ไทย-ซาอุดีอาระเบียตกลงปรับความสัมพันธ์ หลัง 30 กว่าปีแห่งความบาดหมาง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.01.26
กรุงเทพฯ
ไทย-ซาอุดีอาระเบียตกลงปรับความสัมพันธ์ หลัง 30 กว่าปีแห่งความบาดหมาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ที่พระราชวังอัลยามามาฮ์ วันที่ 25 มกราคม 2565
(สำนักนายกรัฐมนตรี)

ประเทศไทยและซาอุดีอาระเบียตกลงร่วมกันที่จะแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตและปรับระดับความสัมพันธ์ทางทูตสู่ภาวะปกติ ตามคำแถลงร่วมเมื่อวันพุธ ซึ่งนักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในเชิงเศรษฐกิจ และทำให้ซาอุดีอาระเบียได้พันธมิตรใหม่ที่ไม่ใช่มุสลิม

ในแถลงการณ์ร่วมที่กระทรวงการต่างประเทศไทยเผยแพร่ในวันพุธ (26 มกราคม) นี้ รัฐบาลสองประเทศ “คำนึงถึงจิตวิญญาณของความร่วมมือและความตั้งใจร่วมกันเพื่อฟื้นฟูมิตรภาพและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองราชอาณาจักร” หลังจากมีความบาดหมางจากการที่แรงงานไทยขโมยเพชรบลูไดมอนด์จากพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด เมื่อกว่า 30 ปีก่อน

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันเกิดขึ้นในระหว่างการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะเป็นเวลาสองวันเมื่อวันอังคารนี้ ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (His Majesty King Salman bin Abdulaziz Al Saud) และมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้ให้การต้อนรับ

“ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์ ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามในหลายระดับของทั้งสองฝ่ายที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจและความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกัน” แถลงการณ์ร่วมระบุ

“ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกับขั้นตอนสำคัญต่าง ๆ ที่จะดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวงของทั้งสองประเทศในอนาคตอันใกล้ และการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี การติดต่อประสานงานอย่างเต็มที่จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้าเพื่อหารือความร่วมมือทวิภาคีในสาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญ”

ด้าน นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้เข้าเฝ้า และหารือกับ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ในวันอังคาร โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ของรัฐบาลตลอด 6 ปีที่ผ่านมา และเป็นการเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งแรกในรอบ 30 ปีของผู้นำไทย ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามแก้ไขข้อขัดแย้งในอดีต

“ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับซาอุดีอาระเบีย แล้วก็แสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ระหว่างปี 2532 และ 2533 ท่าน (พล.อ.ประยุทธ์) ก็ได้ยืนยันว่าไทยก็ได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้วในการสะสางทุกกรณี ถ้ามีประเด็นอื่นใด หรือหลักฐานอื่นใด ฝ่ายไทยก็พร้อมที่จะพิจารณา” นายธานี กล่าว

นายธานี ระบุว่า ทั้งสองประเทศจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต และจะมีการพิจารณาหาผู้ที่เหมาะสมจะทำหน้าที่เอกอัครราชทูตไทยเพื่อไปทำหน้าที่ ณ กรุงริยาด ขณะที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียก็จะได้มีการพิจารณาส่งเอกอัครราชทูตมาประจำที่ กรุงเทพฯ เช่นกัน โดยประเด็นความร่วมมือสำคัญที่ทั้งสองประเทศเจรจานั้น คือ ด้านพลังงาน การค้า และแรงงาน

ซาอุดีอาระเบียลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และยกเลิกการจ้างแรงงานไทย เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2532 นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งทำงานอยู่ในพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด ได้ขโมยทรัพย์สินของราชวงศ์ ซึ่งรวมถึง “บลูไดมอนด์” กลับมายังประเทศไทย หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบีย ที่ติดตามหาเครื่องอัญมณีที่ถูกขโมยถูกสังหารในประเทศไทยถึง 4 ราย และนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับพระราชวังซาอุดีอาระเบียที่มาสืบหาข้อมูลในไทยหายตัวไปอย่างลึกลับอีก 1 ราย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้

ในการติดตามเครื่องอัญมณีนั้น ไทยได้ทำการส่งคืนทรัพย์สินที่ถูกขโมยมาให้กับราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย แต่กว่าครึ่งกลับเป็นของปลอม และไม่มีบลูไดมอนด์ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถตามหาเพชรดังกล่าวได้สำเร็จ

ซาอุฯ เปิดรับแรงงานอีกครั้ง

ก่อนเกิดเหตุ มีคนไทยทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบียกว่า 3 แสนคน ปัจจุบัน เหลือเพียง 1,345 คน จากข้อมูลล่าสุดในเดือนธันวาคม 2564 ของกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าในการเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ ได้หารือร่วมกับนายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานฝีมือ 8 ล้านคน โดยไทยหวังจะส่งแรงงานไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย และพยายามจะลงนามความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศให้ได้ภายใน 2 เดือน

“ซาอุดีอาระเบียประสงค์ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่… ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ฯ ของซาอุดีฯ ที่เปิดโอกาสให้คนไทยได้กลับเข้ามาทำงานในซาอุดีฯ อีกครั้ง” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

นักวิชาการ : ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์ไทยเพื่อพึ่งสหรัฐฯ ให้น้อยลง

นายฮานีฟ สาลาม นักวิจัยโครงการพหุวัฒนธรรมทางศาสนา ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าการเชิญนายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าซาอุดีอาระเบียกำลังปรับตัวสู่โลกสมัยใหม่ และก้าวข้ามความขัดแย้งในอดีต

“ซาอุฯ มีความพยายามที่จะลดการพึ่งพิงสหรัฐฯ หลังจากมีปัญหากันในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การพึ่งพาตัวเองอาจทำให้สถาบันฯ ของซาอุฯ รู้สึกไม่มั่นคง จึงพยายามที่จะสานสัมพันธ์กับนานาประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ซาอุฯ ให้ความสำคัญกับประเทศที่เคยถูกละเลย และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งบุญสหรัฐฯ” นายฮานีฟ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ขณะเดียวกันก็พยายามคานอำนาจกับประเทศมุสลิมด้วยกัน จะเห็นได้จากการพยายามให้ทุนการศึกษาแก่คนมุสลิมในประเทศที่ไม่ได้มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งไทยเองก็ได้รับทุนปีละหลายพันคน”

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง