บีอาร์เอ็นเห็นชอบให้กลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มอื่นร่วมเจรจา
2023.02.22
กัวลาลัมเปอร์

ขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีศักยภาพมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นด้วยที่จะให้กลุ่มขบวนการอื่น ๆ ร่วมโต๊ะเจรจากับผู้แทนรัฐบาลไทย ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขมาเลเซียกล่าว หลังจากการเจรจาแบบเต็มคณะสองวันของไทยและบีอาร์เอ็น ครั้งที่ 6 สิ้นสุดลงในวันพุธนี้
พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุข กล่าวและหวังว่า หัวหน้าของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จะเข้าร่วมโต๊ะเจรจาในคราวหน้า ซึ่งจะเป็นการเข้าร่วมเจรจาครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2561 ที่บีอาร์เอ็นได้ผูกขาดการเจรจาเพียงกลุ่มเดียว
“พวกเขาเห็นด้วยในหลักการที่จะเชิญกลุ่มอื่น เพราะพวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในการเจรจา แต่เราต้องส่งหมายเชิญอย่างเป็นทางการเพื่อให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้” พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าว ในระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับเบนาร์นิวส์ในวันพุธนี้
พล.อ. ซุลกิฟลี อดีตผู้บัญชาการกองทัพบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีแผนการรวมกลุ่มเอ็นจีโอต่าง ๆ เข้าในกระบวนการพูดคุย แต่ยังต้องพูดคุยถึงหัวข้อกันอีกมาก ซึ่งเขาสัญญาว่าจะดูรายละเอียดในเรื่องนี้ หลังจากกลับจากการเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสัปดาห์หน้าเสียก่อน
ในวันเดียวกันนี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ของ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) ว่าจะเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุย ให้คืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม ที่มีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน
ทั้งนี้ คู่พูดคุยเห็นชอบกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ JCPP เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 และ 2567 ซึ่งทั้งสองฝ่ายคาดหวังว่า จะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้งและนำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและนำสันติสุขที่ถาวรสู่พื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
ในส่วนขั้นตอนนั้น คู่พูดคุยได้มอบหมายให้คณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่ายนัดหมายจัดการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้น และนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อเริ่มต้นขั้นการปฏิบัติต่อไป
พล.อ. ซุลกิฟลี คาดว่าจะสามารถเดินทางไปเยือนชายแดนใต้ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคมนี้ ซึ่งเขาจะไปแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเดินทางไปปัตตานี นราธิวาส และยะลา ซึ่งเขาแสดงความเต็มใจที่จะพบปะกับใคร ๆ ได้ทุกคน
หลังจากเขาได้เข้ารับตำแหน่งแทน นายอับดุล ราฮิม นูร์ ก็ได้มาเยือนประเทศไทยเมื่อต้นเดือนนี้ โดยได้เข้าพบปะกับ พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะ เพื่อทำความคุ้นเคย
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย
'มันไม่ง่ายสำหรับผม'
หลังจากการเจรจาในวันนี้ พล.อ. ซุลกิฟลี แสดงความมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ ในเวลาสองปี เพราะมองเห็นความมุ่งมั่นของทั้งฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น แต่สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเขา คือ การสร้างความเข้ากันได้ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจความต้องการของอีกฝ่าย
“มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผม ที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในสิ่งต่าง ๆ การร่างคำหนึ่งคำ อาจใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง… ความละเอียดอ่อนของเรื่อง เราต้องหยุดพักหลายครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าการหารือผ่านและบรรลุผลตามที่เราต้องการ” พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“นายกรัฐมนตรี (อันวาร์ อิบราฮิม) ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เราต้องเอาชนะความไม่ไว้วางใจของทั้งสองฝ่ายให้ได้ ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนเราผ่านมันมาได้ เราพูดสิ่งที่อยู่ในใจ เราแบ่งปันความคิดเห็นของเรา และแสดงให้เห็นว่าเราจริงใจ การพูดนั้นง่ายกว่าปฏิบัติ แต่ผมต้องทำให้แน่ใจว่า เราได้เปิดหนทางการเจรจาแล้ว” พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าวเพิ่มเติม
“ผมพูดเต็มปากเต็มคำได้ว่า ด้วยการเห็นชอบต่อการจัดทำ JCPP นี้ การเจรจาได้ก้าวหน้าไปเกินขั้นตอนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว”
ในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อต้นเดือนนี้ ในฐานะนายกรัฐมนตรี อันวาร์ กล่าวว่า มาเลเซียต่อต้านการใช้ความรุนแรงอย่างชัดเจน เพื่อเป็นหนทางในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบ
การแถลงข่าวในวันนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นร่วมโต๊ะแถลงข่าวด้วยกัน ซึ่งเป็นภาพที่ทำให้เกิดความรู้สึกผสมผสานกันไปในสายตาของนักวิเคราะห์
ดอน ปาทาน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวว่า เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่น “เมื่อเรามองเห็นว่าทั้งสองฝ่ายไม่เคยมีความเห็นร่วมกันในหลาย ๆ เรื่อง ได้ภาพการแถลงข่าวร่วมกันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราต้องยินดี” ดอน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ส่วนของการมีส่วนร่วมของเอ็นจีโอนั้น ดอนเสนอแนะว่า มาเลเซียต้องตัดสินใจในการใช้งานเอ็นจีโอ ให้กลายเป็นเสมือนผู้ช่วยของผู้อำนวยความสะดวก
“สำหรับเอ็นจีโอ ไม่ว่าระดับนานาชาติหรือระดับท้องถิ่น จะเป็นการดีที่สุดที่ฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกต้องตัดสินใจ การมีส่วนร่วมของเอ็นจีโอ ในกระบวนการสันติภาพมินดาเนา ในการแก้ปัญหาระหว่าง แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front – MILF) และรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ผลดีมาก หน้าที่ของเขาคือ การช่วยเหลือผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งมาเลเซียเป็นแกนนำ” ดอน กล่าวถึงการพิพาทในเขตปกครองตนเองบังซาโมโร
ด้าน นายรักชาติ สุวรรณ สมาชิกเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ภาคประชาสังคม ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แสดงความยินดีที่การเจรจามีความคืบหน้า
“ผลที่ออกมาถือว่ามีความคืบหน้าของการพูดคุย มีการกำหนดห้วงเวลาที่ชัดเจน แต่เราที่ยังไม่มั่นใจในรายละเอียดข้อตกลง เช่น เรื่องการมอนิเตอร์สถานการณ์ที่ต้องมีทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม ฝ่ายไทยต้องรับรองให้ความปลอดภัยแก่ตัวแทนบีอาร์เอ็น” นายรักชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
อิมาน มุตตากิน ในกัวลาลัมเปอร์ และมารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน