ก้าวไกลถอยให้เพื่อไทยนำการตั้งรัฐบาล

นพ. ชลน่าน ระบุ ต้องคุย สว. และก้าวไกล เรื่องเงื่อนไข ม.112 หากอยากตั้งรัฐบาลสำเร็จ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2023.07.21
กรุงเทพฯ
ก้าวไกลถอยให้เพื่อไทยนำการตั้งรัฐบาล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความพยายามจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วม 8 พรรค ในกรุงเทพฯ วันที่ 21 กรกฎาคม 2566
เอเอฟพี

พรรคก้าวไกล และเพื่อไทย แถลงข่าวหลังประชุมร่วม 8 พรรค ในวันศุกร์นี้ ระบุว่าก้าวไกลพร้อมสนับสนุนให้เพื่อไทยเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังจากที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่ผ่านการโหวตในสภาร่วม

นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในการแถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทยว่า ก้าวไกล ในฐานะพรรคที่มี สส. เป็นอันดับหนึ่งได้มอบบทบาทแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้แก่พรรคอันดับสองอย่างเพื่อไทยแล้ว 

“ที่ประชุมมีมติให้พรรคเพื่อไทยส่งผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยพรรคก้าวไกลจะเป็นผู้เสนอชื่อให้กับทางที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่เรามีความมุ่งมั่นร่วมกันว่าจะเป็นรัฐบาลที่เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน 27 ล้านเสียงที่เลือกเรามา” นพ. ชลน่าน กล่าว 

นพ. ชลน่าน ระบุว่า หลังจากนี้ เพื่อไทยจะดำเนินการ 3 แนวทางคือ 1. พูดคุยกับ สว. เพื่อแสวงหาเสียงสนับสนุน 2. พูดคุยกับ สส. พรรคอื่น ๆ นอกเหนือจากว่าที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหาเสียงสนับสนุน และ 3. แนวทางอื่น ๆ เช่น การเจรจากับก้าวไกล เพื่อให้ลดเงื่อนไข ม.112 หรือ การเพิ่มพรรคร่วมรัฐบาล 

230721-TH-politics-PM-2.jpg

นพ. ชลนันท์ ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ที่สองจากซ้าย) และชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ที่สองจากขวา) ในงานแถลงข่าวพรรคร่วม 8 พรรค หลังประชุมหารือก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า ที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 (เอเอฟพี)

ในการแถลงข่าวเดียวกัน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ชี้ว่าก้าวไกลพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล และพร้อมพิจารณาเงื่อนไขจาก สว. หรือ สส. พรรคอื่น ๆ ม.112 ที่เป็นประเด็น 

“เป้าหมายสูงสุดที่เราอยากจะเห็นตามเจตจำนงของพี่น้องประชาชนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภา เนี่ยต้องการเห็นการเปลี่ยนขัั้วรัฐบาล เราในฐานะที่ได้รับเสียงมาเป็นอันดับที่หนึ่ง เราจะพยายามอย่างที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น…” นายชัยธวัช กล่าว    

“เราก็ต้องให้เวลาพรรคเพื่อไทยไปพูดคุยกับทาง สว. ว่า รูปแบบแบบไหนที่จะเรียกว่าเป็นการปลดล็อกความไม่สบายใจของทุกท่าน แล้วแนวทางที่จะตั้งรัฐบาลได้หลังจากปลดล็อกเป็นอย่างไร เพื่อที่จะให้พรรคก้าวไกลนำไปพิจารณากันในพรรค” นายชัยธวัช กล่าวเพิ่มเติม 

ทั้งนี้ นพ. ชลน่าน กล่าวว่า เพื่อไทยจะประชุมภายในพรรควันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เพื่อเลือกตัวแทนสำหรับเสนอให้รัฐสภาร่วมเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 

ก่อนหน้านี้ ก้าวไกล และเพื่อไทยจับมือกับพันธมิตรรวม 8 พรรค มี สส. 312 คน จาก สส. ทั้งหมด 500 คน เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกฯ ด้วย 

โดยในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีในปัจจุบัน ทำให้นายพิธาไม่ผ่านความเห็นชอบ 

ในการเลือกนายกฯ สว. และ สส. ฝ่ายรัฐบาลเดิม อ้างว่าไม่เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกฯ เพราะพรรคก้าวไกลเสนอนโยบายแก้ไข ม.112 และในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงความเห็นว่า รัฐสภาไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ ซ้ำได้ ก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 

สำหรับสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาล ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชี้ว่า เพื่อไทยและก้าวไกลมีโอกาสร่วมตั้งรัฐบาลสำเร็จ หากก้าวไกลยอมถอยเงื่อนไขการแก้ไข ม.112 

“มีโอกาสมาที่เพื่อไทยจะเสนอเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต้องมั่นใจว่าสามารถเสนอครั้งเดียวผ่าน ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ไม่แน่นอน เชื่อว่า ถ้าไม่แน่ใจว่าจะรวบรวมเสียงได้ทัน การประชุมสภาน่าจะเลื่อนออกไปก่อน และหากชื่อเศรษฐาไม่ผ่านการโหวต ก็มีโอกาสที่นายกฯ คนต่อไปอาจเป็น ประวิตร (วงษ์สุวรรณ)” ดร. ฐิติพล กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

“มีโอกาสมากที่การจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยจะถูกต่อรองให้พูดคุยกับก้าวไกลเพื่อถอยเงื่อนไข ม.112 ถ้าดึงภูมิใจไทย หรือพลังประชารัฐ ผู้สนับสนุนก้าวไกลน่าจะไม่พอใจ และทำให้เพื่อไทยได้รับผลกระทบเรื่องความนิยม รวมถึงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า มองว่าการยอมถอยเรื่อง ม.112 ไม่น่าจะทำให้ก้าวไกลเสียคะแนนนิยมมากนัก เพราะนโยบายแก้ไข ม.112 เป็นแค่หนึ่งในหลายนโยบาย และเชื่อว่า ฐานเสียงก้าวไกลเลือกก้าวไกลจากนโยบายอื่น ๆ ด้วย” ดร. ฐิติพล ระบุ 

สำหรับพันธมิตร 8 พรรค นอกจากนายพิธา ยังมีชื่อ นายเศรษฐา, น.ส. แพทองธาร และนายชัยเกษม นิติสิริ ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยที่สามารถเสนอชื่อชิงตำแหน่งได้ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรรมนูญที่ระบุว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะสามารถชิงตำแหน่งได้จำเป็นต้องมาจากพรรคที่มี ส.ส. อย่างน้อย 25 คน

ส่วนนอกเหนือจากนั้นมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทย, พล.อ. ประวิตร จากพรรคพลังประชารัฐ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ

230721-TH-politics-PM-3.JPG

ผู้สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร่วมชุมนุมประท้วง ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ หลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกลุ่มรอยัลลิสต์ขัดขวางไม่ให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลและดำเนินการต่อต้านการจัดตั้งพรรค วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 (รอยเตอร์)

ทำลายประชาธิปไตย

กลุ่มอนุรักษ์นิยมไทยได้ใช้กลไกในทุกวิถีทาง เพื่อหยุดยั้งการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิ ทำให้เหล่าู้ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคโกรธแค้น เพราะมันคือความหวังของพวกเขาที่จะนำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่ประเทศ

เมื่อวันศุกร์ ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวถึงการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีแรงจูงใจทางการเมือง และเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง เอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าว

ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในไทยที่มีทหารสนับสนุน กำลังปรับเปลี่ยนกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้หลังการรัฐประหารในปี 2557 เพื่อขัดขวางผู้นำทางการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา ไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล

ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญที่ครอบงำทางการเมืองกำลังพาประเทศไทยไปสู่เส้นทางที่อาจสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง

รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐอเมริกา กำลังจับตาดูพัฒนาการหลังการเลือกตั้งในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงคดีความที่ดำเนินการอยู่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา บอกกับเบนาร์นิวส์ในวันศุกร์

เราสนับสนุนกระบวนการหลังการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และสนับสนุนอนาคตที่เป็นประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทย ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงความมุ่งมั่นต่อประชาธิปไตย” โฆษกกระทรวงฯ ระบุในถ้อยแถลง

สหรัฐอเมริกาไม่ได้มีการคาดหวังผลการเลือกตั้งในทางใดทางหนึ่ง และเราไม่สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งหรือนักการเมืองคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ รายงานระบุ

สิ่งที่เราพร้อมสนับสนุนเต็มที่ทั้งใจ ก็คือประชาธิปไตยในระบบหลายพรรค และกระบวนการหลังการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตจำนงของคนไทย และสนับสนุนอนาคตที่เป็นประชาธิปไตยและรุ่งเรืองของประเทศไทยสืบไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง