รัฐไม่ได้ปกป้องเสรีภาพคนต่างศาสนา-ชาติพันธุ์ ตามรัฐธรรมนูญ

แม้ว่ารัฐธรรมนูญในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะให้ความเท่าเทียมกันทางศาสนา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์เสมอไปกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวเมื่อวันพุธขณะที่เผยแพร่ รายงานว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนานานาชาติ ประจำปี 2563

นายแอนโทนี บลิงเคนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงาน 2,397 หน้าที่ครอบคลุม 200 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ

“เสรีภาพทางศาสนาก็เหมือนกับสิทธิมนุษยชนทุกคนมีสิทธิจะได้รับในทุกที่ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใด มีความเชื่ออะไรหรือไม่เชื่ออะไรก็ตาม” นายบลิงเคนกล่าวกับผู้สื่อข่าว

“เสรีภาพทางศาสนาไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่เว้นแต่จะมีการเคารพสิทธิมนุษยชนและเมื่อรัฐบาลละเมิดสิทธิของประชาชนในความเชื่อและการนับถืออย่างเสรีก็จะมีความเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อมนุษยชาติ”

ในประเทศไทย รัฐธรรมนูญได้รับรองกลุ่มศาสนา 5 กลุ่ม อย่างเป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ โดย “ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติด้วยเหตุความเชื่อทางศาสนา” และ “ปกป้องเสรีภาพในการถือศาสนา ตราบเท่าที่การปฏิบัติตามเสรีภาพในการถือศาสนานั้นไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ”

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานีนราธิวาสยะลาและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ยังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเนือง ๆ โดยกลุ่มก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนมุสลิมมาเลย์ ที่นับว่ามีกองกำลังที่ใหญ่ที่สุด คือ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ เกิดเหตุโจมตีชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ตามรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฯ ในช่วงปีนี้อย่างน้อย 116 ราย ในจำนวนนี้เป็นมุสลิม 83 ราย ชาวพุทธ 29 ราย และราษฎรอีก 4 ราย ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางศาสนา

ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบยังคงเกิดขึ้น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนมายาวนาน โดยที่อัตลักษณ์ทางศาสนาและทางชาติพันธุ์ มีส่วนสัมพันธ์ใกล้เคียงกับปัญหาดังกล่าว

เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอข้อมูลการจัดตั้งกลุ่มของนักศึกษามุสลิมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หลังจากชาวมุสลิมมาเลย์ 3 คน จากจังหวัดนราธิวาสถูกจับกุมด้วยเหตุเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ระเบิดหลายครั้งระหว่างการประชุมรัฐมนตรีสมาคมประชาชาติอาเซียน ที่กรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ซึ่งการร้องขอดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงในกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ทำให้เจ้าหน้าที่ล้มเลิกการร้องขอข้อมูลดังกล่าว

ชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงแสดงความคับข้องใจ เนื่องจากรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเลือกปฏิบัติ และเห็นว่าระบบศาลยุติธรรมขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่เพียงพอ รายงานฯ ระบุ

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ทางการยังจับกุมและกักตัวผู้อพยพที่ไม่มีตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร รวมไปถึงผู้ลี้ภัยบางรายที่ลงทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และผู้แสวงหาที่พักพิง เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาในปีก่อน ๆ โดยรัฐบาลมักจะให้เหตุผลว่าการจับกุมเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลจากการถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และผู้ที่ถูกกักตัวมาจากหลากหลายกลุ่มศาสนา

ในบางกรณี ผู้ลี้ภัยที่ UNHCR รับรองสถานะ ที่รวมทั้งผู้ที่หลบหนีจากการถูกกดขี่ข่มเหงทางศาสนา รายงานว่าตนพักอยู่ที่สถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในสภาพแออัดเป็นเวลานานหลายปี

สื่อและองค์กรนอกภาครัฐรายงานในระหว่างปีว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์หลายสิบคนที่หลบหนีมาจากประเทศจีน ยังคงพำนักอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวทั่วประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ถูกกักตัวมานานกว่า 5 ปี รายงานฯ กล่าว

ปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเห็นชอบให้ใช้กลไกการคัดกรองแบบใหม่ ซึ่งคุ้มครองบุคคลที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าเป็น “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” ไม่ให้ถูกส่งกลับประเทศเป็นการชั่วคราว UNHCR และองค์กรนอกภาครัฐบางแห่งพอใจกับข้อบังคับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บางองค์กรแสดงความกังวลว่ากระบวนการคัดกรองนี้อาจถูกแทรกแซงทางการเมืองได้

รายงานยังระบุว่า ด้านเอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในประเด็นเสรีภาพทางศาสนานานาชาติ ได้พบกับผู้นำทางศาสนาและประชาสังคมของชาวพุทธ มุสลิม และคาทอลิก เพื่อหารือถึงโอกาสและความท้าทายในการทำให้มีการยอมรับกันระหว่างความเชื่อและมีเสรีภาพทางศาสนาในประเทศมากขึ้น

รัฐบาลสหรัฐฯ ประมาณการ เมื่อกลางปี 2562 ว่า ประชากรทั้งหมดในประเทศไทยมีจำนวน 68.8 ล้านคน จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุด เมื่อปี 2553 ร้อยละ 93 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธ ส่วนอีกร้อยละ 5 เป็นชาวมุสลิม

กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้ เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งแห่งประเทศไทยได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก และใช้บังคับกับชาวมุสลิมใน “จังหวัดชายแดนภาคใต้” รายงานดังกล่าวระบุ

โดยอิสลาม เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในจังหวัดเหล่านี้มีเชื้อสายมาเลย์ แต่ประชากรมุสลิมทั่วประเทศมีหลายเชื้อชาติ ซึ่งรวมทั้งลูกหลานของผู้อพยพจากเอเชียใต้ จีน กัมพูชา และอินโดนีเซีย รวมทั้งเชื้อสายไทยด้วย จากข้อมูลของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ชาวมุสลิมร้อยละ 99 นับถือนิกายสุหนี่