ผู้ว่าสงขลาพร้อมรับคนไทย หลังมาเลเซียขีดเส้นตาย ส่งกลับภายใน 21 เม.ย.

มารียัม อัฮหมัด และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.04.20
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
ผู้ว่าสงขลาพร้อมรับคนไทย หลังมาเลเซียขีดเส้นตาย ส่งกลับภายใน 21 เม.ย. แม่ทัพภาคที่ 4 ตรวจเยี่ยมเขตแดนช่องทางธรรมชาติ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส วันที่ 19 เมษายน 2564
เบนานิวส์

ในวันอังคารนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประกาศให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากมาเลเซีย หลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียประกาศเส้นตายให้ชาวต่างชาติที่อาศัยในมาเลเซียเกินกำหนด ต้องออกจากประเทศก่อน 21 เม.ย. 2564 หลังจากที่ได้มีการผ่อนผันมาแล้วหลายครั้ง

ด้านแม่ทัพภาคที่ 4 หวั่นแรงงานลักลอบเข้าช่องทางธรรมชาติ สั่งคุมเข้มชายแดนจังหวัดนราธิวาส และสงขลา ขณะที่นักวิชาการมาเลเซียชี้เพิ่มจุดแพร่ระบาดที่ชายแดน ควรเลื่อนวันดีเดย์และทยอยให้แรงงานชาวไทยเดินทางกลับ

นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เผยต่อสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ฝ่ายปกครองและอาสาสมัครต่างๆ ร่วมกันเตรียมความพร้อมรับคนไทยในมาเลเซียกลับประเทศผ่านด่านพรมแดนสะเดาในสัปดาห์นี้อย่างเต็มที่ หลังมาเลเซียประกาศให้ผู้ที่ถือวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยวที่อยู่เกินกำหนดและที่ลักลอบทำงานโดยได้มีไม่มีใบอนุญาตให้เดินทางออกจากประเทศ ภายในวันที่ 21 เมษายน 2564 หลังจากที่การผ่อนผันมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งหากอยู่เกินกำหนดจะต้องเข้าร่วมโครงการเปรียบเทียบเพื่อเดินทางกลับ โดยการจ่ายค่าปรับ หรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายมาเลเซีย

“เราจะทำการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวด และได้เตรียมสถานที่กักตัวของรัฐ ซึ่งเป็นโรงแรมจำนวน 3 แห่ง รวมมากกว่า 400 ห้อง และยังเตรียมพร้อมโรงแรมอื่น ๆ เพิ่ม เนื่องจากประเมินว่า นอกเหนือจากกลุ่มที่มีการลงทะเบียนเข้ามาอย่างถูกต้องแล้ว อาจจะมีบางกลุ่ม ที่จะใช้การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามช่องทางธรรมชาติ” นายจารุวัฒน์ กล่าว

รายงานจากเว็บไซต์ฟรีมาเลเซียทูเดย์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียได้ออกมาตรการ MCO (The movement control order) เพื่อลดการเดินทางและควบคุมการระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลให้ชาวต่างชาติและแรงงานไทยในมาเลเซีย ไม่สามารถต่อวีซ่า หรือเดินทางได้ตามปกติ แต่หลังจากที่มาตรการ MCO ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม ทำให้ชาวต่างชาติต้องเดินทางออกจากมาเลเซีย ภายในวันที่ 21 เมษายน หลังจากที่ได้ขยายเวลามาแล้วหนึ่งครั้งคือ วันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา

“ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติหลายประเทศ ในมาเลเซีย ได้รับข้อความจากสถานทูตของประเทศตนเอง ให้ผู้ที่พำนักในมาเลเซียเกินกำหนด ต้องเดินทางออกนอกประเทศภายในวันที่ 21 เมษายน หากฝ่าฝืนจะถูกปรับหรือจำคุก” ส่วนหนึ่งในเว็บไซต์ดังกล่าวระบุ

ด้านนายมงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู เผยกับสื่อมวลชนว่า ทางการมาเลเซีย ได้มีมาตรการให้คนต่างชาติ รวมถึงคนไทย ที่พำนักในมาเลเซียเกินกำหนด รีบดำเนินการกลับประเทศภายในวันที่ 21 เมษายน 2564 ซึ่งแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เข้าไปพำนักในประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยจะใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุโลมให้สามารถเดินทางออกจากมาเลเซียได้ โดยไม่ต้องขอ special pass และอีกกลุ่มที่อยู่ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563

“ส่วนผู้ที่อยู่เกินกำหนด ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 หรือผู้ที่ไม่ได้รับการตรวจลงตราเข้าเมืองในเอกสารเดินทาง สามารถขอเดินทางกลับประเทศของตนได้โดยไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีในมาเลเซีย แต่จะต้องเข้าร่วมโครงการ Recalibration Program (Repatriation) ของทางการมาเลเซีย โดยเสียค่าปรับเป็นเงิน 500 ริงกิต” นายมงคล กล่าว

ที่ผ่านมาทั้ง จังหวัดสงขลา ยะลา และนราธิวาส ซึ่งติดเขตแดนมาเลเซีย มีคนไทยราว 2 แสน ที่ทำงานในมาเลเซีย จนกระทั่งมีการระบาดเชื้อโควิด 19 ส่งผลให้ต้องทยอยเดินทางกลับมาแล้ว จำนวนแสนกว่าคน ขณะที่บางส่วนยังอยู่ในประเทศมาเลเซีย ทั้งที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมายราวสามหมื่นคน โดยล่าสุดรัฐบาลมาเลเซียกำหนดเส้นตายให้ชาวต่างชาติต้องออกจากประเทศก่อน 21 เมษายน 2564 โดยทางการไทยเตรียมเปิดด่านพรมไทย-มาเลเซีย เพื่อรับแรงงานไทยในมาเลเซีย ที่คาดว่าจะเดินทางกลับประเทศมากขึ้นในวันพรุ่งนี้

ด้านนายอัสดี มะยามี ชาว จ.สงขลา แรงงานร้านต้มยำไทย ในมาเลเซีย ที่ยังอาศัยอยู่ในมาเลเซีย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า หนังสือเดินทางหมดอายุไปแล้ว และจะเดินทางกลับบ้านนานแล้ว ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยออกมาถึงด่านเบตงก่อนที่เขาจะปิดประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้ออก โดยให้เหตุผลว่าต้องดำเนินการตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด

“ตอนนั้นเราไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะหนังสือเดินทางหมดอายุ ประกอบกับไม่รู้ภาษาด้วย ปัญหาการกลับบ้านของพวกเรา จึงยากที่จะแก้ได้ จนล่าสุดมาเลเซียเตรียมเปิดให้ออกมา ก็รู้สึกดีใจ” นายอัสดี กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ที่ผ่านมามีคนไทยมากกว่าหนึ่งแสนคนที่ได้รับการช่วยเหลือให้เดินทางจากมาเลเซีย เพื่อกลับไทยในช่วงของการระบาดในปีที่แล้ว

“คาดการณ์ว่าจำนวนแรงงานไทยที่ยังตกค้างอยู่ในมาเลเซีย มีอยู่ประมาณ 4-5 หมื่นคน” นายธานี ระบุ

สั่งเพิ่มความเข้มงวดป้องกันผู้ลักลอบเข้าทางธรรมชาติ

พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ได้ออกมาตรการดูแลสกัดกั้นตามแนวชายแดน โดยได้มีการตรวจตราอย่างเข้มงวด เพิ่มเติมกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าตรวจ โดยเฉพาะการเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติผิดกฎหมาย ของแรงงานคนไทยที่ไปทำงานยังมาเลเซีย ที่จะต้องนำเข้ากระบวนการ Quarantine ป้องกันโรคโควิด 19 ทุกคน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด

“สำหรับชายแดนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษนั่นคือ ฝั่งจังหวัดนราธิวาสและสงขลา เพราะมีช่องทางธรรมชาติ ที่หลายช่องทาง ที่แอบลักลอบเข้ามาได้ ประกอบกับทั้ง 2 จังหวัดนี้ ขณะนี้เป็นพื้นที่สีแดงที่ต้องมีการควบคุมสูงสุด เนื่องจากมีระบาดจำนวนมาก โดยเฉพาะทางฝั่ง อ.ตากใบ อ.แว้ง และ อ.สุไหงโกลก โดยข้ามแม่น้ำเข้ามา ยิ่งช่วงนี้หน้าแล้ง น้ำแห้งทำให้สามารถข้ามมาได้โดยสะดวก ยิ่งมาเลเซียผลักดันอาจทำให้มีคนแอบลักลอบเข้ามามายิ่งขึ้น” พลโท เกรียงไกร กล่าว

ด้านนายอารอน ฮิว นักวิชาการชาวมาเลเซีย สถาบันนักวิจัยชาวมาเลเซียและบริการสังคม (Association of Malaysian Researchers and Social Services) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า แรงงานไทยที่ยังอาศัยอยู่ในมาเลเซียนั้น ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากนโยบายของรัฐบาลมาเลเซียที่ขยายระยะเวลาการปิดประเทศ เพราะนอกจากจะไม่มีสิทธิ์ในการได้รับวัคซีนแล้ว การทำงานเต็มเวลาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาในปีนี้ยังเป็นไปได้ยาก

“ร้านอาหารและกิจการส่วนหนึ่งในมาเลเซีย มีคนไทยเป็นลูกจ้าง คนเหล่านี้แทบไม่มีรายได้ในช่วงที่ผ่านมา จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากองค์กรต่าง ๆ รวมถึงอาสาสมัครคนไทยในมาเลเซีย ที่ผ่านมาพวกเขามักจะถูกตำหนิว่า ทำไมถึงไม่กลับไทย แต่การเดินทางกลับนั้นใช้เงินเยอะ และคนที่ไม่มีใบอนุญาต ก็เป็นเรื่องยากที่จะได้กลับเข้ามาในมาเลเซียอีกครั้ง หลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้น” นายอารอน กล่าว

“ความพยายามผลักดันแรงงานผิดกฎหมายในมาเลเซียให้กลับบ้าน แม้จะสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้คนในประเทศ แต่ก็สร้างภาระให้กับแรงงานมาก แต่การจำกัดเวลาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เดินทางออกจากประเทศภายในวันพรุ่งนี้นั้น นับว่าเร็วเกินไปมาก เส้นตายของวันเดินทางควรจะช้ากว่านี้ ในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานจะสามารถเดินทางกลับได้ทั้งหมด และหากทุกคนเดินทางไปที่ชายแดนในวันเดียวกัน ก็จะเกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดขึ้นอีก” นายอารอน กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง