เมียนมาไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด หลังอาเซียนไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหาร

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2021.10.26
มะนิลา จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ และวอชิงตัน
เมียนมาไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด หลังอาเซียนไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหาร สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์แห่งบรูไน (กลาง) ประธานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2564 กล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งเมียนมาไม่ได้เข้าร่วม ในบันดาร์เสรีเบกาวัน วันที่ 26 ต.ค. 2564
เอกสารแจก/รอยเตอร์

ผู้นำอาเซียนเริ่มการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันอังคาร โดยไร้ผู้แทนจากเมียนมา ซึ่งไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมเพื่อประท้วงอาเซียนที่ไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุม

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาสนับสนุนความพยายามของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้รัฐบาลทหารพม่ารับผิดชอบในการปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียน ซึ่งมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูสันติภาพและประชาธิปไตยในเมียนมาหลังรัฐประหาร

“ได้มีการเชิญผู้แทนของเมียนมาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองให้เข้าร่วมการประชุม แต่ขณะเริ่มการประชุม ไม่มีผู้แทนของเมียนมาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าร่วมการประชุมด้วย” นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย บอกในระหว่างการบรรยายสรุปแก่สื่อมวลชน

นางเร็ตโน มาร์ซูดี ยังรายงานให้ทราบถึงความคิดเห็นของประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วีโดโด ที่กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมอาเซียนเมื่อวันอังคาร

เธอบอกผู้สื่อข่าวว่า ประธานาธิบดีโจโกวี “เสียใจที่เมียนมาปฏิเสธไม่รับข้อเสนอของอาเซียนในการร่วมกันช่วยเมียนมาให้พ้นจากวิกฤตการเมืองในเมียนมา”

ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตัดสินใจแบบไม่เคยทำมาก่อน ที่จะไม่เชิญพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ โดยบอกว่า เขาไม่ปฏิบัติตามฉันทามติที่ได้ตกลงกันไว้ในระหว่างการประชุมฉุกเฉินผู้นำอาเซียนในกรุงจาการ์ตา เมื่อเดือนเมษายน

“การตัดสินใจของอาเซียนที่จะเชิญผู้แทนของเมียนมาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ” ประธานาธิบดีโจโกวีกล่าวในระหว่างการประชุมเมื่อวันอังคาร นางเร็ตโนอ้างคำพูดของเขา

ประธานาธิบดีโจโกวีขอให้ผู้นำอาเซียนคนอื่น ๆ ระลึก “ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรเคารพหลักการไม่แทรกแซง แต่ในทางกลับกัน เรายังจำเป็นต้องยึดถือหลักการอื่น ๆ ในกฎบัตรอาเซียนด้วย เช่น ประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล การเคารพสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” นางเร็ตโนกล่าว

เธอหมายถึงนโยบายที่มีมาช้านานของอาเซียนในการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก

อาเซียนได้เชิญนักการทูตระดับสูงคนหนึ่งจากกระทรวงการต่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหารของเมียนมา ในฐานะ “ผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ให้เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดครั้งนี้แทนผู้นำที่ก่อรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีบรูไนเป็นเจ้าภาพ

การถูกห้ามเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็น “ความอับอายและความล้มเหลวอย่างรุนแรงในด้านระหว่างประเทศสำหรับรัฐบาลทหารเมียนมา” เย เมียว ไฮน์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันการเมืองศึกษาแห่งเมืองตะกองในเมียนมา บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) หน่วยงานในสังกัดเดียวกันกับเบนาร์นิวส์

แถลงการณ์ที่ออกโดยประธานอาเซียนเมื่อค่ำวันอังคาร ไม่ได้กล่าวถึงการที่เมียนมาไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม

แถลงการณ์ดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อ ซึ่งรวมถึงการยอมให้ผู้แทนพิเศษประจำเมียนมาเข้าถึงทุกพรรคการเมือง แต่รัฐบาลทหารพม่าได้ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น

บรูไน ประธานอาเซียนปี 2564 จะส่งมอบตำแหน่งประธานหมุนเวียนให้แก่กัมพูชาในปีหน้านี้

เมื่อวันอังคาร นายฮุน เซน ผู้นำจอมเผด็จการของกัมพูชา กล่าวคำพูดรุนแรงต่อรัฐบาลทหารพม่า ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

“วันนี้อาเซียนไม่ได้ขับเมียนมาออกจากกรอบของอาเซียน เมียนมาได้สละสิทธิ์ของตัวเอง” นายฮุน เซน กล่าว

“ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์อาเซียนลบหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเพราะอาเซียน แต่เป็นเพราะเมียนมาเอง”

น่าอับอายมากทางการเมือง

ขณะเดียวกันในเมียนมา หนังสือพิมพ์เมียวดีของรัฐบาลทหารพม่ารายงานว่า มีการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลทหารเกิดขึ้นใน 47 เมืองทั่วประเทศ รวมทั้งในกรุงเนปิดอว์ ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้

ธาน โซ เนง นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวว่า การชุมนุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนในประเทศให้การสนับสนุนรัฐบาลทหาร แม้รัฐบาลทหารจะถูกอาเซียนดูแคลนก็ตาม

“คนทั้งประเทศต่อต้านรัฐบาลทหารในชนบท และการตัดสินใจของอาเซียนที่จะไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารเข้าร่วมในการประชุมอาเซียน เป็นสิ่งที่น่าอับอายมากทางการเมือง” เขาบอกกับ RFA

“ในสถานการณ์เช่นนั้น การชุมนุมเหล่านี้จัดขึ้นเพื่อแสดงว่ารัฐบาลทหารได้รับการสนับสนุนจากประชาชน จำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีไม่มากเลย”

ราษฎรคนหนึ่งในเมืองมัณฑะเลย์ ผู้ไม่ต้องการให้ระบุชื่อ กล่าวว่า กองทัพยังให้การรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมในเมืองออง มเย ทาร์ซาน แม้ทหารมักจะเปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในการชุมนุมอื่น ๆ

“เราไม่เคยเห็นคนเหล่านี้ในเมืองของเรา ผู้ชุมนุมเหล่านั้นเป็นคนแปลกหน้า ผมมองว่าคนพวกนี้เป็นนักฉวยโอกาสที่เข้าร่วมกับผู้ที่ยึดอำนาจจากประชาชน คนเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้จัดการชุมนุมได้” ราษฎรมัณฑะเลย์คนนี้กล่าว

211026-TH-Myanmar-ASEAN-summit-inside.jpg

ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาเข้าร่วมการชุมนุม นอกอาคารสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในกรุงจาการ์ตา วันที่ 24 เมษายน 2564 (เอเอฟพี)

สำหรับกระทรวงการต่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหารพม่า ก็ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคารเกี่ยวกับการที่เมียนมาไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม เมียนมาไม่ได้คว่ำบาตรการประชุมสุดยอดครั้งนี้ แต่ไม่เข้าร่วมเพราะอาเซียนไม่ยอมให้ผู้แทนจากรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุม รัฐบาลทหารกล่าว

ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหาร บอกแก่ RFA ว่า รัฐบาลรู้สึกว่า “การเลือกปฏิบัติต่อกันและกัน และ... การกดดันซึ่งกันและกันในกิจการภายในประเทศของเรา” เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

เมียนมาเป็นประเทศที่มีอธิปไตย และมีมิตรภาพที่ดีกับนานาชาติอยู่แล้ว เขากล่าว

ตามแถลงการณ์จากทำเนียบขาว มิตรที่อ้างถึงเหล่านั้นไม่มีสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย เนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้กล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ หลังจากนั้นในวันอังคาร

“เขาแสดงความเป็นกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับรัฐประหารและความรุนแรงอันน่าสยดสยองในพม่า และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของพม่ายุติความรุนแรงดังกล่าวทันที ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม และฟื้นฟูเส้นทางสู่ประชาธิปไตยของพม่า” ทำเนียบขาวกล่าว

“เขาได้แสดงออกถึงการสนับสนุนความพยายามของอาเซียนที่จะให้รัฐบาลทหารของพม่ารับผิดชอบในการปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียน”

ประธาธิบดีโจ ไบเดน ได้พบกับผู้นำอาเซียน หลังจากที่หนึ่งวันก่อนหน้าการประชุมอาเซียน นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้จัดการพูดคุยทางออนไลน์กับตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ รัฐบาลเงาที่ประกอบด้วยพลเรือนในเมียนมา เพื่อย้ำถึงการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อรัฐบาลเงา ทำเนียบขาวกล่าว

ไบเดน ผู้ที่ได้เข้าร่วมการประชุมกับผู้นำอาเซียนครั้งนี้เป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังได้ประกาศถึงความตั้งใจที่ให้เงินจำนวน 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับโครงการใหม่ ๆ เพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียน

เงินจำนวนนี้จะนำไปใช้ในการสนับสนุนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 การจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทุนมนุษย์ ทำเนียบขาวกล่าว

พื้นที่อินโด-แปซิฟิก ทะเลจีนใต้

ประเด็นอื่น ๆ ในภูมิภาคที่หารือกันโดยสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ทัศนะของอาเซียนต่อพื้นที่อินโด-แปซิฟิก และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทกันอยู่ โดยฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน สมาชิกอาเซียน ต่างก็เป็นผู้อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ด้วย

แถลงการณ์ของประธานอาเซียนระบุว่า สมาชิกบางประเทศได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการถมทะเลสร้างเกาะเทียม และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลในทะเลจีนใต้ ซึ่ง “ได้บั่นทอนความไว้วางใจและความเชื่อมั่น เพิ่มความตึงเครียด และอาจทำลายสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค”

แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าประเทศใดที่ทำสิ่งเหล่านี้ แม้ภาพถ่ายดาวเทียมและผู้สังเกตการณ์ในภูมิภาคจะชี้ไปที่จีนก็ตาม

นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เรือสำรวจของจีนจำนวนสองลำได้แล่นเข้าสู่น่านน้ำอินโดนีเซียและมาเลเซียในทะเลจีนใต้ ขณะที่อินโดนีเซียไม่มีท่าทีมากนักต่อการบุกรุกดังกล่าว แต่มาเลเซียได้เรียกทูตจีนมาพบเพื่อประท้วงเกี่ยวกับเรื่องนี้

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์กล่าวว่า อาเซียนต้อง “เข้มแข็งต่อไป” แม้จะถูกท้าทายจากจีน

เขากล่าวต่อไปว่า การอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นที่จำนวนมากในทะเลจีนใต้ได้ถูกศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮก ตัดสินว่าไม่ถูกต้องเมื่อปี 2559 ศาลตัดสินว่าคำกล่าวอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีนขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ UNCLOS

ในทำนองเดียวกัน นายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย กล่าวเมื่อวันอังคารว่า “เรื่องเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างสันติและสร้างสรรค์ ตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับของสากล รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982”

จีนไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

ในคำแถลงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เขากล่าวว่า สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะ “ทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเรา เพื่อป้องกันการคุกคามต่อคำสั่งของศาลระหว่างประเทศ และเพื่อส่งเสริมพื้นที่อินโด-แปซิฟิกให้เป็นอิสระและเปิดกว้าง”

มารีล ลูเซนิโอ ในมะนิลา, อาหมัด สยัมสุดิน ในจาการ์ตา, มุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์, ไชลาจา นีลากันตัน ในวอชิงตัน และ เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาเมียนมา ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง