ครม. เห็นชอบในหลักการ พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.01.04
กรุงเทพฯ
ครม. เห็นชอบในหลักการ พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เครือข่ายภาคประชาสังคมรวมตัวกัน หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร วันที่ 27 ธันวาคม 2564
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการยกร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... ซึ่งทำให้องค์กรไม่แสวงหากำไรทั้งไทยและต่างชาติหลายองค์กรมีความกังวลว่ารัฐบาลต้องการใช้กฎหมายนี้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุม ครม. ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรฯ ต่อ ครม. และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฏหมาย หากผ่านความเห็นประชาชน ขั้นตอนต่อไป คือการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ ครม. พิจารณาอีกครั้งก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อลงคะแนนเสียง หากผ่านความเห็นชอบจึงจะมีการตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป 

“ครม. ได้เห็นชอบในหลักการ... ร่างพระราชบัญญัติจึงมุ่งเน้นที่การส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และกำหนดกลไกการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไรเท่าที่จำเป็น ไม่เป็นภาระแก่องค์กรฯ เกินสมควร และเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” นายธนกร กล่าว 

นายธนกร ระบุว่า สาระสำคัญโดยสรุปของกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร คือกลุ่มเอกชนที่รวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมโดยไม่หวังผลกำไร และไม่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง, หากกฎหมายบังคับใช้จะมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งมี รมว. พม. เป็นประธานเพื่อกำหนดแผนการทำงาน และดูแลการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร, องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และผู้ให้ทุน อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยจะห้ามองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรดำเนินการบางอย่างด้วย 

“กำหนดข้อห้ามดำเนินการ เช่น 1. กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ 2. กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม 3. เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย เป็นต้น” นายธนกร ระบุ 

นอกจากนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศต้อง 1. แจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ 2. ใช้เงินตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งต่อนายทะเบียน (ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ) นายธนกร ระบุ 

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังกำหนดให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานให้สาธารณชนเข้าถึงได้ง่าย และหากองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ และคำสั่งของนายทะเบียนจะมีโทษปรับทางอาญา และผู้รับผิดชอบต้องได้รับโทษทางอาญา (ยังไม่ได้ระบุโทษ) 

องค์กรฯ ไทย-ต่างชาติแสดงความกังวล 

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 องค์กรภาคประชาสังคมของไทยและต่างชาติ รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนรวม 47 องค์กร/บุคคล นำโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล, กรีนพีซ รวมถึง นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึง ครม. คัดค้านการออกร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมากเกินไป และยังเชื่อว่าอาจจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกขององค์กร และประชาชนด้วย 

“ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี หรือ ความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น คำที่มีเนื้อหากำกวมเช่นนี้ ทำให้หลายองค์กรเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าการใช้อำนาจที่ขาดการตรวจสอบ และเป็นไปตามดุลพินิจของทางการ ในประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคน ข้อบทอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ อาจถูกนำมาใช้โดยพลการได้อย่างง่ายดาย เพื่อจำกัดอย่างรุนแรงต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ และสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ” น.ส. โรเซียน ไรฟ์ รองผู้อำนวยการภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวผ่านแถลงการณ์ 

“การจะออก พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร คล้ายว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิ ลดบทบาท หรือคล้ายจะกำราบองค์กรภาคประชาสังคม มันสะท้อนว่ารัฐมีทัศนคติที่ไม่ดีกับประชาชน ไม่เชื่อมั่นในประชาชน ไม่ยอมรับการตรวจสอบ ถ่วงดุลจากภาคประชาชน ซึ่งเป็นทัศนคติที่อันตรายมากต่อภาคประชาชน” นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ต่อประเด็นนี้ นายซาไล บาวี นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่า หากร่าง พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรฯ ถูกบังคับใช้จริงจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาของภาคประชาสังคมในไทย 

“ความจริงแล้ว ภาคประชาสังคมมีกฎหมายมูลนิธิ และนิติบุคคล ดูแลอยู่แล้ว ซึ่งหากองค์กรใดกระทำผิด หรือไม่จ่ายภาษี ก็สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่ลงโทษได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ซึ่งกระทบต่อการทำงาน” นายซาไล กล่าว 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ครม. ได้อนุมัติหลักการของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งจะถูกใช้ควบคู่กับ พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรฯ เพื่อควบคุมการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม หลังจากที่รัฐบาลอ้างว่ามีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศไทยที่จดทะเบียนถูกกฎหมายเพียง 87 องค์กร และหลายองค์กรไม่ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของแหล่งทุน 

ต่อมาในวันที่ 24 กุมกาพันธ์ 2564 เครือข่ายภาคประชาสังคมได้แถลงคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว และเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมฯ ฉบับประชาชน ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อ 11,799 รายชื่อต่อรัฐบาล 

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง