ว่าที่รัฐบาลเล็งเปิดพื้นที่พูดคุยที่ปลอดภัยยุติความขัดแย้งชายแดนใต้

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.06.09
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
ว่าที่รัฐบาลเล็งเปิดพื้นที่พูดคุยที่ปลอดภัยยุติความขัดแย้งชายแดนใต้ คณะทำงานย่อยว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่ทำการพรรคก้าวไกล ในกรุงเทพฯ หลังประชุมนัดแรกว่าด้วย “สันติภาพชายแดนใต้ ปาตานี”
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

คณะทำงานย่อยว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลว่าด้วย “สันติภาพชายแดนใต้ ปาตานี” เปิดเผยหลังการประชุมนัดแรกในวันศุกร์นี้ว่า จะใช้แนวทางการลดบทบาทกองทัพ สร้างความปลอดภัยให้ประชาชน และเปิดพื้นที่พูดคุย เพื่อยุติความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ชี้ว่า การจำลองการทำประชามติ “แยกตัวเป็นเอกราช” ของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันพุธเป็นการกระทำที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกระทบต่อความมั่นคง

นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวหลังการประชุมว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง แต่ความขัดแย้งยังคงอยู่ ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาคือ เผชิญหน้ากับความขัดแย้ง และพูดคุยกันด้วยความอดทนอดกลั้น

“อาจจะต้องลดบทบาทของวิธีคิดกลไกทางทหารลง แต่เพิ่มบทบาทของพลเรือน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวแทนที่เลือกตั้งมาโดยประชาชน เรากำลังพูดถึงบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่มมากขึ้นด้วย"

"ถ้าคนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งก็เป็นเป้าหมายในทางการเมือง คือ เปิดพื้นที่ ถ้าเราเดินอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ ภายใน 4 ปีนี้ เราน่าจะเห็นชายแดนใต้ เราน่าจะเห็นปาตานีที่ผู้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ” นายรอมฎอน กล่าว

นายรอมฎอน เปิดเผยว่า การประชุมในวันศุกร์นี้ เป็นการพูดคุยเบื้องต้น ซึ่งจะมีการทำงานต่อเนื่อง โดยการประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้น ณ ที่ทำการพรรคประชาชาติ ในวันที่ 19 มิถุนายน 2566

ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2566 มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 9,631 ครั้ง เสียชีวิต 7,850 ราย บาดเจ็บ 12,590 ราย ตามข้อมูลสรุปผลการปฏิบัติงานปี 2566 ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

รัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ได้เริ่มหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันในปี 2556 ถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยใช้ คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนำโดย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ ทำหน้าที่เจรจากับ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani- BRN) ที่นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเระ) โดยการพูดคุยแต่ละครั้งมีผู้อำนวยความสะดวกเป็นตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย

ในการประชุมนัดแรกของคณะทำงานย่อยฯ นายปิยะพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า การสร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสันติสุข

“สิ่งที่คาดหวังกับคณะทำงานย่อยฯ และรัฐบาลชุดใหม่ต่อเรื่องนี้ คือบรรยากาศการพูดคุย เราจะเห็นว่าสังคมไทย เวลาแตะเรื่องที่มันสุ่มเสี่ยง เช่นเรื่องแบ่งแยกดินแดน เราจะเห็นความโกรธ ความไม่พอใจมากมายเต็มไปหมด ถ้าบรรยากาศเหล่านี้ยังคุกรุ่นอยู่ ก็ยากที่จะคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะในเรื่องที่ละเอียดอ่อน” นายปิยะพงษ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ในภาคประชาชน เมื่อพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีงานเปิดตัว ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ซึ่งเชิญตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวเข้าร่วมเสวนา

“เราเชื่อว่า สิทธิการปลดปล่อย สิทธิในการมีชนชาติ รวมไปถึงสิทธิในการกําหนดชะตากรรม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวเราแต่เดิมในฐานะมนุษย์ และสามารถขับเคลื่อนต่อสู้ได้ในสังคมประชาธิปไตยโดยไม่ถูกจํากัด คุกคามโดยกฎหมาย การสร้างสันติภาพปาตานีให้เกิดขึ้นจําเป็นต้องมีพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัย และการมีเสรีภาพของประชาชนชาวปาตานี” ตอนหนึ่งของคำแถลง โดยขบวนนักศึกษาแห่งชาติ

ในวันงานเดียวกัน มีการทำแบบสอบถามว่า คุณเห็นด้วยกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งต่อมากิจกรรมนี้ถูกวิจารณ์บนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง

สำหรับประเด็นดังกล่าว พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และโฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ยืนยันว่า รัฐสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย แต่การทำกิจกรรมใด ๆ ต้องไม่ละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งกิจกรรมเมื่อวันพุธ หมิ่นเหม่ที่จะผิดกฎหมาย

“ขอยืนยันว่า การลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการละเมิดกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดน และเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ตามความเหมาะสมต่อไป” พล.ต. ปราโมทย์ กล่าว

ในประเด็นเดียวกัน นายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ชี้ว่า การรณรงค์ทำประชามติฯ ถ้าตีความตามกฎหมายต้องสามารถทำได้

“รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 บอกว่า ประเทศไทยแบ่งแยกไม่ได้ ในต่างประเทศที่ก้าวหน้า แบ่งแยกไม่ได้แปลว่า พูดไม่ได้นะ อย่างในสเปนแบ่งแยกไม่ได้ แต่เขาพูดได้ เขาชุมนุมได้ ไม่ผิดกฎหมาย... แต่รัฐไทยใช้กรอบคิดว่า อันนี้เป็นภัยต่อความมั่นคง ตีความว่าการคิดแบบนี้ผิดกฎหมายแล้ว ต้องปราบปราม อันนี้เป็นปัญหาของโครงสร้างรัฐธรรมนูญ” นายฮากิม กล่าว

ด้าน นายปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า “เห็นด้วยว่าการออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่การสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษา... ฝ่ายความมั่นคงควรจะมองว่า นั่นคือการพูดคุยอย่างสันติวิธีของเยาวชนในพื้นที่ทางวิชาการ ฝ่ายความมั่นคงควรใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตาม หลังการพูดคุยนัดแรก นายรอมฎอน พรรคก้าวไกล และนายกัณวีร์ สืบแสง พรรคเป็นธรรม ในฐานะคณะทำงานย่อยฯ ยืนยันว่า “ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่ นายรักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลให้กับทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้จำเป็นต้องคำนึงถึงการแสดงออกที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ ในเดือนเมษายน 2566 เคยมีประเด็นที่คล้ายกันเกิดขึ้น เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดนราธิวาส ได้เชิญ นายฮาฟิส ยะโกะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 3 นราธิวาส พรรคเป็นธรรม ไปชี้แจงหลังจากปรากฏข้อความบนป้ายหาเสียงว่า “ปาตานีจัดการตนเอง”

ซึ่ง กกต. มองว่า ประโยคดังกล่าวอาจหมิ่นเหม่ที่จะกระทบความมั่นคง ซึ่งพรรคเป็นธรรมได้ชี้แจงว่า “ปาตานีจัดการตนเอง” ไม่ใช่การเรียกร้องให้ “ปาตานีปกครองตนเอง”

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 อย่างไม่เป็นทางการ พรรคประชาชาติ มี ส.ส. 7 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง, พลังประชารัฐ 3 ที่นั่ง, ประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่ง และรวมไทยสร้างชาติ 1 ที่นั่ง

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง