

“การกู้เงินหรือแก้ปัญหาของรัฐบาลช่วงโควิดทำได้ถูกต้องกับสถานการณ์แล้ว เพราะช่วยเศรษฐกิจและผู้ประกอบการได้ แต่ปัจจุบัน ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องหยุดโครงการเฉพาะหน้า แล้วหาเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ที่แท้จริง และยั่งยืนให้กับประเทศ เพราะถ้ารัฐยังใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และกู้เงินเหมือนช่วงโควิด ไม่มีโครงการใหม่ที่สร้างความได้เปรียบให้กับประชาชนหรือประเทศได้จริง ประกอบกับปัจจัย เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เศรษฐกิจถดถอย อาจทำให้ประเทศเจอสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น” นายพยัคฆ์ กล่าว

ก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยึดอำนาจ และกลายเป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนพฤษภาคม 2557 ไทยมีหนี้สาธารณะ 42.50% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่า 5.53 ล้านล้านบาท และทุกปีรัฐบาลได้เพิ่มวงเงินงบประมาณกลางปีมาตลอด

เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้รัฐบาลปรับลดงบคืนต้นเงินกู้ 3.53 หมื่นล้านบาท และกู้เพิ่ม 2.14 แสนล้านบาท ทั้งยังออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในเดือนเมษายน 2563 และ 5 แสนล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2564

การเพิ่มงบประมาณกลางปี และการกู้เงินเพิ่ม ทำให้ในเดือนกันยายน 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะให้เป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อรองรับการกู้เงิน และการขาดดุลงบประมาณ จากเดิมที่เพดานหนี้สาธารณะซึ่งต้องไม่เกิน 60 %

ทั้งนี้ ตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศ ไทยขาดดุลงบประมาณโดยตลอด โดยเฉพาะ ปี 2561 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท หรือ 2.8% ต่อจีดีพี, ปี 2562 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท หรือ 2.6% ต่อจีดีพี, ปี 2563 ขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท หรือ 2.7% ต่อจีดีพี, ปี 2564 ขาดดุล 6.23 แสนล้านบาท หรือ 3.8% ต่อจีดีพี และปี 2565 ขาดดุล 7 แสนล้านบาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง