วิบากกรรมของรัฐบาลพิธา
2023.06.30
กรุงเทพฯ

แม้สภาผู้แทนราษฎร กำลังจะเปิดสมัยประชุมในวันจันทร์นี้ แต่การขึ้นสู่ตำแหน่งของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เพราะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่แต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีท่าทีว่าจะไม่ยกมือเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ชูธงแก้ไขกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง หรือกฎหมายอาญามาตรา 112
พรรคก้าวไกลของพิธา ชนะการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 อย่างเหนือความคาดหมาย ด้วยการยกนโยบายปฏิรูปการเมือง และเป็นการนำพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเอาชนะพรรคฝ่ายทหารที่อยู่ในอำนาจมากว่า 9 ปี
ก้าวไกลให้สัญญากับประชาชนว่า ถ้าพวกเขาได้ร่วมรัฐบาลจะปฏิรูปโครงสร้างต่าง ๆ โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทลายทุนผูกขาด และปฏิรูปกระบวนการยุติธรม รวมถึงกองทัพ ซึ่งสถานะของพวกเขากลายเป็นคู่ขัดแย้งอันดับหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำอำนาจเก่าทันที
แม้ได้รับชัยชนะ แต่คล้ายว่านโยบายสำคัญเรื่องการแก้ไข ม.112 ที่ก้าวไกลอ้างว่า รัฐบาลทหารใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้ที่เห็นต่าง อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลของ พิธา และก้าวไกล
ปัจจุบัน ก้าวไกล และเพื่อไทยจับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรคได้มือ ส.ส. 313 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 คน แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คสช. ให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการทหาร และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ร่วมเลือก นายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้หาก พิธาต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียงจาก 750 เสียงในที่ประชุมร่วมรัฐสภา
กระแสความนิยมในตัวพิธาสูงมาก ทำให้ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องพยายามผลักดันให้เขาเข้าใกล้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า “ฉากทัศน์ในเวลาอันใกล้นี้คือ ดันพิธาไปให้สุด แต่หลังจากนี้จะมีวิบากกรรมอะไรเกิดขึ้นอีก อันนั้นคือความไม่แน่นอนในระยะยาว”
“ถ้ามองในระยะยาว ก็มีความเป็นไปได้หลายอย่าง ฉากทัศน์หนึ่งที่ถูกพูดถึงมากคือ การควบรวมของพรรค เช่น สมาชิกของพรรคฝ่ายค้าน (พรรครัฐบาลเดิม) อาจถูกเพื่อไทยดูดมาเข้าฝั่งรัฐบาลในตอนนี้ก็เป็นไปได้” ดร. ณัฐกร ระบุ
ศึกชิงประธานสภาฯ
ศึกชิงเก้าอี้ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ระหว่าง ก้าวไกล และเพื่อไทย ที่ตกลงจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน เริ่มเผยให้เห็นความไม่ลงรอยบางอย่างระหว่างสองพรรค และบรรยากาศเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อใกล้ถึงวันเปิดสภา
เพื่อไทย ที่ครองความนิยมของประชาชนมาร่วม 20 ปี ประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งแรก หลังได้ ส.ส. 141 คน ขณะที่ก้าวไกลซึ่งมีอายุพรรคไม่ถึง 5 ปีได้ ส.ส. 151 คน แซงเพื่อไทยกลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และขณะเดียวกัน ก้าวไกลเองก็แสดงความประสงค์ที่จะให้ ส.ส. ของพรรคตัวเองได้ทั้งตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และประธานสภาฯ ในเวลาเดียวกัน
เบื้องต้น ทั้งสองพรรค ตกลงแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีเท่ากันที่ 14 คน โดยเพื่อไทยชี้ว่า ทั้งก้าวไกล และเพื่อไทย มี ส.ส. ต่างกันไม่มาก มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ดังนั้น ตำแหน่งรัฐมนตรีควรได้เท่ากัน แต่เพื่อไทยเองก็อยากได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติด้วย แม้ยืนยันมาตลอดว่าพร้อมสนับสนุนให้ พิธาเป็นประมุขฝ่ายบริหาร
ถึงปัจจุบัน การเจรจาระหว่างสองพรรคยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ฝ่ายก้าวไกลก็ได้เปิดตัว ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตสัตวแพทย์ อายุ 42 ปี ในฐานะผู้ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ โดยให้เหตุผลว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ควรเป็นสิทธิของพรรคอันดับหนึ่ง
แต่เดิมทั้งสองพรรคกำหนดวันเจรจาเรื่องประธานสภาในวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่การเจรจาถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่ สมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ประชุมร่วมกัน และแถลงว่า เพื่อไทยยังยืนยันว่าต้องการตำแหน่งประธานสภา ตามมาด้วยเสียงต่อว่าจากผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลจำนวนมาก และเกิดความตึงเครียดระหว่างสองพรรค
อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยว่า ทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาลมีกำหนดประชุมด้วยกัน ในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม เพื่อตกลงปัญหาต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้น ก่อนที่วันอังคารจะเป็นวันลงคะแนนเลือกประธานสภาฯ
ดร. ณัฐกร ชี้ว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ มีความสำคัญที่สุด 2 ประการ คือ ควบคุมการออกกฎหมาย และควบคุมการเลือกนายกรัฐมนตรี
“อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว. ถึง 5 ปี คือ ส.ว. ชุดนี้จะยังโหวตเลือกนายกได้อีก 1 ปี ฉะนั้นหาก ส.ว. ไม่ยกมือให้พิธา ประธานสภาก็สามารถยืนยันที่จะเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ ไปเรื่อย ๆ จนกว่า ส.ว. จะหมดวาระได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะขัดแย้งกับเพื่อไทยที่ว่า ทำไมไม่ให้โอกาสพรรคอันดับ 2 บ้าง” ดร. ณัฐกร ระบุ
แม้ว่า การแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ระหว่างสองพรรคยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด แต่ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันว่า การจับมือร่วมรัฐบาลนั้นเหนียวแน่นดังเดิม เพราะเพื่อไทยเคารพฉันทามติของประชาชน
“เราถูกมัดด้วยอานัติของประชาชน แม้เราอยากออกไป แต่เราออกไปไม่ได้ ซึ่งเรามีสิทธิด้วยนะที่จะออกไป แต่ว่ามันไม่ชอบธรรม เราถูกพี่น้องประชาชน 25 ล้านเสียงมัดเรากับก้าวไกลให้ติดกัน มันเสมือนพ่อแม่เรา เราเป็นลูกเขาจับคลุมถุงชนให้มาแต่งงานกัน เราไม่มีสิทธิปฏิเสธจริง ๆ” นพ. ชลน่าน กล่าว
วิบากกรรมของพิธา
การขาดเสียง ส.ว. อีก 63 เสียง ไม่ใช่อุปสรรคเดียวของการจัดตั้งรัฐบาลพิธา เพราะเขายังถูกบรรดานักร้องฝ่ายอนุรักษ์นิยม ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ด้วยหลักฐานว่า พิธาครอบครองหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด ซึ่งเคยประกอบธุรกิจโทรทัศน์ และการมีหุ้นในบริษัทสื่อมวลชนเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของการเป็น ส.ส. โดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังตรวจสอบว่ากรณีนี้ และกว่าจะได้ข้อสรุปอาจใช้เวลาร่วมปี
“การร้องเรียนคุณสมบัติของพิธาจะไม่ทำให้การเลือกนายกฯ ล่าช้า แต่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาหลุดออกจากตำแหน่งในภายหลัง ถ้า กกต. ยืนยันว่าเขามีคุณสมบัติต้องห้าม” ดอน หอมมณี นักวิชาการอิสระจากเชียงใหม่ กล่าว
พิธา ยืนยันว่า การถือหุ้นไอทีวีของตนเองทำในฐานะผู้จัดการมรดก และเชื่อมั่นว่า กรณีดังกล่าวไม่ไช่การทำผิดรัฐธรรมนูญ จึงไม่กังวลกับการถูกร้องนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ หลังพบว่า ธนาธรถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่ผลิตนิตยสาร “Who” แม้ว่า นิตยสาร Who จะเลิกผลิตไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่ธนาธรจะได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ก็ตาม
ต่อมาในปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่ พรรคถูกร้องว่า รับเงินบริจาคอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร 191 ล้านบาท เพื่อใช้ในการหาเสียง คำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี หลังจากนั้นสมาชิกพรรคบางส่วน จึงย้ายมาตั้งพรรคก้าวไกล และเลือก พิธา เป็นหัวหน้าพรรค
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน