ผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติสุขคนใหม่เยือนกรุงเทพต้นเดือนกุมภาพันธ์

มารียัม อัฮหมัด, มุซลิซา มุซตาฟา และอิมาน มุตตากิน ยูโซะ
2023.01.25
ปัตตานี และกัวลาลัมเปอร์
ผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติสุขคนใหม่เยือนกรุงเทพต้นเดือนกุมภาพันธ์ พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ (ซ้ายมือ) เข้าพบเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย วันที่ 3 มกราคม 2566
เฟซบุ๊คสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย

ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้คนใหม่ จะเดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะมีการพูดคุยแบบเต็มคณะในกัวลาลัมเปอร์อีกครั้งช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ตามการเปิดเผยของหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย 

ในวันพุธนี้ พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย ได้ร่วมประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ (หรือ สล.3) ครั้งที่ 2/2566 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี โดยได้กล่าวถึงความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยที่ชะงักไป หลังจากการพูดคุยครั้งที่ห้าเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว 

“เราจะมีการพูดคุยวงใหญ่ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก่อนหน้านั้นคณะผู้อำนวยความสะดวกจะเดินทางมา กทม. ก่อนวันที่ 3 กุมภาพันธ์” พล.อ. วัลลภ กล่าวต่อผู้ประชุมราว 200 คน   

ทั้งนี้ หลังจากการพูดคุยสันติสุขครั้งที่แล้ว การดำเนินการล่าช้าไปเพราะจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาเลเซียและการเปลี่ยนแปลงผู้อำนวยความสะดวก พล.อ. วัลลภ กล่าว 

เมื่อต้นเดือนนี้ รัฐบาลนายอันวาร์ อิบราฮิม ได้แต่งตั้ง พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน อดีตผู้บัญชาการกองทัพบก และอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ เป็นหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยฯ อย่างเป็นทางการ แทนนายอับดุล ราฮิม นูร์ ซึ่งสิ้นสุดการทำหน้าที่เมื่อปลายปี พ.ศ. 2565  โดยจะถือเป็นการเยือนกรุงเทพ ของ พล.อ. ซุลกิฟลี อย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังรับตำแหน่งใหม่ 

ด้านแหล่งข่าวใกล้ชิดคณะพูดคุยของบีอารเอ็น กล่าวถึงการเยือนไทยของ พล.อ. ซุลกิฟลี เช่นกัน 

“คาดว่าผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยคนใหม่จะไปเยือนกรุงเทพ เป็นเวลาสามวัน เริ่มจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งคาดว่าจะเข้าพบปะกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ของไทยในการเยือนครั้งนี้ และมีแผนที่จะพบปะกับคณะพูดคุย แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีเวลาเอื้ออำนวยหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าวโดยขอสงวนนาม เพราะไม่ได้รับมอบหมายให้คุยกับสื่อมวลชน 

บีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกำลังแข็งแกร่งมากที่สุดในบรรดาขบวนการต่าง ๆ ได้เจรจากับตัวแทนของรัฐบาลไทยโดยตรงเมื่อ พ.ศ. 2563 เพื่อหาทางยุติความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธในระลอกที่สองมานานกว่า 18 ปี ล่าสุด ได้มีการพบปะเต็มคณะกับฝ่ายไทยในเดือนสิงหาคม 2565 ก่อนที่จะชะงักลง เพราะการเลือกตั้งในมาเลเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 

พล.อ. วัลลภ กล่าวต่อที่ประชุมที่มีภาคประชาชนในวันนี้ว่า ทางคณะพูดคุยต้องการพูดจากับทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มมารา ปาตานี องค์กรร่มของกลุ่มต่าง ๆ ที่เคยเจรจาเมื่อ พ.ศ. 2558 และกลุ่มอื่น ๆ 

“เรื่องของกลุ่มต่าง ๆ อยากให้เข้ามามีส่วนร่วม มารา หรือกลุ่มอื่น ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบัน คือเขารวมกันไม่ได้ เราก็พยายามให้เขาพูดคุยทุกกลุ่ม คือสิ่งที่เราพยายามผลักดันและดำเนินการอยู่” พล.อ. วัลลภ ระบุ

 ทั้งนี้ พล.อ. วัลลภ ตั้งความหวังว่าจะดำเนินการเรื่องที่ค้างคาอยู่จากการเจรจาคราวก่อนนั้น 

“ครั้งหน้า เราคงขยายผลต่อหลังจากได้ข้อตกลงทั้ง 3 ประการ หลังจากนี้ก็จะลงรายระเอียดแต่ละข้อ เพื่อให้ไปสู่การทำข้อตกลงที่จะทำให้เกิดความสงบสุข” พล.อ. วัลลภ กล่าว และระบุว่า กระบวนการพูดคุยเป็นนโยบายรัฐบาลที่บรรจุอยู่ในแผนงานเรียบร้อยแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนทางการเมืองในอนาคต 

“ก็แล้วแต่นโยบายของพรรคการเมืองหรือว่าความต้องการของประชาชนในพื้นที่อาจมีความแตกต่างหลากหลาย เรื่องเขตปกครองพิเศษ เรื่องการกระจ่ายอำนาจ เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งตรงนี้ เป็นประเด็นที่เราต้องมาปรึกษาหารือกัน หรือถกแถลงร่วมกัน ที่สร้างการยอมรับทุกภาคส่วน” พล.อ. วัลลภ ระบุ 

ด้าน มิซาน โมฮัมหมัด ฮัสลาม แห่งมหาวิทยาลัยการป้องกันประเทศแห่งมาเลเซีย ให้ทรรศนะว่า พล.อ. ซุลกิฟลี มีศักยภาพในการดำเนินการอำนวยความสะดวก เพราะเคยเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสูงสุดคนเก่าของประเทศ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการประสานงานกับทุกฝ่าย  

“ตามที่เรารู้กัน ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ออกแนวทหาร ซึ่งทหารเป็นใหญ่ จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับตันศรี (พล.อ. ซุลกิฟลี) และรัฐบาลไทย ตันศรีเองก็จะได้ใช้สถานภาพของท่านในการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมและสนับสนุนการเจรจา” มิซานกล่าวกับเบนาร์นิวส์และระบุว่า พล.อ. ซุลกิฟลี ต้องประเมิณสถานการณ์และตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาถึงเรื่องที่ยังคั่งค้างอยู่ และดูว่าอะไรคืออุปสรรคขัดขวาง 

ข้อสงสัยในกระบวนการพูดคุย

นางคอลีเยาะ หะหลี ซึ่งสูญเสียบิดาในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะใน พ.ศ. 2547 และเป็นหนึ่งในคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) กล่าวว่า ประชาชนมีความไม่เชื่อมั่นในตัวแทนคณะพูดคุยฯ เพราะมีสถานการณ์ต่อเนื่อง 

“หลังการพูดคุยทำไมกลับมามีปัญหาตลอด ไปคุยกับตัวประกอบหรือจับใครขึ้นบนโต๊ะเล่นละครหลอกประชาชน ละลายทรัพย์ ทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นกับคณะพูดคุยฯ เพราะคุยเมื่อไหร่ก็ไม่สามารถควบคุมคนก่อเหตุได้ จบกันที่นองเลือด ปะทะ ยิงรายวัน คนเดือดร้อน สตรีเป็นม่าย เด็กกำพร้าเพิ่มขึ้น” นางคอลีเยาะกล่าว 

ด้าน พล.อ. วัลลภ กล่าวเชิงยอมรับว่า ฝ่ายไทยก็ไม่แน่ใจถึงอำนาจสั่งการของฝ่ายผู้แทนในการเจรจาของบีอาร์เอ็น 

“เราก็ไม่มั่นใจว่าฝ่ายที่ขึ้นโต๊ะพูดคุยกับฝ่ายที่เป็นกองกำลังทหาร เขามีการพูดคุยก่อนที่จะขึ้นโต๊ะพูดคุยหรือเปล่า หรือฝ่ายพูดคุยขึ้นโต๊ะพูดคุยก่อนแล้วค่อยไปบอกฝ่ายทหาร ถ้าฝ่ายทหารเห็นด้วยก็จะหยุดยิง ถ้าฝ่ายทหารไม่เห็นด้วยก็ไม่หยุดยิง” พล.อ. วัลลภ กล่าว 

“ฝ่ายไทย ผมยืนยันว่าคนขึ้นโต๊ะพูดคุยเป็นของจริงทุกคน แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี... อยากให้ทุกคนช่วยพิสูจน์ว่าเขาที่ขึ้นโต๊ะมาคุยเป็นตัวจริงหรือเปล่า อาจเป็นตัวจริงในระดับหนึ่ง เพราะบางครั้งถ้าความเห็นตรงกัน เขาก็สามารถควบคุมได้ เช่น เรื่องรอมฎอนสันติสุข” พล.อ. วัลลภ กล่าวเพิ่มเติม 

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย 

รัฐบาลไทย และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในรูปแบบคณะต่าง ๆ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 แต่มีการเปลี่ยนแปลงของคณะพูดคุยและมีการหยุดชะงักหลายครั้ง จนกระทั่งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ) สามารถตกลงกันได้ในการดำเนินการหยุดยิงชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการ “รอมฎอนเพื่อสันติสุข”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง