ตำรวจคุมตัว 2 ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาปี 2558 โยงใยอดีต พล.ท. มนัส
2022.09.02
กรุงเทพฯ
พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. แถลงข่าวในวันศุกร์นี้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุม ผู้ต้องหา 2 ราย ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา เมื่อปี 2558 ที่มีจำเลยคนสำคัญคือ พล.ท. มนัส คงแป้น อดีต ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 โดยสามารถจับทั้งคู่ได้ในวันที่ 1 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ในร้านอาหารแห่งหนึ่งริมถนนพระรามเก้า กรุงเทพฯ ซึ่งผู้ต้องหาทั้งคู่ได้เปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เปลี่ยนไปใช้สัญชาติมาเลเซีย และอาศัยอยู่ในมาเลเซียนานหลายปี
“ผู้ต้องหา 2 คน กับลูกอีกหนึ่ง เดินทางจากมาเลเซีย เข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 (สิงหาคม) ที่ผ่านมา ทางผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร จังหวัดสงขลา ก็ประสานกับสันติบาลของมาเลเซีย กระทั่งแจ้งเรามาว่า ตัวผู้ต้องหาเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ชุดสืบสวนตรวจสอบและติดตาม กระทั่งทราบว่าเป็นโรงแรมอะไร แล้วก็ทำการจับกุมได้เที่ยงคืนของเมื่อวานซืน” พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ กล่าว
“ตัวผู้ต้องหาทั้งหมดครั้งแรก ไม่ยอมรับสารภาพ แต่เมื่อเรายืนยันตามใบแจ้งเกิด ใบ มท. 14 ของบุตร ซึ่งยังระบุชื่อ (บิดา) เป็นนายหม่อง ถ่าน ทุน ชื่อ (มารดา) นางราฮานา เจ๊ะสะมะแอ เจ้าตัวจึงยอมรับสารภาพ คดีนี้มั่นใจว่าจะเอาผิดกับผู้ต้องหาทั้ง 2 คนได้ เนื่องจากมีพยานบุคคล การใช้โทรศัพท์ และเส้นทางการเงินที่เชื่อมโยงกับ พล.ท. มนัส คงแป้น ถึงแม้ว่าผู้ต้องหาจะให้การปฏิเสธคือ รับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนชาวโรฮิงญาแต่อย่างใด” พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายหม่อง ถ่าน ทุน เดิมมีสัญชาติเมียนมา ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ซุลกิฟลี บิน อับดุลลาห์ (Zulkifli Bin Abdullah) และนางราฮานา เจ๊ะสะมะแอ เดิมมีสัญชาติไทย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น โรฮานา บินติ มาต ซาอิด (Rohano Binti Mat Said) ทั้งคู่มีสัญชาติมาเลเซีย
ทั้งคู่ถูกออกหมายจับศาลจังหวัดนาทวี ที่ 308/2558 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์, ช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวเข้าประเทศแบบโดยผิดกฎหมาย, กักขังหน่วงเหนี่ยว และเรียกค่าไถ่ และที่ 477/2558 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ฐานฟอกเงิน ช่วงที่ผ่านมา ทั้งคู่อาศัยอยู่ที่บ้านพักภายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ร่วมกับบุตรชายและบุตรสาว ประกอบอาชีพค้าขาย ทำธุรกิจออนไลน์ และทำธุรกิจทัวร์นำเที่ยว
“ทั้งสองคนเป็น ผู้ต้องหารายสำคัญ ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้กระทำผิดระดับหัวหน้าขบวนการ ในการควบคุมสั่งการนำชาวโรฮิงญา จากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ผ่านมายังประเทศไทย และส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย โดยเปิดบริษัทรถทัวร์โดยสารบังหน้า” พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ระบุ
นายสมัคร ทัพธานี เจ้าหน้าที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ระบุว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การค้ามนุษย์ผ่านชายแดนของประเทศไทย ยังคงดำเนินอยู่ และมีความซับซ้อนในการดำเนินการมากขึ้น
“ขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ช่วงที่ผ่านมาก็ยังมีกลุ่มที่ลักลอบขนย้ายเข้ามา เพื่อนำไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ยังมีการใช้วิธีการข่มขู่ผู้ปกครองที่ประเทศต้นทางเพื่อเรียกรับเงินอยู่ แม้จะช่วงโควิดก็ยังมีอยู่ ซึ่งประเทศไทยได้ช่วยเหลือไว้ได้จำนวนหนึ่ง ในคดีนี้ มูลนิธิเราก็เพิ่งทราบว่า ปัจจุบัน คนเมียนมาสามารถเปลี่ยนสัญชาติได้ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สามารถดำเนินการจับกุมได้สำเร็จ” นายสมัคร กล่าว
คดีของทั้งคู่ เป็นคดีที่สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 มีการเปิดเผยการพบหลุมศพของผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งถูกลักลอบพาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายบนเทือกเขาแก้ว พื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจของนักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การออกหมายจับ พล.ท. มนัส และผู้เกี่ยวข้องรายอื่น ๆ โดย พล.ท. มนัส เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2558
คดีนี้มี พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจ ภาค 8 ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าฝ่ายสอบสวน ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2558 พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีดังกล่าวใน 16 ข้อหา เช่น พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และข้อหาอื่น ๆ ต่อมา พล.ต.ต. ปวีณ ตัดสินใจลี้ภัยจากประเทศไทยไปยังออสเตรเลีย หลังจากถูกสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่บังคับบัญชาของ พล.ท. มนัส
เดิมคดีนี้ มีผู้ต้องหา 103 ราย มีจำเลยคนสำคัญนอกจาก พล.ท. มนัส อีก 3 ราย ประกอบด้วย นายบรรณจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล และนายซอเนียง อานู หัวหน้าขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา
ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ศาลอาญาชั้นต้นได้พิพากษาจำคุก พล.ท. มนัส เป็นเวลา 27 ปี โดยมีจำเลยถูกตัดสินให้ถูกลงโทษ 61 ราย ยกฟ้อง 40 ราย และเสียชีวิตระหว่างการพิจารณา 1 ราย และวันที่ 31 ตุลาคม 2562
ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิ่มโทษ พล.ท. มนัส เป็นเวลา 82 ปี และมีจำเลยถูกตัดสินโทษรวม 88 ราย ปัจจุบัน พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ระบุว่า คดีนี้ดำเนินการออกหมายจับผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 153 ราย จับกุมแล้ว 124 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 ราย และยังหลบหนีอีก 26 ราย