กรมควบคุมมลพิษชี้กรุงเทพฯ สภาพอากาศเริ่มเลวร้ายต่อสุขภาพ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.12.23
กรุงเทพฯ
กรมควบคุมมลพิษชี้กรุงเทพฯ สภาพอากาศเริ่มเลวร้ายต่อสุขภาพ เรือขนส่งสินค้ามองเห็นได้เลือนลางผ่านฝุ่นควันมลพิษทางอากาศ ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในกรุงเทพฯ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564
รอยเตอร์

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ประกาศเตือนในวันพฤหัสบดีนี้ว่า สภาพมลพิษในอากาศของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เริ่มส่งผลต่อสุขภาพแล้ว จึงแนะนำให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง หยุดการเผา และใช้รถยนต์ส่วนตัวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ด้านนักวิชาการชี้ รัฐบาลควรใช้มาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหา

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า คพ. พยากรณ์ว่า ระหว่างวันที่ 21-26 ธันวาคม 2564 สภาพอากาศของพื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพฯ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

“ฝุ่นสะสมมากขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็จะไปเข้มที่สุดประมาณวันที่ 25-26 (ธันวาคม 2564)... ตอนนี้ก็ขอให้พี่น้องประชาชนลดกิจกรรมในที่โล่ง โดยเฉพาะการออกกำลังกาย อะไรที่จะเป็นกิจกรรมที่จะต้องใช้รถ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล หรือการเผาในที่โล่ง ก็ขอให้เว้นก่อน โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ข้างเคียงกรุงเทพฯ ปริมณฑล เราก็มีการแจ้งคำสั่งห้ามเผาในที่โล่ง เพื่อป้องกันให้ฝุ่นตรงนี้พัดพาเข้ามาสะสมในกรุงเทพฯ” นายอรรถพล กล่าว

ขณะเดียวกัน กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ ได้สรุปสภาพอากาศของกรุงเทพฯ ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า มีค่า PM2.5 ระหว่าง 47-86 มคก./ลบ.ม. มีค่าเฉลี่ย 67.2 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติ คือ 50 มคก./ลบ.ม. โดยค่า PM2.5 ในขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้วในทุกเขต ยกเว้น เขตหนองจอก

ทั้งนี้ สภาพอากาศในปัจจุบัน เกิดจากความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส ประกอบกับมีหมอกบางในตอนเช้า ความเร็วลมลดลงอยู่ที่ 6-8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากสภาพอากาศที่ปิด และสภาวะลมอ่อนอาจทำให้ฝุ่นละอองมีปริมาณสูงขึ้น

ต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ คพ. ประกาศเตือนประชาชนในกรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครปฐม, ปทุมธานี และนนทบุรี งดการเผา และลดการใช้รถ เฝ้าระวังสุขภาพอนามัย และตรวจคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน

ด้าน ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ จากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ระบุว่า จากการศึกษาอากาศในประเทศไทย พบว่ามีการปนเปื้อนของสารที่เป็นพิษต่อสุขภาพ ดังนั้น ประชาชนควรป้องกันด้วยการสวมหน้ากากป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี

“จากการศึกษาพบสารหนู, แคดเมียม ทังสเตน และโลหะหนัก ซึ่งเป็นสารที่ปนเปื้อนจากโรงงาน เครื่องยนต์ของยานพาหนะ และควันจากท่อไอเสีย เพื่อป้องกันผลกระทบ เมื่อออกนอกบ้านควรใช้หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นควันได้ ในอาคารควรใช้ที่ฟอกอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็กซึ่งยังไม่มีภูมิคุ้มกัน” ศ.ดร. ศิวัช กล่าวกับเบนาร์นิวส์

กองทัพอากาศพร้อมช่วยแก้ปัญหา

ในวันเดียวกัน พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า กองทัพอากาศพร้อมใช้ทรัพยากรของกองทัพในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาฝุ่น 

“เราพบว่า PM2.5 จะคลี่คลายด้วยน้ำ ซึ่งกองทัพอากาศมีเครื่องบินที่สามารถโปรยน้ำได้ และที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้ว หากจำเป็นต้องดำเนินการอีก เราก็ยินดีสนับสนุน” พล.อ.อ. นภาเดช กล่าว

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร. นิอร สิริมงคลเลิศกุล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ปัญหา PM2.5 เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะบางจังหวัด แต่ทั้งประเทศ ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาในภาพรวมของทั้งประเทศ

“ปัญหาฝุ่นเกิดจากการเผาเป็นหลัก จากการศึกษาเรายังพบว่า นอกจากในประเทศแล้วยังมีการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน การแก้ปัญหาระยะสั้นคือ รัฐต้องพยายามเจรจากับเกษตรกรเพื่อสร้างข้อตกลง และกำหนดเวลาเผา ให้สอดคล้องกับทิศทางของลมเพื่อไม่ให้ฝุ่นพัดเข้าสู่ชุมชน ขณะที่การแก้ปัญหาระยะยาวคือ การสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนทั้งประเทศ เพื่อลดการสร้างปัญหา และใช้กลไกอาเซียนในการแก้ปัญหาฝุ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน” ผศ.ดร. นิอร กล่าว

ผศ.ดร. นิอร กล่าวเพิ่มเติมว่า การโปรยละอองน้ำจากที่สูง ไม่สามารถยืนยันได้ว่าสามารถช่วยลดฝุ่นควันได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณความหนาแน่นของฝุ่นควัน และพื้นที่ ๆ ใช้ จะเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐใช้วิธีนี้เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ก็ไม่ได้ผล

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง