มาเลเซียส่งตัว 3 ผู้ต้องหาให้ไทย

ส่งตัวผู้ก่อความไม่สงบให้ไทยไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ทั้งเกิดขณะมีการพูดคุยสันติสุขในกัวลาลัมเปอร์
มุซลิซา มุสตาฟา นิชา เดวิด และมารียัม อัฮหมัด
2022.01.13
กัวลาลัมเปอร์ และปัตตานี
มาเลเซียส่งตัว 3 ผู้ต้องหาให้ไทย อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าผู้แทนฝ่ายบีอาร์เอ็น (กลาง) ในการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับคณะผู้แทนไทย ร่วมกับคณะผู้แทน เช มูดา (ซ้าย) และ โมฮัมหมัด ชัมซูล (ขวา) ระหว่างการแถลงข่าวที่โรงแรม ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 13 มกราคม 2565
นิชา เดวิด/เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ทางการมาเลเซียได้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบชาวไทย 3 คน ซึ่งต้องหมายจับในคดีความมั่นคงหลายหมายให้กับทางการไทย ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่ตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นเจรจากันในกรุงกัวลาลัมเปอร์

พ.อ. อธิภัทร พูลสมบัติ ผู้แทนสำนักการข่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาคสี่ ระบุในเอกสารข่าวว่า “เมื่อเวลา 10.30 น. ของวันพุธที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้รับมอบตัวผู้ต้องหาคดีความไม่สงบ 3 ราย จากประเทศมาเลเซีย หลังจากคนทั้งหมดพยายามหลบหนีข้ามแดนไป แต่ถูกเจ้าหน้าที่มาเลเซียควบคุมตัวได้เมื่อปลายปี 2564”

ข้อความระบุว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงหลบหนีความผิดตามหมายคดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าไปยังประเทศมาเลเซีย และถูกเจ้าหน้าที่กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 แห่งมาเลเซีย จับกุมได้บริเวณช่องทางธรรมชาติ ฝั่งประเทศมาเลเซีย ใกล้ด่านเมืองดูเรียน บูรง รัฐเคดะห์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านทุ่งไทรแจ้ หมู่ที่ 5 ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่ฝั่งประเทศมาเลเซียได้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายเรียบร้อย ก่อนส่งตัวผู้ก่อเหตุรุนแรงกลับ

ผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย 1. นายนูรุดดิน กาจะลากี อายุ 43 ปี ชาวยะลา เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ (RKK)/มีหมาย ป.วิอาญา จำนวน 8 หมาย จากคดีร่วมกันฆ่า พยายามฆ่า และสะสมอาวุธและกำลังพลเพื่อก่อการร้าย ระหว่างปี 2549-2552, 2. นายสือมัน อาแซ อายุ 39 ปี จังหวัดสงขลา เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ เคยถูกซัดทอดว่าร่วมก่อเหตุวางระเบิดใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และ 3. นายอริสมันร์ ลอเด็ง หรือมัง อายุ 31 ปี ชาวจังหวัดสงขลา เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ มีหมายจับ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เมื่อปี 2562

ทั้งนี้ หลังจากที่ กอ.รมน.ได้รับตัวทั้งสามคนมาแล้ว ที่ด่านสะเดา ได้ส่งต่อให้ พล.ต.ต. เสกสันต์ ชูรังสฤษฎ์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำตัวไปสอบสวนเพื่อขยายผล และดำเนินดคีตามกฎหมายที่กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

การส่งตัวคนทั้ง 3 เกิดขึ้นขณะที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมหารือกับคณะผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 11-12 มกราคม 2565 นี้

โดยในวันพฤหัสบดีนี้ ประชาชนทั้งสองฝั่งของชายแดนยืนยันว่า การส่งตัวไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจาสันติภาพ

“เรื่องนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับการเจรจาสันติภาพเมื่อคืนนี้” แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของมาเลเซีย ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าว

นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะ ปาตานี ซึ่งมีที่ตั้งในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนเองยังไม่แน่ใจว่าการส่งตัวกลับครั้งนี้มีความเชื่อมโยงกับการพูดคุยหรือไม่

“เรายังไม่มีข้อมูลว่าการส่งตัวกลับของ 3 คนนี้เกี่ยวข้องกับการพูดคุยหรือไม่ หรือสามคนนี้เป็นกลุ่มที่ต่อต้านการพูดคุยหรือไม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมา มีข้อมูลว่าคนที่หลบหนีจากไทยเข้าไปในมาเลเซีย หากต้องการจะอยู่ได้อย่างสะดวกและไม่ถูกส่งกลับ จำเป็นต้องไม่ขัดขวางการพูดคุย หรือสนับสนุนการพูดคุย” นายอาเต็ฟ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ส่วนเจ้าหน้าที่ไทยที่ไม่ประสงค์ขอออกนามกล่าวว่า การที่มาเลเซียส่งตัวสมาชิกผู้ก่อความไม่สงบให้ไทยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เมื่อปี 2540 ยี่สิบกว่าปีก่อนมาเลเซียส่งตัวแกนนำคนสำคัญของพูโลให้ไทย

220113-th-my-peace-talks-inside1.jpg

ผู้ขับขี่จักรยานยนต์เข้าคิวที่ด่านตรวจ ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เนื่องจากทางการจำกัดการเดินทางเข้าออกตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 วันที่ 31 มีนาคม 2563 (เอเอฟพี)

บีอาร์เอ็นเห็นชอบตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่าย

ในวันพฤหัสบดีนี้ อุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ หัวหน้าผู้แทนฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้แถลงข่าวหลังจบการเจรจากับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปเมื่อวานนี้ โดยได้แสดงความเห็นชอบในการตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่าย (Joint Working Group) เพื่อหาทางออกสู่สันติภาพให้ชายแดนใต้

“ปาตานีสนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพมาโดยตลอด ด้วยความหวังว่าสันติภาพจะกลับคืนสู่ดินแดนปาตานี” อุสตาซอานัส กล่าวในการแถลงข่าว ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์วันนี้

ทั้งสองฝ่าย “เห็นพ้องต้องกันในการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย แต่เรายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะตั้งคณะกรรมการนี้เมื่อไหร่ แต่ละฝ่ายจะต้องไปแต่งตั้งคนของตนเพื่อเป็นตัวแทนในคณะกรรมการนี้ หวังอย่างยิ่งว่า เราจะตั้งคณะกรรมการนี้ได้ก้อนการเจรจาคราวหน้า ในปีนี้” อุสตาซอานัส กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

อย่างไรก็ตาม ด้านคณะพูดคุยฯ ของไทยกล่าวในแถลงการณ์ในวันนี้ว่า สองฝ่ายได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วม แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าฝ่ายไทยเห็นด้วย

“ทั้งสองฝ่ายได้เสนอการจัดตั้งกลไกเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดคุยสารัตถะทั้ง 3 เรื่อง โดยเป็นการทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย การมีบุคคลผู้ประสานงาน และคณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายในแต่ละเรื่อง ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้การพูดคุยประเด็นสารัตถะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คล่องตัว และ เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม”

ทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นและผู้แทนฝ่ายไทย สองฝ่ายได้พูดคุยสารัตถะจำนวน 3 เรื่อง คือ 1) การลดความรุนแรง 2) การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3) การแสวงหาทางออกทางการเมือง

เรายิงสู้หากถูกโจมตี

นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก่อความไม่สงบอีกระลอกใหญ่มาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ในพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีเชื้อชาติมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยแล้วกว่า 7,300 ราย ตามสถิติที่รวบรวมโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

อุสตาซอานัส กล่าวว่า ความรุนแรงลดลง นับตั้งแต่บีอาร์เอ็นประกาศเลิกการปฏิบัติการทางทหารในเดือนเมษายน 2563 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไทยแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19

“เราไม่เคยประกาศว่ามันคือหยุดยิง เพียงแต่ว่าเราหยุดการโจมตีในรูปแบบต่าง ๆ ในระหว่างที่ดำเนินการพูดคุย แต่เราถูกโจมตี ทำให้เราต้องป้องกันตัวเอง” อุสตาซอานัส กล่าวในวันนี้

“บีอาร์เอ็นหวังว่าการพูดคุยจะดำเนินต่อไปและนำมาซึ่งสันติสุขที่วัฒนาถาวรต่อประชาชนมลายูปาตานีทุกคน” เขากล่าว

หลังการจัดตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะพูดคุยเรื่องการบริหาร การศึกษา การยอมรับอัตลักษณ์ของคนปัตตานี และระบบเศรษฐกิจในพื้นที่

“บีอาร์เอ็น จะใช้พยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้มีการบริหารปาตานีในลักษณะที่เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนในปาตานี” อุสตาซอานัส กล่าว

อุสตาซอานัส กล่าวต่อว่า ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติสองคนมาติดตามการประชุมในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้รับการอำนวยความสะดวก โดยนายอับดุล ราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจ ในนามของรัฐบาลมาเลเซีย

220113-th-my-peace-talks-inside2.jpg

ราษฎรร่วมไว้อาลัยก่อนพิธีฌาปนกิจศพ ผู้เสียชีวิต 9 ราย จากการซุ่มโจมตีโดยกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่วัดลำพญา จังหวัดยะลา วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 (เอเอฟพี)

หมุดหมายที่สำคัญ

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมืองกล่าวว่า การพูดคุยในกรุงกัวลาลัมเปอร์เดินมาถูกทาง

“การพูดคุยเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะนำไปสู่เวทีการพูดคุยในเรื่องสำคัญสามประการ คือ การลดความรุนแรง, การหาทองออกด้วยวิถีทางการเมืองหรือการปกครอง, และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ดร. รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เขียนรายงานดังกล่าว กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“การพูดคุยได้ค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ระยะการพูดคุยสารัตถะ”

ด้านนายอาเต็ฟ โซ๊ะโก กล่าวว่า แม้ว่าการพบปะครั้งนี้ยังไม่ได้บรรลุผลเสร็จสิ้น แต่ “เป็นที่น่าปลาบปลื้มที่ทั้งสองฝ่ายได้ก้าวพ้นระยะการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อนำไปสู่การเจรจาเรื่องที่มีสาระสำคัญบนโต๊ะเจรจา”

อย่างไรก็ตาม ความคิดที่แตกต่างกันในรัฐบาลเกี่ยวกับลักษณะการเกิดเหตุรุนแรงในภาคใต้ “ยังคงเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าสู่สันติภาพ”

เขากล่าวว่ากองทัพบกไทยและกระทรวงการต่างประเทศของไทยปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเหมือนเป็น “องค์กรอาชญากรรม” ในขณะที่สภาความมั่นคงแห่งชาติและหน่วยงานราชการพลเรือนอื่น ๆ มองว่าเป็นเรื่องของ “การขัดแย้ง”

“จริง ๆ แล้ว หากปราศจากพื้นฐานความเข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง เป็นไปไม่ได้ที่จะขับเคลื่อนการพูดคุยไปข้างหน้า และไม่มีผลลัพธ์ที่มีความหมายใด ๆ” นายอาเต็ฟ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง