ปานปรีย์ : ไทยไม่ประสงค์ความรุนแรงในเมียนมา
2024.04.12
กรุงเทพฯ
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยหลังการลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า ไทยไม่ประสงค์เห็นความรุนแรงในประเทศเมียนมา และพร้อมเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติสุข ด้านนักวิชาการแนะ รัฐบาลไทยควรเดินหน้าเจรจากับทุกฝ่าย เพราะไทยเหมาะสมที่สุดที่จะทำหน้าที่นี้
“เราได้ส่งข้อความไปสู่ SAC (State Administration Council-สภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมา) แล้วว่า เราไม่ประสงค์จะเห็นความรุนแรง แล้วล่าสุดก็ได้มีการพูดคุยทางฝ่ายอาเซียนในการที่จะมีแถลงการณ์เพื่อที่จะให้ลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา แล้วก็ให้หันมาพูดคุยกันตามแนวทางที่อาเซียนเคยวางไว้ 5-Point Consensus” นายปานปรีย์ กล่าว
“ที่เรากังวลมากที่สุดคือ อยากจะเห็นความสงบเกิดขึ้นในเมียวดี ถ้าสามารถพูดคุยกันได้ในกลุ่มของเขากันเอง เราก็จะมีความยินดีมาก จะให้เราเป็นคนกลางเราก็พร้อม ที่จะประสานงานให้ แต่อาจจะต้องรอความชัดเจนอีกนิดนึงว่า ประเทศไทยจะมีบทบาทในการที่จะให้เขาเกิดการเจรจาขึ้น” นายปานปรีย์ กล่าวเพิ่มเติม
นายปานปรีย์ ระบุว่า ปัจจุบัน ไทยได้เตรียมพร้อมในการรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบภายในเมียนมา ทั้งคนไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดน ชาวเมียนมา และชาวจีน แต่สำหรับชาวจีนจะมีระบบคัดกรองว่า เป็นผู้ที่เข้าไปทำธุรกิจผิดกฎหมายในเมียนมาหรือไม่
หลังกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในเมียนมาก็เกิดการสู้รบตลอดมา ทั้งจากประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และกองกำลังชาติพันธุ์ ทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นในประเทศเมียนมาจำนวนมาก
ล่าสุด กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Liberation Army - KNLA) กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force - PDF) ได้ประกาศว่า สามารถควบคุมพื้นที่เมืองเมียวดีไว้ได้ ทำให้ประชาชนเมียนมาจำนวนหนึ่งข้ามแดนมายังประเทศไทยเพื่อหนีภัยสงคราม และหลายฝ่ายประเมินกันว่าจะมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกระยะหนึ่ง
รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่า สถานการณ์การสู้รบจะยังคงดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะกองทัพเมียนมาจะพยายามยึดคืนพื้นที่เมียวดี
“ตอนนี้ KNU และพันธมิตรมีอำนาจเหนือ SAC ในพื้นที่เมียวดีก็จริง แต่เชื่อว่า ยังไม่สามารถควบคุมถนนไปยังย่างกุ้งได้ ซึ่งกองทัพพม่าเองก็ไม่น่ายอมง่าย ๆ เพราะเส้นทางนี้มีความสำคัญในการขนส่งสินค้า เสบียงจากอินโดจีน และไทยเข้าไปยังพม่า ดังนั้นเขาจึงต้องพยายามยึดถนนกลับมาให้ได้ เพราะนับเป็นเส้นเลือดทางเศรษฐกิจสำคัญ เราจึงได้ยินข่าวการเคลื่อนรถถังเข้ามา ซึ่งจะทำให้การสู้รบยืดเยื้อต่อเนื่อง” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าว
รศ.ดร. ดุลยภาค ระบุว่า “จะมีความรุนแรงกระจายอยู่ใกล้ ๆ ตะเข็บชายแดน ถ้ามีการสู้รบก็จะมีคนอพยพเข้ามาในประเทศไทยแน่ คิดว่า ไทยควรประกาศช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ถ้าคนบาดเจ็บก็ควรอนุญาตให้มาและไม่เลือกปฏิบัติ เป็นประชาชนฝ่ายไหนก็ได้ เจ้าหน้าที่ก็ได้ การไม่เลือกที่รักมักที่ชังจะทำให้ กองทัพเมียนมาว่าเราไม่ได้เพราะเราไม่เลือกปฏิบัติ”
สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทหารของกองทัพเมียนมาจำนวนกว่า 100 นาย หลบหนีจากพื้นที่สู้รบในเมืองเมียวดี มาอาศัยชั่วคราวอยู่บริเวณใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ฝั่งเมียนมา ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด
“ทหารเมียนมา เราก็พร้อมที่จะดูแลในเรื่องของมนุษยธรรม มันก็มีขั้นตอนซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้ว คงจะต้องปลดอาวุธและต้องแต่งตัวเป็นพลเรือน เราจึงจะอนุญาตให้ข้ามมา ในหลักมนุษยธรรมแล้วก็คงต้องไม่ส่งเขากลับไปยังที่ที่อันตรายตามหลักการของสหประชาชาติ” รองนายกรัฐมนตรี ระบุ
ก่อนมีสถานการณ์ตึงเครียด ปลายเดือนมีนาคม 2567 รัฐบาลไทยได้เริ่มโครงการระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศ โดยส่งมอบถุงยังชีพจำนวน 4,000 ถุง ซึ่งบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และของอุปโภคบริโภคอื่น ๆ สำหรับประชาชนเมียนมาประมาณ 20,000 คน ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง
ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษากรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า ในสถานการณ์นี้ไทยควรทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้ง
“ไทยไม่ควรช้า ควรวางแผนทำงาน คิดฉากทัศน์หลาย ๆ แบบ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ เช่น ถ้าพม่าแตกเป็นเสี่ยง ๆ ไทยจะมีทิศทางการพูดคุยกับฉาน กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง มอญ แบบไหน เพราะว่าถ้าคุยเป็นทางการกับแค่ SAC แต่ในอนาคตไม่มีพื้นที่ของ SAC ไทยจะปฏิสัมพันธ์อย่างไร ไทยต้องเริ่มพูดคุย และประสานข้อมูลได้แล้ว” ผศ.ดร. ลลิตา กล่าว
“ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับไทยแล้วที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ และถ้าจะสร้างสันติภาพในเมียนมา ไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดคุยกับทุกกลุ่ม นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุย หาวิธีที่เหมาะสมให้ รัฐบาลทหารเมียนมายอมรับข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่เช่นสงครามที่ยืดเยื้อจะไม่มีวันจบ” ผศ.ดร. ลลิตา กล่าว
ปัจจุบัน รัฐบาลทหารเมียนมาบริหารงานโดยสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่นำโดย พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหาร มีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเงาคือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ และมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอีกจำนวนมาก ซึ่งกำลังสู้รบกับ SAC
ในประเด็นเดียวกัน น.ส. พรสุข เกิดสว่าง กรรมการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เปิดเผยว่า สถานการณ์การสู้รบที่รุนแรงขึ้น ทำให้มีผู้ลี้ภัยภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลไทยควรพยายามเข้าไปช่วยเหลือตรงนั้น
“ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง มีผู้พลัดถิ่นในประเทศแล้วถึง 7.5 แสนคน ซึ่งเชื่อว่า ถ้าการสู้รบขยับมาอยู่ใกล้ชายแดนมากขึ้น ประชาชนเหล่านี้ก็อาจต้องข้ามแดนมาหลบภัยในประเทศไทย สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้คือ พยายามพูดคุยกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจความต้องการจริง ๆ และการช่วยเหลือจะได้ตอบโจทย์มากที่สุด” น.ส. พรสุข กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้กำชับฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงการต่างประเทศ ห้ามไม่ให้เครื่องบินของเมียนมาล้ำเข้ามาในน่านฟ้าของไทยเด็ดขาด หลังสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับฝ่ายต่อต้านทวีความรุนแรง
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน