คนชายแดนใต้หวัง ครม. อุ๊งอิ๊งค์ เร่งแก้ปัญหาปากท้อง
2024.09.05
ปัตตานี
ปัญหาปากท้อง คือ สิ่งแรกที่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คาดหวังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ที่นำโดย น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊งค์ นายกรัฐมนตรีป้ายแดง ขณะที่ความชัดเจนในแนวทางสันติภาพ ก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชนต้องการเห็นจากรัฐบาลชุดนี้
“สิ่งที่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาแบบด่วน ๆ เลยนะ ทำเลย ทำทันที คือ ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะชาวบ้านไม่ไหว แย่จนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ขอเถอะ ทำให้เศรษฐกิจดี ชาวบ้านมีกิน มีใช้ มีศักดิ์ศรี เหมือนตอนหาเสียงจริง ๆ” นางอูมมี ยูโซ๊ะ ชาวสวนยางพาราในจังหวัดปัตตานี วัย 44 ปี กล่าว
ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทย ได้เปิดตัวนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ทำให้สังคมตื่นเต้นหลายนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการจ่ายเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ตให้กับประชาชน เพื่อสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท และเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 รวมทั้งทำให้ทุกครัวเรือนมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้หนึ่งปีของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กลับยังไม่สามารถดำเนินนโยบายได้ตามที่หาเสียงเอาไว้ และเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงหยุดนิ่ง
ปี 2567 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เองก็คาดการณ์ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะขยายตัวเพียง 2.3-2.8 % ซึ่งตอกย้ำว่า สภาพเศรษฐกิจยังไม่คึกคักเท่าที่ควร
“ขายของแทบไม่ได้ คนไม่มีเงิน คนรุ่นใหม่เรียนจบมาตกงาน พอคนตกงานก็เลยมาขายของ มันทำให้ทุกวันนี้ คนขายมากกว่าคนซื้อ ถ้าแก้ปัญหาคนตกงานได้ แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เชื่อว่าอย่างอื่นจะดีตาม” นายสาและ อีซอ พ่อค้าในจังหวัดยะลา อายุ 29 ปี กล่าว
ในกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การเมืองไทยพบจุดหักเหสำคัญ เมื่อนายเศรษฐา ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ซึ่งเคยถูกตัดสินจำคุก เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ น.ส. แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และบุตรสาวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
และในวันพุธที่ผ่านมา ครม. ชุดใหม่ 35 คน ของ น.ส. แพทองธาร เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ซึ่งในนั้นมีรัฐมนตรีหน้าเก่าจากรัฐบาลนายเศรษฐาถึง 23 คน และมีรัฐมนตรีหน้าใหม่ 3 คน ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนคนนามสกุลเดียวกัน การมี ครม. ชุดใหม่ก็สร้างความหวังให้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้อีกครั้ง
“ที่นี่ พี่น้องมุสลิมคิดเป็นกว่า 80% เรามีความเป็นฮาลาลตั้งแต่ต้น เช่น การเลี้ยงสัตว์ ชำแหละ เตรียมอาหาร เราต้องการเพียงการหนุนเสริมบางอย่างให้เป็นรูปธรรม เช่น การปรุงอาหาร ดังนั้นการเป็นเมืองอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อไปสู่ตลาดโลกก็น่าจะเหมาะสม แต่ที่ผ่านมาเราขาดตัวเชื่อมระหว่างแหล่งผลิตกับตลาด ถ้ารัฐบาลมาเป็นคนกลางเชื่อมก็น่าจะดี สิ่งที่เราหวังที่สุดจึงเป็นความจริงใจในการแก้ปัญหา” น.ส. อสมีนูดียา อีซอ แม่ค้าชาวปัตตานี วัย 32 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในเดือนกรกฎาคม 2567 รัฐบาลได้ประกาศว่า จะผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งประเทศไทย (Thailand Halal Valley) โดยวางแผนให้สำเร็จภายในปี 2570 จะใช้งบประมาณ 1.23 พันล้านบาท และตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลอาเซียน
ตามข้อมูลของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า ปัจจุบัน จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี GDP ขนาด 1.23 แสนล้านบาท หรือ 0.9% ของ GDP ทั้งประเทศ ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 7.03 หมื่นบาทต่อปี
หวัง ครม. ชัดเจนแนวทางสันติสุข
แม้จะมีภูมิประเทศและธรรมที่สวยงาม การผสมผสานภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ในสายตาคนไทยภาคอื่น ชายแดนใต้กลับมีภาพจำสำคัญคือ ความรุนแรง ซึ่งสถิติก็ไม่เคยโกหกเรื่องนี้ เพราะศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,500 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย
ตลอดช่วงปี 2548-2567 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ร่วม 5 แสนล้านบาท การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นการเจรจาระหว่าง ตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่มมาราปาตานี แต่การพูดคุยฯ ดังกล่าวขาดช่วง ทั้งจากความไม่มั่นคงของการเมืองภายในไทย และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาเลเซีย ก่อนจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งในปี 2563 โดยตัวแทนรัฐบาลไทย ได้เริ่มเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งการเจรจายังมีต่อเนื่องจนถึงปี 2567
“ปัญหาที่ค้างอยู่คือ การพูดคุยสันติภาพต้องเดินหน้า คิดว่านายกรัฐมนตรีต้องประกาศให้ชัดเจนในแง่ของความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะใช้การเจรจาพูดคุยในการแก้ปัญหา ต้องมีการพูดคุยสันติภาพเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาในทางสันติ จุดนี้เป็นจุดสำคัญมากที่ค้างอยู่จากรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งไม่ได้ทำอะไรเลย รัฐบาลนี้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคเดิมจึงต้องแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นอย่างชัดเจน” ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มูลค่า 3.75 ล้านล้านบาท การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 5.78 พันล้านบาท และงบประมาณขับเคลื่อนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในสิบหัวข้อในหมวดงบรายจ่ายบูรณาการมูลค่า 2.06 แสนล้านบาทด้วย
รัฐบาลระบุว่า มีเป้าหมายจะลดการสูญเสีย และความรุนแรง 80% โดยระบุว่า “จะใช้แนวทางสันติวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างต่อเนื่อง พัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาบนหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาศักยภาพของพื้นที่”
ในปลายปี 2566 นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แต่งตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ โดยนับเป็นครั้งแรกที่มีหัวหน้าคณะพูดคุยเป็นพลเรือน อย่างไรก็ตามคณะทำงานในคณะพูดคุยฯ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
“การเร่งออกนโยบายการแก้ปัญหา และการตั้งคณะพูดคุยฯ เพื่อให้การเจรจามีความต่อเนื่อง และดำเนินการต่อไปได้มีความสำคัญ นายกฯ ควรตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เป็นพลเรือน และให้ใช้บทบาททางการเมืองนำการทหาร ทหารควรมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการเจรจา เพราะคนที่มีอาวุธ ไม่ควรมีบทบาทนำการเจรจา เพราะเป็นการกดดันคนในการปราบปราม รัฐควรเร่งแต่งตั้ง เพื่อไม่ให้การเจรจาขาดตอน” น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
แม้จะมีการพูดคุยฯ แต่ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ควบคู่ไปด้วย ทำให้ ต้นปี 2567 องค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้กว่า 30 องค์กร ทำหนังสือเปิดผนึกถึงสหประชาชาติ ให้ช่วยตรวจสอบกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนในหลายคดีว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 40 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญา ขณะเดียวกันในบางคดี ผู้ฟ้องคือ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เอง
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน