ผบ.ตร. ระบุ ตำรวจหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต 1 นาย ช่วงสลายการชุมนุมวันอาทิตย์

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.03.01
กรุงเทพฯ
ผบ.ตร. ระบุ ตำรวจหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต 1 นาย ช่วงสลายการชุมนุมวันอาทิตย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจราจลง้างไกยิง ขณะเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ระหว่างเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังบ้านพักของนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในกรุงเทพฯ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
เอเอฟพี

ในวันจันทร์นี้ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยืนยัน เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเสียชีวิต 1 นาย จากอาการหัวใจล้มเหลว ในขณะปฏิบัติหน้าที่สลายการการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม “Restart Democracy – ประชาชนสร้างตัว” หรือ REDEM ซึ่งนัดชุมนุมที่หน้าบ้านพักของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในพื้นที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และกระบองสลายผู้ชุมนุม

การชุมนุมในวันอาทิตย์ กลุ่ม REDEM นัดประชาชนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเวลา 15.00 น. ก่อนเดินเท้าไปยังถนนวิภาวดี เพื่อชุมนุมที่หน้า กรมทหารราบที่ 1 ในเวลา 17.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้กั้นทางเข้ากรมทหารราบที่ 1 ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ และลวดหนามหีบเพลง ประชาชนกว่า 1 พันคน พยายามใช้รถเครื่องเสียงปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. จำกัดอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ขับไล่ทหารออกจากการเมือง และ 3. ลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หลังจากมีการปะทะคารม และเผชิญหน้ากัน ในเวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ใช้กระบอง ปืนยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำ เพื่อสลายผู้ชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมมีการใช้ก้อนหิน ขวดน้ำ และสิ่งของขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ ระหว่างการชุลมุน มีเสียงดังคล้ายประทัดเกิดขึ้นหลายครั้ง การกระทบกระทั่งเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา หน้าโรงพยาบาลทหารผ่านศึก หน้าประตูทางเจ้ากรมทหารราบที่ 1 และหน้าสโมสรทหารบก กระทั่งเวลาประมาณ 22.00 น. จึงมีการยุติการชุมนุม

พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวแก่สื่อมวลชนที่โรงพยาบาลตำรวจ หลังเข้าเยี่ยมเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมว่า ผู้ชุมนุมมีเจตนาใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้กำลังเพื่อหยุดสถานการณ์

“วันนี้ ที่นอนอยู่ที่นี่ (โรงพยาบาล) 25 คน ที่ออกไปแล้วสอง เสียชีวิตอีกหนึ่ง รวม 28 ราย เรื่องการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังยืนยันหลักการเดิม ต้องอยู่ที่กฎหมายแล้วก็สถานการณ์ในแต่ละห้วงเวลา ซึ่งไม่เหมือนกัน เราก็พยายามหาความสมดุลย์ระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับเรื่องของอาจจะทำให้เกิดความรุนแรง จริง ๆ ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่อง ตำรวจไม่เคยสนับสนุนเรื่องการใช้กำลัง หรือการใช้ความรุนแรง แต่เมื่อจำเป็นก็ต้องบังคับ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม กล่าวแสดงความเสียใจ กรณี ร.ต.อ.วิวัฒน์ สินเสริฐ อายุ 47 ปี สังกัดสถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลา ซึ่งไปปฎิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนในเหตุการณ์การชุมนุม หน้ากรมทหารราบที่ 1 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดอาการหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

“นายกรัฐมนตรีรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับบัญชาทุกระดับดูแลสวัสดิการตามระเบียบทางราชการอย่างเต็มที่ และให้กำลังใจไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิต ที่สำคัญจะต้องใส่ใจเรื่องสภาพความพร้อมของร่างกายและจิตใจก่อนปฏิบัติหน้าที่ด้วย”

ขณะที่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามสถานการณ์ และใช้อาวุธที่ไม่รุนแรงถึงชีวิต

“ระหว่างการชุมนุมก็มีส่วนนึงชุมนุมโดยสงบ ทางสื่อมวลชนก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างดี แต่ก็มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งพยายามใช้ความรุนแรงและยั่วยุให้เกิดความรุนแรง… วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์แบบที่ไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิต และก็ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ เพียงแต่ผู้ใช้ใช้ตามสถานการณ์ การใช้กระสุนยางก็ใช้ตามความจำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เมื่อใช้เสร็จคนหยุด ก็หยุดใช้ เป็นการทำตามสถานการณ์ เจตนาก็คงต้องการจะระงับเหตุให้เร็วที่สุด และแยกผู้ก่อเหตุออกจากกลุ่มผู้ชุมนุม” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าว

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ เปิดเผยว่า ตำรวจสามารถจับกุมผู้ชุมนุมได้ 22 คน โดยแจ้งข้อหาประกอบด้วย 1. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2. พ. ร. บ. โรคติดต่อฯ 3. พ.ร.บ. ควบคุมโฆษณาฯ 4. กฎหมายอาญามาตรา 138 5. กฎหมายอาญามาตรา 296 6. กฎหมายอาญามาตรา 358 7. กฎหมายอาญามาตรา 217

ในวันเดียวกันเมื่อเวลา 12.30 น. ศูนย์เอราวัณ สรุปข้อมูลผู้เจ็บจากการสลายการชุมนุมวันอาทิตย์ว่า มีผู้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล 37 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 27 ราย โดยในนั้น มีเจ้าหน้าที่ซึ่งเสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลว 1 ราย และประชาชน 10 ราย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าว่า “มีการรุกเข้ามาในพื้นที่ของตำรวจ รุกเข้ามาในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่หวงห้าม และมีการใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฉะนั้น ก็ต้องมีการใช้มาตรการตามมาตรฐานสากลออกไป ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ จะอยู่กันอย่างไรประเทศชาติบ้านเมือง ก็ขอให้นึกถึงบ้านเมืองเป็นหลัก สื่อต่าง ๆ ขอร้อง ทำยังไงบ้านเมืองจะมีความสงบ เคารพกฎหมาย”

ขณะที่ นายปิยรัฐ ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกลายเป็นคู่ขัดแย้งของประชาชน

“ตอนนี้ตำรวจกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุมแล้ว มันชัดเจนว่า ในหลายครั้งหากไม่มีการเข้ามาสลายการชุมนุม ก็จะไม่มีความรุนแรงอะไรเกิดขึ้น... เหตุการณ์เมื่อวาน เหตุเกิดจุดแรกบริเวณหน้าสโมสรกองทัพบก จุดนั้นไม่มีการยั่วยุ ผู้ชุมนุมอยู่กันโดยสงบ ผมอยู่จุดนั้นผมเห็นเหตุการณ์ตลอด ตำรวจเคลื่อนเข้ามาทำร้ายผุ้ชุมนุม” นายปิยรัฐ กล่าวผ่านโทรศัพท์

ในวันจันทร์นี้ นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ผู้ชุมนุม 22 คน ปัจจุบัน บางส่วนถูกควบคุมอยู่ที่ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาคที่ 1 (บก.ตชด. ภาค 1)

“ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมทั้งหมด 22 คน จำนวน 18 คน ที่ ค่าย ตชด. ถูกตั้งข้อหา 6 ข้อหา ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย ร่วมกันมั่วสุม 10 คน ขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน และอื่น ๆ

เจ้าหน้าที่อธิบายพฤติการณ์ความผิดว่า ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงปาระเบิดปิงปองและประทัดยักษ์ใส่ ส่วนเจ้าหน้าที่มีเพียงโล่บังป้องกันตัว เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายนาย เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย ต่อมาเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแล้ว ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก จึงต้องจับกุม” นายนรเศรษฐ์ ระบุ

สำหรับเยาวชน 4 ราย ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้กล่าวว่า ได้ให้ประกันตัวทั้งสี่คนโดยใช้หลักประกันเป็นเงินสดคนละ 15,000 บาท

ศาลไม่ปล่อยตัวชั่วคราวสี่แกนนำราษฎร

ขณะเดียวกัน สำหรับการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ซึ่งถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุม ในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง และฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และอื่น ๆ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 นายนรเศรษฐ์ ได้เปิดเผยว่า ศาลอุทธรณ์ได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลทั้ง 4 ราย

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในระหว่างพิจารณามาแล้ว อีกทั้งเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย” หนังสือจากศาลอุทธรณ์ ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง