ศาลพิพากษาลับหลังสั่งคุก เพนกวิน 2 ปี คดี ม. 112

ศาลชี้ หมิ่นในหลวง เพราะเขียนข้อความและโพสต์พระบรมฉายาลักษ์กลับหัว
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.07.31
กรุงเทพฯ
ศาลพิพากษาลับหลังสั่งคุก เพนกวิน 2 ปี คดี ม. 112 นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านเผด็จการ บริเวณหน้า สน.สำราญราษฎร์ วันที่ 14 สิงหาคม 2563
ภานุมาศ สงวนวงษ์-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาให้จำคุกนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักกิจกรรมทางการเมือง เป็นเวลา 2 ปี แม้เจ้าตัวไม่ได้เดินทางมาศาล จากความผิดมาตรา 112 คดีที่เกี่ยวข้องกับการเขียนข้อความและโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.10 กลับหัว เมื่อ 28 กรกฎาคม 2564

“ศาลอาญาพิพากษาจำคุก เพนกวิน 2 ปี กรณีโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์กลับหัวและข้อความ… พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพของจำเลยจริง เมื่อพิจารณาจากภาพและข้อความแล้ว ผู้ที่อ่านทั่วไปจะเข้าใจได้ว่าจำเลยหมิ่นพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 และลดทอนคุณค่าของกษัตริย์” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า เพนกวิน มีความผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ เป็นความผิดกรรมเดียว ให้ลงโทษตามกฎหมายที่หนักที่สุด คือมาตรา 112 จำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ครั้งแรก แต่เพนกวินไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัด ศาลจึงได้ออกหมายจับให้นำตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษา และนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถจับกุมตัวนายพริษฐ์มาฟังคำพิพากษาได้ แต่ศาลก็ได้อ่านคำพิพากษาตามที่นัดเอาไว้ 

คดีนี้ นายพริษฐ์ ถูกนายนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) แจ้งความดำเนินคดีจากการโพสต์ภาพ-ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับหัว และข้อความประกอบ “#28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ” 

“พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 28 ก.ค. - 1 ส.ค. 2564 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “พริษฐ์ ชิวารักษ์” ได้โพสต์เผยแพร่ภาพของจำเลยถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10” ศูนย์ทนายฯ ระบุ

นายพริษฐ์ เป็นหนึ่งในแกนนำการชุมนุมทางการเมืองซึ่งเริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้น รัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม โดยศูนย์ทนายฯ ระบุว่าตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,297 คดี ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 303 คดี 

ต่อสถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 กับนักกิจกรรมจำนวนมาก ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า รัฐควรหยุดการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดำเนินคดีกับประชาชน 

“สถานการณ์ปัจจุบัน มันสะท้อนว่า ม. 112 ซึ่งเป็นเครื่องมือและอุดมการณ์กำจัดศัตรูทางการเมืองของคณะรัฐประหาร 2557 ยังคงอยู่ สวนทางกับความคิดของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเน้นใช้หลักประชาธิปไตย ถ้ารัฐไม่ต้องการให้ประชาชนลุกขึ้นเรียกร้องมากกว่านี้ ควรยกเลิกการใช้กฏหมายปิดกั้นเสรีภาพประชาชน เพื่อนำพาประเทศกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับกับนานาชาติ” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าว

เฉพาะเพนกวินเอง ถูกดำเนินคดี มาตรา 112 อย่างน้อย 25 คดี โดยคดีนี้นับเป็นคดีแรกที่มีคำพิพากษา ก่อนหน้านี้ เพนกวินเคยถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลที่กลัวจำเลยไปกระทำผิดซ้ำ และยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน

การดำเนินคดีการเมืองจำนวนมาก ทำให้เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน และประชาชนกว่า 3.5 หมื่นคน รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอ ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมเข้าสู่สภา โดยจะให้ยกเว้นโทษให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันทุกข้อหา รวมถึงมาตรา 112 

ปัจจุบัน ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กมธ. วิสามัญ ตรา พรบ. นิรโทษกรรมฯ โดย มีร่าง พรบ. นิรโทษกรรม ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วสี่ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พรบ. นิรโทษกรรม ที่ถูกเสนอโดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพิ่งจะพิพากษาจำคุก นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเวลา 4  ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากคดีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวสองข้อความในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 พาดพิงสถาบันกษัตริย์

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง