มาเลเซียกล่าวหลังเจรจาไทย-บีอาร์เอ็นว่าแก้ปัญหาภาคใต้อาจใช้เวลา 2 ปี

สองฝ่ายประชุมตัวต่อตัวครั้งแรกหลังปี 63 จะหารือกรอบงานร่วมสามประเด็น
มุซลิซา มุสตาฟา และนิชา เดวิด
2022.01.12
กัวลาลัมเปอร์
มาเลเซียกล่าวหลังเจรจาไทย-บีอาร์เอ็นว่าแก้ปัญหาภาคใต้อาจใช้เวลา 2 ปี นายฮีพนี มะเร๊ะ หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายบีอาร์เอ็น (ซ้ายมือ) และพล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ (ขวามือ) ถ่ายรูปร่วมกันโดยมี นายราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา ร่วมเป็นพยาน วันที่ 12 มกราคม 2565
แหล่งข่าวทหาร

การพบปะเต็มคณะของทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็น ได้เสร็จสิ้นลง ในวันพุธนี้ นายอับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจากล่าวว่า ยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยสองปีในการหาทางออกให้กับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

แหล่งข่าวไทยที่ใกล้ชิดกับคณะพูดคุยระบุว่า ทั้งสองฝ่ายซึ่งได้ยุติการพบปะแบบตัวต่อตัวไป ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เพราะการระบาดของโควิด-19 ได้พูดคุยถึงกรอบการทำงานร่วมกันในสามประเด็นที่รวมถึงการลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งทางไทยจะใช้เป็นพื้นฐานในการพูดคุยหายุติความรุนแรงของการแบ่งแยกดินแดนที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นเป็นแกนนำ

พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็น ซึ่งนำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (นายฮีพนี มะเร๊ะ) ได้พูดคุยแบบตัวต่อตัว โดยมีนายอับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก ในโรงแรมแห่งหนึ่งในเปตาลิง จายา ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันอังคารและสิ้นสุดลงในตอนเย็นของวันพุธ (12 มกราคม 2565 นี้)  

นายราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจากล่าวว่า กล่าวว่า สองฝ่ายเจรจาด้วยความสันติ

“ในที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็ได้มาพบปะกันตัวต่อตัวหลังจากที่ไม่ได้พบกันเป็นเวลาเกือบสองปี” นายราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจมาเลเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ ในวันพุธนี้

“การพูดคุยเป็นไปด้วยความสันติ ซึ่งได้ใช้การสื่อสารสามภาษา คือ ไทย อังกฤษ และมลายู ผมพูดภาษาอังกฤษ แล้วแปลเป็นไทยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย และแปลเป็นมลายูให้กับฝั่งผู้แทนของบีอาร์เอ็น เพราะเขารู้สึกสะดวกกว่า” นายราฮิม นูร์ กล่าว

นายราฮิม นูร์ กล่าวอีกว่า ตนไม่สามารถระบุเนื้อหาสาระในการพูดคุยหรือถึงความคืบหน้าได้ทั้งหมด แต่การเจรายังต้องใช้เวลา

“แต่ผมบอกคุณได้ว่าทั้งสองฝ่ายนั้นมีความต้องการที่จะหาทางออกให้กับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทางออกทางด้านการเมืองเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ แต่การหาทางออกมันต้องใช้เวลา อย่างน้อยก็สองปี” นายราฮิม นูร์ กล่าว

ส่วนแหล่งข่าวไทยที่ใกล้ชิดกับคณะพูดคุยระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาในเรื่อง “กรอบการทำงานร่วมกันในสามประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้เป็น road map ในการพูดคุยหลังได้ข้อยุติร่วมกัน”    

“กรอบการทำงานร่วมกันในสามประเด็น... การลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่, การมีส่วนร่วมทางการเมือง และกลไกการปรึกษาหารือในพื้นที่” แหล่งข่าวระบุถึงข้อเสนอของฝ่ายไทยผ่านทางเอกสารข่าว

เบนาร์นิวส์ ขออนุญาตสัมภาษณ์ อุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ หัวหน้าคณะเจรจาของบีอาร์เอ็น แต่ได้รับการปฏิเสธ

ในการเจรจาครั้งนี้ เจ้าหน้าที่มาเลเซียที่ดูแลความปลอดภัยในการประชุม กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายพบปะกันเมื่อบ่ายวันอังคาร ก่อนที่จะเลื่อนไป และเริ่มประชุมใหม่ในวันพุธ ซึ่งกินเวลากว่าแปดชั่วโมง

นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก่อความไม่สงบอีกระลอกใหญ่มาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ในพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีเชื้อชาติมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยแล้วกว่า 7,300 ราย

ฝ่ายไทยได้พยายามเจรจากับฝ่าย “ผู้เห็นต่าง” กลุ่มต่าง ๆ ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงสมัยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนล่าสุดฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่แข็งแกร่งที่สุดได้ขอเจรจากับฝ่ายคณะพูดคุยฯ ของไทยโดยตรง

ทั้งสองฝ่ายพบปะกันแบบตัวต่อตัวสองครั้งใน พ.ศ. 2563 ก่อนที่จะสะดุดเพราะการระบาดของโควิด-19 และครั้งล่าสุด สองฝ่ายได้ประชุมครบคณะทางออนไลน์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว

 220112-th-deep-south-insurgency-inside.jpg

เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจสอบพื้นที่ที่ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ขว้างระเบิดใส่รถที่ตั้งของอาสาสมัคร ในนราธิวาส วันที่ 23 เมษายน 2564 (เอเอฟพี)

บีอาร์เอ็นเสนอตั้ง “ปาตานี ดารุสสลาม”

คณะของฝ่ายไทยที่นำโดยพลเอก วัลลภ มี 7 คน เมื่อรวมกับเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในมาเลเซียด้วยแล้ว มีมากกว่าสิบคน ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็นมีทั้งหมด 7 คน นำโดยนายฮีพนี มะเร๊ะ

ตัวแทนเป็นเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มาประชุมด้วย” นายราฮิม นูร์ กล่าว

ส่วนฝ่ายมาเลเซีย นอกจากนายราฮิม นูร์ แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจากสำนักงานตำรวจสันติบาล รวมอีกสิบนายที่ร่วมอำนวยการประชุม

นายราฮิม นูร์ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกันถึงข้อเสนอของบีอาร์เอ็นที่จะให้จัดตั้งเขตปกครองพิเศษที่เรียกว่า ปาตานี ดารุสสลาม

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มการต่อต้านการก่อการร้าย โดย S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ ที่เผยแพร่ในสัปดาห์ที่แล้ว บีอาร์เอ็น ได้เสนอให้จัดตั้งเขตปกครองพิเศษ ปาตานีดารุสสลาม ซึ่งประชาชนในปาตานีมีสิทธิในการเลือกระบบการศึกษาและเศรษฐกิจของตนเอง นอกจากนั้น ภาษามลายูและอัตลักษณ์มลายูต้องได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการและอนุรักษ์ไว้

นายราฮิม นูร์ กล่าวว่า ฝ่ายคณะพูดคุยฝ่ายไทยต้องปรีกษาหารือกับอีกหลายฝ่ายก่อนที่จะสามารถรับข้อเสนอของฝ่ายกบฏได้

“รัฐบาลไทยคือผู้เดียวเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาในชายแดนภาคใต้ได้” นายราฮิม นูร์ กล่าว

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง