นักวิชาการ-อดีตทูตชี้ไทยไม่ควรเกรงใจรัสเซีย

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.04.08
เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
นักวิชาการ-อดีตทูตชี้ไทยไม่ควรเกรงใจรัสเซีย คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงผลโหวตในการระงับสมาชิกภาพรัสเซีย ในการประชุมพิเศษฉุกเฉินของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 7 เมษายน 2565
รอยเตอร์

นักวิชาการ และอดีตนักการทูตกล่าวถึงการตัดสินใจของรัฐบาล หลังไทยงดออกเสียงในเวทีสหประชาชาติ เรื่องการระงับสมาชิกภาพรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ว่า ประเทศไทยกำลังพยายามเป็นกลาง แต่ไทยก็ไม่ควรเกรงใจรัสเซีย

สืบเนื่องจากในประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ได้มีการลงคะแนนเสียงเพื่อระงับประเทศรัสเซียจากการเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า รัสเซียละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจากการนำกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

ในการลงคะแนนเสียงนั้น 93 ประเทศ มีมติเห็นด้วยกับระงับรัสเซีย ส่วน 24 ประเทศมีมติไม่เห็นด้วย ขณะที่ 58 ประเทศงดออกเสียง ซึ่งหนึ่งในประเทศที่งดออกเสียง มีไทยรวมอยู่ด้วย ด้านรัสเซียเองนอกจากลงมติคัดค้านเสียงส่วนใหญ่แล้ว ยังได้ลาออกจากคณะมนตรีสิทธิฯ ด้วย

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ และรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้กับเบนาร์นิวส์

“การงดออกเสียงของไทยเป็นอะไรที่เข้าใจได้ เพราะไทยมีรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ซึ่งการโหวตก็สะท้อนวิธีคิดของรัฐบาลได้ แต่มันเป็นการออกเสียงที่ตลก และไม่ใช่การรักษาผลประโยชน์ของประเทศ เพราะไทยกับรัสเซียมีผลประโยชน์ร่วมกันไม่มาก ไทยจึงไม่ควรเกรงใจรัสเซีย"

"กรณีนี้ รัสเซียทำผิดชัดเจน และการบุกยูเครนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ซึ่งผมคิดว่า หากไทยเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยก็ควรยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ ไม่ควรต้องคิดมากเรื่องนี้ และควรโหวตถอนรัสเซียเหมือนประเทศส่วนใหญ่” ​​นายรัศม์ กล่าว

ด้าน นายเนียง ลิน นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าการที่ประเทศกัมพูชา มาเลเซีย อินโดนิเซีย และสิงคโปร์ งดออกเสียงเช่นเดียวกับไทยแสดงให้เห็นว่าประเทศในอาเซียนมีความกังวลเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ

“หากมองอย่างผิวเผิน การไม่ออกเสียงครั้งนี้ อาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง คือไม่ไปอยู่ในความขัดแย้ง แต่ในสายตาชาวโลก อาจมองว่า การไม่ออกเสียงคือ การเหยียบเรือสองแคม ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าเรื่องไหนถูกหรือผิด อาเซียนอาจจะกังวลเรื่องจีน ซึ่งคล้ายจะหนุนหลังรัสเซียอยู่กลาย ๆ” นายเนียง กล่าว

ต่อท่าทีของรัฐบาลไทย นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงชี้แจงว่า ไทยเป็นห่วงสถานการณ์ในยูเครน และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเหมาะสมมาโดยตลอด แต่การตัดสินใจลงมติใด ๆ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งไทยก็หวังว่าสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

“ไทยงดออกเสียงในข้อมตินี้ เนื่องจากไทยให้ความสำคัญกับระบอบพหุภาคี ที่มีแนวทางการดำเนินการที่โปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และทุกฝ่ายมีส่วนร่วม กับการตัดสินใจระงับสมาชิกภาพของรัฐสมาชิกในองค์กรสหประชาชาติ จะต้องดำเนินการตามกระบวนการที่พิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานของหลักการ ข้อเท็จจริง… ไทยสนับสนุนการเรียกร้องของสหประชาชาติให้มีกรรมาธิการที่ตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อความโปร่งใสเป็นธรรม และรอบด้านโดยเร็วที่สุด”​ นายธานี ระบุ

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ประกาศปฏิบัติการทางทหารในยูเครน โดยมีการนำทหารและอาวุธสงครามเข้าโจมตีหลายเมืองในยูเครน ซึ่งชนวนของการสู้รบครั้งนี้ สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกเชื่อว่า เกิดจากการที่ยูเครนพยายามใกล้ชิดองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ที่รัสเซียเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และเมื่อยูเครนไม่ยอมเปลี่ยนท่าที รัสเซียจึงเริ่มโจมตี จนทำให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

หลังจากที่รัสเซียได้นำกำลังทหารบุกเข้าไปในยูเครน นานาชาติได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหยุดซื้อเชื้อเพลิงจากรัสเซีย, ยกเลิกเที่ยวบินเข้าไปในรัสเซีย รวมถึงยุติการทำธุรกรรมทางการเงินกับรัสเซีย ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ไทยก็เป็นหนึ่งใน 141 ประเทศ ของสมัชชาสหประชาชาติที่ร่วมประณามการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน อย่างไรก็ตาม ในการลงมติล่าสุด ไทยได้เลือกที่จะงดออกเสียง เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอย่าง บราซิล อินเดีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย รวมทั้ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่ประเทศ เช่น จีน ลาว เวียดนาม อิหร่าน คองโก หรือเอธิโอเปีย เลือกที่จะไม่เห็นด้วยกับมติเสียงส่วนใหญ่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง