รัฐบาลเคาะ 1.23 พันล้านบาท สร้างฮาลาลวัลเลย์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.07.15
กรุงเทพฯ
รัฐบาลเคาะ 1.23 พันล้านบาท สร้างฮาลาลวัลเลย์ พนักงานบรรจุเนยลงในบรรจุภัณฑ์ที่โรงงานนมและบิสกิตฮาลาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 31 มกราคม 2560
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

รัฐบาลเปิดเผยว่า ไทยกำลังผลักดันนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งประเทศไทย (Thailand Halal Valley) โดยวางแผนให้สำเร็จภายในปี 2570 ใช้งบประมาณ 1.23 พันล้านบาท หวังให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลอาเซียน แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะดำเนินการในจังหวัดใด 

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผลักดันศักยภาพสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร และเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงทางอาหารของโลก ผ่านมาตรการกลไกการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งรวมทั้งการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนให้ไทยมีส่วนการส่งออกสินค้าประเภทอาหารในตลาดฮาลาล” นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลง

นายชัย ระบุว่า ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารรายสำคัญของไทยได้ดำเนินมาตรการความมั่นคงทางอาหารโดยการพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารฮาลาล เป็นตลาดที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น และนับเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของสินค้าและอาหารฮาลาลของไทย ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยสู่สากล นำเสนอสินค้าอาหารฮาลาลไทยให้มิตรประเทศ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางฮาลาลอาเซียนภายในปี 2570 ตลอดจนเดินหน้าต่อยอดให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของโลก” นายชัย กล่าว

“รัฐบาลจะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย และพัฒนาฝีมือแรงงานและบุคลากรฮาลาลไทย วางกรอบใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,230 ล้านบาท” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังไม่ได้ระบุว่า Thailand Halal Valley จะดำเนินการในจังหวัดใด 

น.ส. พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้วางเป้าหมายภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 4 ปี (ปี 2567–2570) ยกระดับไทยสู่การเป็นศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน 

“ขั้นตอนต่อไปจะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ไว้ 5 กลุ่ม” น.ส. พิมพ์ภัทรา กล่าว 

สำหรับเป้าหมายการผลิตและบริการคือ 1. อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่ 2. แฟชั่นฮาลาล เช่น สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง 3. ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล 4. โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง และ 5. บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล

ขณะที่ ดร. ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ส่งเสริมการค้าผ่านการขยายตลาดการค้าสินค้าและบริการฮาลาล ทั้งในและระหว่างประเทศ

"ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่แก้ปัญหาอุปสรรค อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา แนะนำ จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการฮาลาลไทย เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการฮาลาล การพัฒนาโลจิสติกส์ฮาลาล และนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล เพิ่มศักยภาพในการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้ประกอบการ” ดร. ณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ ระบุว่า การส่งออกอาหารฮาลาลไทยปี 2566 มีมูลค่า 222,289 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากปี 2565 ซึ่งส่งออกได้ 213,816 ล้านบาท ประมาณ 4.0% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2562 ที่ไทยส่งออกได้ 168,065 ล้านบาท

ขณะที่ ดร. ปราโมทย์ แหล่ทองคำ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากหวังจะให้ฮาลาลวัลเลย์มาตั้งที่เดิมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการทำและเจรจากันมากว่า 10 ปีแล้ว

“เรื่องนี้มีการคุยมานานแล้ว ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ ยกเว้นเสียว่าจะไปสร้างที่อื่น ในภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยมากกว่านี้ แต่อย่างไรก็ดี คิดว่าภาพลักษณ์ของไทยกับท่าทีของมุสลิมโลกต่อประเทศไทย จะเกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น หากสามารถผลักดันฮาลาลวัลเลย์ให้สำเร็จได้ในรัฐบาลชุดนี้” ดร. ปราโมทย์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา รัฐบาลพยายามผลักดันโครงการพัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์ความไม่สงบ

ต่อมาปี 2564 รัฐบาลเคยประกาศร่างวิสัยทัศน์การส่งเสริมอาหารฮาลาล (Thailand Halal Blueprint) ซึ่งมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาล โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายในปี 2570 อย่างไรโครงการหยุดชะงักไปเนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล 

ด้านนายอิมรอน อีซอ ชาวบ้านในจังหวัดยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เป็นแผนที่ชาวบ้านยังมองไม่ออกเลยว่ามีความชัดเจนอย่างไร เพราะมีโครงการลักษณะนี้ในทุกรัฐบาล

“มันไม่ใช่เรื่องใหม่เลย จะบอกว่ามีทุกรัฐบาลก็ว่าได้ สุดท้ายพื้นที่เหล่านี้ก็กลายเป็นป่าช้า ถ้าทำจริงได้ก็ดี แต่ส่วนมากที่ทำ จะประโยชน์ของราชการมาก่อน มันถึงจบแบบป่าช้าอย่างที่เห็น” นายอิมรอน กล่าว

ปี 2565 เอ็กซิมซ์แบงก์ ระบุว่า ประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่สุดในโลก คือ สหรัฐฯ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.91) ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี จีน และฝรั่งเศส ขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 11 ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.44 โดยมีตลาดหลัก ๆ ในกลุ่มประเทศโอไอซี และตะวันออกกลาง

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง